อุบาสกชาวสักกชนบท

 
สารธรรม
วันที่  7 ก.ย. 2565
หมายเลข  43734
อ่าน  277

อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต สักกสูตร

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับที่พระวิหารนิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ สักกชนบท อุบาสกชาวสักกชนบทเป็นอันมากได้ไปเฝ้าในวันอุโบสถ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

ดูกร อุบาสกชาวสักกชนบททั้งหลาย ท่านทั้งหลายย่อมรักษาอุโบสถ อันประกอบด้วยองค์ ๘ แลหรือ

อุบาสกชาวสักกชนบทเหล่านั้นกราบทูลว่า บางคราวย่อมรักษา บางคราว ไม่ได้รักษา

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่เป็นลาภของท่านทั้งหลายเสียแล้ว เพราะเมื่อชีวิตมีภัยเพราะความโศก เพราะความตายอยู่อย่างนี้ บางคราวก็รักษาอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ บางคราวก็ไม่ได้รักษา

ดูกร อุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษในโลกนี้พึงยังทรัพย์กึ่งกหาปณะให้เกิดขึ้นทุกๆ วันด้วยการงานอันชอบ โดยไม่แตะต้องอกุศลเลย สมควรจะกล่าวได้หรือไม่ว่า เป็นบุรุษฉลาดสมบูรณ์ด้วยความหมั่น

อุบาสกชาวสักกะกราบทูลว่า สมควรกล่าวได้อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

พึงยังทรัพย์ ๑ กหาปณะ ๒ กหาปณะ ๓ กหาปณะ ๔ กหาปณะ ๕ กหาปณะ ๖ กหาปณะ ๗-๘-๙-๑๐-๒๐-๓๐-๔๐-๕๐-๑๐๐ กหาปณะ ให้เกิดขึ้นทุกๆ วัน เก็บทรัพย์ที่ตนได้แล้วๆ ไว้ เป็นผู้มีชีวิต ๑๐๐ ปี จะพึงประสบกองโภคสมบัติเป็นอันมากบ้างหรือหนอ

อุบาสกชาวสักกะกราบทูลว่า พึงเป็นอย่างนั้นได้ พระพุทธเจ้าข้า

แทนที่จะเพียงกึ่งกหาปณะทุกๆ วัน ก็พึงยังกหาปณะ ๒ กหาปณะ ๓ กหาปณะ ให้มากขึ้นไปจนกระทั่งถึง ๑๐๐ กหาปณะ ให้เกิดขึ้นทุกวันๆ แล้วเก็บทรัพย์ที่ตนได้แล้วๆ ไว้ เป็นผู้มีชีวิตร้อยปี จะพึงประสบกองโภคสมบัติเป็นอันมาก บ้างหรือหนอ

ซึ่งทุกท่านก็คงจะตอบเหมือนอุบาสกชาวสักกะคือว่า สมควรกล่าวได้อย่าง นั้น พึงเป็นอย่างนั้นได้

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร อุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะพึงเสวยความสุขโดยส่วนเดียวอยู่ ๑ คืน ๑ วัน หรือกึ่งวัน อันมีโภคสมบัติเป็นเหตุ มีโภคสมบัติเป็นแดนเกิด มีโภคสมบัติเป็นที่ตั้งบ้างหรือหนอ

ท่านผู้ฟังจะตอบว่าอย่างไร ลองคิดดูว่าจะเหมือนกับอุบาสกชาวสักกะตอบไหม ขอให้ฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคอีกครั้งหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร อุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะพึงเสวยความสุขโดยส่วนเดียวอยู่ ๑ คืน ๑ วัน หรือกึ่งวัน อันมีโภคสมบัติเป็นเหตุ มีโภคสมบัติเป็นแดนเกิด มีโภคสมบัติเป็นที่ตั้ง บ้างหรือหนอ

เป็นผู้มีโภคสมบัติที่ได้เก็บไว้แล้ว โดยการสะสมกหาปณะ กึ่งกหาปณะถึง ๑๐๐ กหาปณะ แล้วก็มีชีวิตอยู่ถึง ๑๐๐ ปี เป็นผู้ที่ประสบกองโภคสมบัติ แต่ว่าบุรุษนั้นจะพึงเสวยความสุขโดยส่วนเดียว มีแต่ความสุขเท่านั้นตลอด ๑ คืน ๑ วัน หรือกึ่งวัน อันมีโภคสมบัติเป็นเหตุ มีโภคสมบัติเป็นแดนเกิด มีโภคสมบัติเป็นที่ตั้ง ได้ไหม

อุบาสกชาวสักกะกราบทูลว่า มิได้เป็นอย่างนั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า

ใครจะมีความสุข ถึงแม้จะมีโภคสมบัติมากมาย แต่ว่าจะมีความสุขโดยส่วนเดียว หมายความว่าไม่มีความทุกข์เลย ๑ คืน ๑ วัน หรือกึ่งวัน หิวไหม มีทุกข์เวทนาบ้างไหม เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีโภคสมบัติมาก แต่ที่จะให้ผู้นั้นเสวยความสุขโดยส่วนเดียวอยู่ ๑ คืน ๑ วัน หรือกึ่งวัน เป็นไปไม่ได้ ซึ่งอุบาสกชาวสักกะก็ได้กราบทูลว่า มิได้เป็นอย่างนั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร

ซึ่งอุบาสกชาวสักกะก็ได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะกามทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง เป็นของว่างเปล่า เป็นของหลอกลวง เป็นของมีความทำลายไปเป็นธรรมดา

เมื่อยังพอใจในกาม โภคสมบัติทั้งหลายก็ต้องเป็นทุกข์ เพราะกามซึ่งไม่เที่ยง เป็นของว่างเปล่า เป็นของหลอกลวง เป็นของที่มีความทำลายไปเป็นธรรมดา

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ส่วนสาวกของเราในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอนอยู่ ๑๐ ปี พึงเป็นผู้เสวยสุขโดยส่วนเดียวตลอด ๑๐๐ ปี ก็มี ๑๐,๐๐๐ ปี ก็มี ๑๐๐,๐๐๐ ปี ก็มี และสาวกของเรานั้นแล พึงเป็นสกทาคามี ก็มี เป็นอนาคามี ก็มี เป็นโสดาบันปฏิบัติไม่ผิด ก็มี

ดูกร อุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ๑๐ ปีจงยกไว้ สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอนตลอด ๙ ปี ๘ ปี ๗ ปี ๖ ปี ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี พึงเป็นผู้เสวยสุขโดยส่วนเดียว ตลอด ๑๐๐ ปี ก็มี ๑๐,๐๐๐ ปี ก็มี ๑๐๐,๐๐๐ ปี ก็มี และสาวกของเรานั้นแล พึงเป็นสกทาคามี ก็มี พึงเป็นอนาคามี ก็มี เป็นโสดาบันปฏิบัติไม่ผิด ก็มี

ดูกร อุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ๑ ปีจงยกไว้ สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอนตลอด ๑๐ เดือน ๙ เดือน ๘ เดือน ๗ เดือน ๖ เดือน ๕ เดือน ๔ เดือน ๓ เดือน ๒ เดือน ๑ เดือน กึ่งเดือน พึงเป็นสกทาคามี ก็มี พึงเป็นอนาคามี ก็มี เป็นโสดาบัน ปฏิบัติไม่ผิด ก็มี

ดูกร อุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย กึ่งเดือนจงยกไว้ สาวกของเราในธรรม วินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอน ตลอด ๑๐ คืน ๑๐ วัน ๙ คืน ๙ วัน ๘ คืน ๘ วัน ๗ คืน ๗ วัน ๖ คืน ๖ วัน ๕ คืน ๕ วัน ๔ คืน ๔ วัน ๓ คืน ๓ วัน ๒ คืน ๒ วัน ๑ คืน ๑ วัน พึงเป็นสกทาคามี ก็มี พึงเป็นอนาคามี ก็มี เป็นโสดาบัน ปฏิบัติไม่ผิด ก็มี

ดูกร อุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ไม่เป็นลาภของท่านทั้งหลายเสียแล้ว ท่านทั้งหลายไม่ได้ดีแล้ว ที่ท่านทั้งหลายเมื่อชีวิตมีภัย เพราะความโศก มีภัยเพราะความตายอย่างนี้ บางคราวก็รักษาอุโบสถอันมีองค์ ๘ บางครั้งก็ไม่รักษา

ซึ่งอุบาสกชาวสักกะก็ได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เหล่านี้ จักรักษาอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ถ. พระสูตรนี้หมายความว่าอย่างไร

สุ. หมายความว่า การปฏิบัติตามที่พระผู้มีพระภาคพร่ำสอน และผู้เป็นสาวกปฏิบัติตาม ๑๐ ปี ๙ ปี ๘ ปี ไปจนกระทั่งถึง ๑ คืน ๑ วัน ก็สามารถจะเป็นพระสกทาคามี ก็มี พระอนาคามี ก็มี พระโสดาบันผู้ปฏิบัติไม่ผิด ก็มี เมื่อเป็นแล้วไม่มีทางตกไปสู่อบายภูมิ เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่เสวยสุข ๑๐๐ ปี ๑๐,๐๐๐ ปี ๑๐๐,๐๐๐ ปี แล้วแต่ภพภูมิที่จะไปสู่

. แต่ก็ยังเป็นทุกข์

สุ. ทุกข์โดยลักษณะไหน ไม่ใช่อย่างของปุถุชนเป็นแน่นอน คือ ปุถุชนทุกข์หลายอย่าง กายก็ทุกข์ ใจก็ทุกข์ กายก็หิว ยังจะทำใจให้เดือดร้อน เพิ่มทุกข์เข้าไปอีก โดยไม่จำเป็นเลย จะเจ็บไข้ได้ป่วย หรือจะเป็นอะไรก็ตามแต่ ก็ทุกข์อยู่แล้ว และใจก็ยังเป็นทุกข์เพิ่มเติมทับถมไปอีก เป็นผู้ที่มีความทุกข์มากมายหลายประการ แต่ว่าผู้ที่เป็นอริยบุคคลนั้น ท่านก็ละทุกข์ได้เป็นลำดับยิ่งขึ้นๆ เพราะฉะนั้น ความทุกข์ของท่านก็ลดน้อยลง ส่วนที่ท่านจะเสวยสุขโดยส่วนเดียว

. (ไม่ได้ยิน)

สุ. แล้วแต่พยัญชนะ คือ ถ้าพยัญชนะที่จะชี้ให้เห็นโทษของกามว่า ถึงแม้จะมีกาม บริบูรณ์พรั่งพร้อมสักเท่าไรก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ให้ความสุข ถ้ายังมีกิเลส

. (ไม่ได้ยิน)

สุ. ถ้าประพฤติปฏิบัติตามธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยไม่ประมาท จุดมุ่งหมายของพระสูตรนี้ก็คือ ให้เป็นผู้ไม่ประมาท ให้มีสติเจริญกุศลเนืองๆ และให้เป็นกิจวัตรเนืองนิจด้วย ตลอด ๑๐ ปี ๙ ปี ๘ ปี ๗ ปี ๖ ปี ใช้จำนวนสูงไว้ก่อน ให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่จะต้องใช้ความเพียรมาก ไม่เริ่มต้นด้วย ๑ วัน ๑ คืน ๒ วัน ๒ คืน แต่ว่า ๑๐ ปี แม้พระผู้มีพระภาคเอง ก็ทรงแสดงไว้ ลดลงมาจาก ๑๐ ปี เป็น ๙ ปี ๘ ปี ๗ ปี ๖ ปี ๕ ปี เรื่อยไป ตามกำลังของอินทรีย์ ของปัญญาที่ผู้นั้นได้อบรมมา


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 38


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ