ถ้าไม่รู้ชัดจริงๆ ยังสงสัยอยู่ ก็ยังยึดถือสภาพนั้นว่าเป็นตัวตน

 
สารธรรม
วันที่  7 ก.ย. 2565
หมายเลข  43728
อ่าน  277

. ที่ว่าเจริญสติปัฏฐานนั้น ขณะรูปปรากฏ นามรู้ ตัวเราสามารถจะอธิบายได้หรือไม่

สุ. อธิบายหรือรู้ ผู้ที่มีสติรู้ได้ เพราะในขณะนั้นสติระลึกสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วปัญญาพิจารณาลักษณะนั้นก่อนที่จะรู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้หรือว่าไม่ใช่สภาพรู้ เพราะเหตุว่าขณะนี้มีทั้งนามและรูปปรากฏทั้งสองอย่าง ทางตา ก็มีทั้งนามและรูป ทางหู ก็มีทั้งนามและรูป ถ้าได้กลิ่นทางจมูก ก็มีทั้งนามทั้งรูป ถ้าทางลิ้นกำลังรู้รส ก็มีทั้งนามทั้งรูป จะมีแต่รสปรากฏโดยที่ไม่รู้รสไม่ได้ ทางกายก็เหมือนกัน เวลาที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง ไหวปรากฏ ก็จะต้องมีนามที่รู้ ลักษณะที่เย็นหรือร้อน อ่อน ไหว เคร่ง ตึงนั้นด้วย

เพราะฉะนั้น เวลาที่มีสติระลึกรู้ที่ลักษณะหนึ่งลักษณะใด ปัญญาจึงต้องพิจารณาให้รู้ชัดว่า สภาพนั้นเป็นสภาพรู้หรือว่าไม่ใช่สภาพรู้ เพื่อละความที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เพราะเหตุว่าถ้าไม่รู้ชัดจริงๆ ยังสงสัยอยู่ ก็ยังยึดถือสภาพนั้นว่าเป็นตัวตน การที่จะหมดความเห็นผิดยึดถือว่าเป็นตัวตนได้จะต้องมีปัญญาที่รู้ชัดจริงๆ ถ้าพิจารณารูป ก็รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ แล้วแต่ลักษณะของรูปนั้น อย่าปนกันระหว่างสภาพรู้กับสภาพที่ไม่รู้ ซึ่งจะขาดปัญญาไม่ได้เลย ต้องพิจารณาให้รู้ชัด จึงจะชื่อว่าเป็นการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่แค่รู้สึกตัวเท่านั้น เพียงรู้สึกตัวไม่พอ แต่ต้องพิจารณามากขึ้นด้วย

. แล้วต่อไปจะพิจารณาอย่างไร

สุ. ปัญญาที่จะรู้นี้ รู้ชัดในลักษณะเพียง ๒ อย่าง คือ ลักษณะที่เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง กับสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้อีกอย่างหนึ่ง ๒ อย่างเท่านั้นเอง ไม่ว่าในขณะไหนก็ตาม ถ้าจะคิดนึกต่อจากที่เย็นบ้าง ร้อนบ้าง ก็มีสติระลึกได้ รู้ว่าที่คิดนั้นก็เป็นสภาพรู้ คือ สภาพคิดเท่านั้นเอง เพราะรูปคิดไม่ได้

. (ไม่ได้ยิน)

สุ. ก็ไม่เป็นไร เพราะเหตุว่าปัจจุบันธรรมนี้ปรากฏเพียงนิดเดียวแล้วก็หมดไป แต่เยื่อใยความที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตนต่างหากที่พยายามจะย้อนกลับไปกลับมา ขณะใดที่มีสติระลึกได้ รู้ลักษณะของรูปใด ทั้งสติและรูปนั้นก็ดับ แล้วเวลาที่ลักษณะอื่นปรากฏ สติอีกขณะหนึ่งก็เกิดรู้ลักษณะของรูปนั้น หรือว่ารู้ลักษณะของนามต่อไป

ข้อสำคัญคือ จะต้องเข้าใจลักษณะของสติว่า ระลึกเมื่อไรก็ได้ จะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อย่าใฝ่หาหรืออย่าพอใจที่จะไปดูสิ่งที่ไม่ปกติ เพราะเหตุว่าสิ่งที่เกิดดับก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกตินั่นเอง

เสียงที่ปรากฏให้รู้ทางหูเมื่อสักครู่นี้ เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็ดับ อย่าไปหวังอย่างอื่นเลย ถ้าจะรู้ความเกิดดับ ก็รู้ความเกิดดับของเห็น ของได้ยิน ของได้กลิ่น ของสี ของเสียง ของกลิ่น ของรส ของเย็น ร้อน อ่อน แข็งตามปกติธรรมดานี่เอง และก็เป็นการละคลายความต้องการของท่านด้วย เพราะเหตุว่าถ้าไม่รู้อย่างนี้ ก็ต้องการจะไปดู ต้องการสงบ แต่ปัญญาไม่ได้ละความไม่รู้ในขณะที่เห็น ที่ได้ยินตามปกติเลย แล้วการที่จะรู้จักกาย เวทนา จิต ธรรม ตามปกติที่เป็นตัวเองจริงๆ ดีหรือไม่ดี จิตของเราจะให้คนอื่นรู้ดีไหม หรือว่าเราควรจะรู้ของเราเอง

ขณะใดเป็นโลภะมากหรือน้อยทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ ขณะใดเป็นความไม่แช่มชื่น เป็นโทสะ จะให้คนอื่นรู้ หรือว่าเราเองควรจะเป็นผู้รู้จิตนั้น เพราะเหตุว่าถ้าลักษณะของจิตอย่างนั้นเกิดขึ้นแล้วระลึกได้ เป็นการละความไม่รู้ เป็นการละความที่เคยยึดถือสภาพนั้นว่าเป็นตัวตนเพราะเหตุว่าโลภะก็ดับ โทสะก็ดับ ผู้ที่เจริญสติระลึกได้ตามปกติธรรมดา ไม่ว่ากำลังหวีผม กำลังใส่รองเท้า กำลังทำงาน กำลังใส่น้ำตาล น้ำปลา ท่านจะเห็นจริงๆ เท่านั้นเอง จะใส่เพราะพอใจในรส ก็หมดแล้ว ได้ยินอีกแล้ว เห็นอีกแล้ว พิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ จะไม่หวั่นไหว แม้ในโลภะหรือโทสะที่เกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัยนั้น ท่านก็ไม่ได้ยึดถือว่าเป็นตัวตน เพราะเคยสะสมมาอย่างนั้นแล้วก็หมด ถ้าพิจารณาอย่างนี้ ก็รู้จักตัวเองมากขึ้น และจะรู้ว่าเป็นแต่เพียงนามและรูปเท่านั้นเองจริงๆ แต่ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ก็ไม่มีโอกาสละความไม่รู้ที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตนได้

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของการระลึกได้เนืองๆ บ่อยๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะละความต้องการสิ่งอื่นที่ยังไม่เกิด ยังไม่ปรากฏ


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 36


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ