ยังไม่เห็นประโยชน์ของการเจริญสติแบบนี้

 
สารธรรม
วันที่  8 ก.ย. 2565
หมายเลข  43753
อ่าน  245

ถ. อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า เวลาเจริญสติหมายถึงว่า เวลาโมโห พอเจริญสติก็ระงับความโมโห อันนี้มีประโยชน์ แต่บางอย่าง เช่น เวลาได้ยินเสียงอะไรก็เจริญสติว่า นี่คือเสียง ยังไม่เห็นประโยชน์ของการเจริญสติแบบนี้ ช่วยกรุณาอธิบาย

สุ. โดยมากทุกท่านต้องการผลอย่างรวดเร็ว คือ เวลาโกรธเกิดขึ้น ไม่ชอบเป็นอกุศล เป็นความไม่สบายใจ เพราะฉะนั้น ต้องการผลทันที คือ ให้โกรธในขณะนั้นหมดไป จึงคิดว่า การมีสติในขณะนั้นสามารถระงับความโกรธได้ทันทีที่สติเกิด เห็นคุณประโยชน์ของสติขั้นนั้น แต่ขอให้คิดอย่างนี้ว่า โกรธนี้ก็ห้ามไม่ได้ ถ้าจะมีสติเกิดขึ้นระงับยับยั้งก็เพียงชั่วขณะนั้น ภายหลังก็โกรธอีกแล้ว เมื่อไรหนอโกรธนี้จึงจะไม่เกิดอีกเลยได้

ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานนั้นเห็นโทษเห็นภัยของความโกรธ ไม่ใช่เฉพาะขณะที่กำลังโกรธ แต่ยังเห็นล่วงหน้าต่อไปอีกว่า ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ยังต้องโกรธ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะหมดโกรธได้ เป็นผู้ที่เย็นสนิท ไม่มีความเดือดร้อนใจเพราะความโกรธอีกนั้นจะต้องหมดกิเลสด้วยการเจริญปัญญา รู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพียงแค่มีสติระงับความโกรธได้เพียงชั่วคราว นี่คือความต่างกันของการระงับกิเลส กับการเจริญปัญญาเพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ถ้าผู้ใดยังไม่เห็นโทษของความไม่รู้ ที่ทำให้ยังต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีโกรธบ้าง มีความติดข้องต้องการบ้าง ก็ไม่อบรมเจริญปัญญาเพื่อละความไม่รู้ในลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริงนี้ได้ แต่ถ้าเห็นโทษ ก็เพียรอบรมเจริญปัญญาละกิเลสละเอียด ถ้าปัญญายังไม่รู้ชัด กิเลสไม่ดับหมดเป็นสมุจเฉท ก็ยังต้องเกิดอีกต่อไปในวัฏฏะ

ไม่ทราบว่าจะเห็นประโยชน์ของการเจริญปัญญาหรือยัง เพราะเหตุว่า ความไม่รู้ กับความรู้ อย่างไหนดีกว่ากัน ธรรมดาทั่วๆ ไป ความรู้ต้องดีกว่า เพราะฉะนั้น เวลาได้ยินแล้วรู้ถูกต้องตามความเป็นจริงในลักษณะของเสียง ในลักษณะของได้ยิน กับที่จะไม่รู้ อย่างไหนจะดีกว่ากัน ความรู้ดีกว่า และความรู้ชนิดนี้ จะทำให้ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีก ไม่ใช่หยุดไปเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

ถ. แต่ถ้ารู้ผิด

สุ. รู้ถูกก็ดี รู้ผิดก็ไม่ดี รู้ถูกตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏ รู้ผิดคือคิดเอาเอง ยึดถือว่าเป็นตัวตน ทั้งๆ ที่สภาพนั้นไม่ใช่ตัวตน


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 42


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ