สงบกับการเข้าไปเห็นความจริงนั้น อย่างไหนจะดีกว่ากัน

 
สารธรรม
วันที่  8 ก.ย. 2565
หมายเลข  43746
อ่าน  235

. สงบกับการเข้าไปเห็นความจริงนั้น อย่างไหนจะดีกว่ากัน

สุ. ท่านต้องการอย่างไหน คงจะตอบได้เอง สำหรับพุทธบริษัทที่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะเห็นว่า สติปัฏฐานกับชีวิตประจำวันแยกกันไม่ได้เลย แต่การเจริญสติปัฏฐานนั้นละเอียด ฟังเพียงครั้งเดียวคงจะเข้าใจแจ่มแจ้งไม่ได้ ถึงแม้พระผู้มีพระภาคเองก็ทรงแสดงธรรมถึง ๔๕ พรรษา เพื่ออุปการะพุทธบริษัทให้เจริญกุศลทุกขั้น ที่สำคัญที่สุดคือ เพื่อการเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน แล้วได้ฟังธรรมอุปการะให้เกิดศรัทธา ให้น้อมนำไปในการให้มีสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นได้ เพราะสติเป็นอนัตตา ต้องอาศัยการฟังธรรมเป็นประจำทุกวัน มิฉะนั้นแล้วชีวิตประจำวันย่อมมีปัจจัยให้แก่โลภะ ให้แก่โทสะ ให้แก่โมหะ แทนที่จะอุปการะแก่สติ ถ้าขณะใดฟังธรรมเนืองๆ บ่อยๆ แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ไม่ว่าพระองค์จะประทับ ณ ที่ใด พุทธศาสนิกชนก็ไปเฝ้าฟังพระธรรมเป็นเนืองนิจ

เพราะฉะนั้น การฟังธรรมจึงอุปการะแก่การประพฤติปฏิบัติธรรม ทั้งขัดเกลาจิตใจ มิฉะนั้นแล้ว ถึงท่านหวังจะเจริญสติ เข้าใจการเจริญสติพอสมควร แต่ขาดการฟังธรรมที่จะเป็นเหตุปัจจัยที่จะอุปการะให้สติเกิด หมกมุ่นไป เพลิดเพลินไป มีปัจจัยของโลภะ ของโทสะ ของโมหะแล้ว สติก็ไม่เกิด ความเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานและรู้ว่าอะไรเป็นสติปัฏฐานนั้นสำคัญที่สุด ชีวิตประจำวันทุกๆ ขณะนี้เป็นสติปัฏฐาน เมื่อฟังมากขึ้น ก็จะรู้ลักษณะของสติว่าไม่ใช่ลักษณะของสมาธิ

เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานกับการเจริญสมถภาวนาจึงต่างกัน เพราะเหตุว่า ลักษณะของสตินั้นเป็นสภาพที่ระลึกได้ เป็นคุณธรรม ส่วนสภาพของสมาธินั้น เป็นสภาพที่จิตตั้งมั่นในอารมณ์เดียว ซึ่งต่างกัน เคยมีท่านผู้ฟังที่เขียนจดหมายมาถามว่า เมื่อเป็นเวลาที่ว่างซึ่งเหมาะแก่การเจริญสมณธรรม ท่านใช้คำอย่างนั้น ก็เห็นแล้วว่า ท่านเข้าใจเฉพาะการเจริญสมาธิ ไม่ได้เข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน ท่านผู้นั้นนั่งขัดสมาธิเท้าขวาทับเท้าซ้าย แล้วก็มือขวาก็ทับมือซ้าย กำหนดลมหายใจเข้าออก เวลาที่กำหนดลมหายใจเข้าออกนั้น ก็สามารถที่จะรู้ลมหายใจเข้าออกนั้นได้เพียงชั่วขณะหนึ่ง แล้วจิตก็ตกไป แสดงว่า ท่านต้องการที่จะให้สติอยู่ที่ลมหายใจ เลือกอารมณ์ ไม่ใช่รู้ตั้งแต่ต้นว่า สติเป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ ถ้าได้ฟังบ่อยๆ ว่า เมื่อเห็นก็ควรจะระลึกได้ว่า กำลังเห็นนี้ก็เป็นสภาพรู้ หรือขณะที่กำลังได้ยิน ก็ระลึกได้รู้ว่า สภาพนี้เป็นสภาพรู้ทางหู ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่คิดนึก ไม่สุข ไม่ใช่ทุกข์ เป็นลักษณะของนามต่างๆ กัน แล้วสติเป็นอนัตตาจริงๆ จะเกิดเมื่อไรได้ทั้งนั้น ไม่มีกำหนดเวลาที่กะเกณฑ์ ไม่จดจ้องเฉพาะนามนั้น หรือรูปนั้นเท่านั้น


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 41


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ