สติปัฏฐานมี ๔ ไม่เจาะจงว่า ต้องเจริญเฉพาะสติปัฏฐานนั้น

 
สารธรรม
วันที่  8 ก.ย. 2565
หมายเลข  43762
อ่าน  282

ถ. (ไม่ได้ยิน)

สุ. ไม่ได้เจาะจง มหาสติปัฏฐานมี ๔ ทั้ง ๔ เป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่เจาะจง แล้วผู้ที่จะครอบงำขันธ์ อายตนะ ธาตุ และไตรภพทั้งหมดได้ เป็นผู้รู้ทุกข์ทุกอย่าง ไม่ใช่เฉพาะบางนามบางรูป เป็นผู้รู้ทุกข์ทุกอย่าง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งถามว่า ท่านพระองคุลีมาลเจริญสติปัฏฐานไหน ทำไมจึงถามว่าเจริญสติปัฏฐานไหน ในเมื่อสติปัฏฐานมี ๔ ท่านพระองคุลีมาลมีตาไหม มีหูไหม มีจมูกไหม มีกายไหม มีใจไหม แล้วทำไมจะให้ท่านพระองคุลีมาลเจริญเฉพาะสติปัฏฐานหนึ่งสติปัฏฐานใด เพราะเหตุว่าผู้ที่จะละได้ เป็นผู้ที่รู้ทุกข์ทุกอย่าง เพราะเหตุว่าสติปัฏฐานมี ๔ ระลึกได้ในขณะใด สติก็รู้สภาพของกาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรม หรือโดยย่อ นามและรูปที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง คือ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ท่านพระอานนท์ก็เหมือนกัน บางคนก็ได้ฟังพยัญชนะที่ว่า ท่านบรรลุอรหัตตมรรค อรหัตตผล ไม่ใช่ในอิริยาบถนั่ง นอน ยืน เดิน แต่เป็นระหว่างอิริยาบถนั่งกับนอน ก็เลยคิดว่า ท่านพระอานนท์นั้นเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหมือนเวลานี้ทุกคนกำลังนั่ง รูปทรงอยู่ในลักษณะอาการที่บัญญัติใช้คำว่า “นั่ง” แต่ว่าสติจะระลึกรู้นาม หรือรูปทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

สติปัฏฐานมี ๔ ไม่ได้เจาะจงว่า จะต้องเจริญเฉพาะสติปัฏฐานนั้น แต่ที่จะรู้ทั่วและละได้นั้น ต้องรู้หมดไม่สงสัย พระโสดาบันบุคคลละวิจิกิจฉานุสัยในลักษณะของนามและรูปทั้งปวง แต่ไม่ใช่หมายความว่า เมื่ออยู่ในอิริยาบถใด ก็คิดว่าท่านจะต้องเจริญอิริยาบถบรรพ หรือว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

การอยู่คนเดียวคงเกี่ยวเนื่องกับอาวาสปลิโพธ หรือท่านที่เคยเข้าใจว่า ถ้าไม่อยู่ผู้เดียวแล้ว เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ จะได้เข้าใจให้ถูกต้องว่า การที่มีปกติอยู่คนเดียวนั้น ไม่ใช่ครั้งคราว แต่ต้องเป็นปกติของผู้นั้นจริงๆ เช่น ท่านพระเถระ เป็นต้น ซึ่งพระภิกษุรูปอื่นก็เห็นว่า ท่านพระเถระนั้นเป็นผู้มีปกติเช่นนั้น ไม่เหมือนภิกษุอื่นๆ ซึ่งภิกษุอื่นๆ ก็เจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ไม่เจริญ แต่ถึงกระนั้นพระผู้มีพระภาคก็ยังทรงแสดงธรรมกับท่านพระเถระว่า การอยู่คนเดียวนั้นเป็นอันบริบูรณ์โดยพิสดารกว่าด้วยประการใด ไม่ใช่เพียงอยู่เฉยๆ แต่ว่าจะต้องรู้ว่า สิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็ละได้แล้ว สิ่งใดที่ยังไม่มาถึง สิ่งนั้นก็สละคืนได้แล้ว

ถ้าฟังพยัญชนะนี้ บางท่านอาจจะคิดว่า พระผู้มีพระภาคสั่งให้ท่านพระเถระละ อย่าไปติดไปข้อง สิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว ก็ให้ละเสีย สิ่งใดที่ยังมาไม่ถึง ก็สละคืนเสีย แต่ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดมีอำนาจให้ใครละความติดข้องได้เลย แต่พยัญชนะสั้นๆ นี้ ท่านก็ทำให้เข้าใจการเจริญปัญญา เพื่อละความที่เคยยึดถืออัตภาพในปัจจุบันนี้ด้วย


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 44


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ