การเจริญสมาธิ การอยู่ป่า และการเจริญสติปัฏฐาน

 
สารธรรม
วันที่  8 ก.ย. 2565
หมายเลข  43763
อ่าน  301

มีอีกสูตรหนึ่งซึ่งทำให้ได้พิจารณาเพิ่มเติมในการเจริญสมาธิ ในการอยู่ป่า และการเจริญสติปัฏฐาน

มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ โคลิสสานิสูตร มีข้อความว่า

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นภิกษุชื่อ โคลิสสานิ เป็นผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ คือ การอยู่ป่าเป็นวัตร มีมารยาทหยาบคาย มานั่งอยู่ท่ามกลางสงฆ์ด้วยกรณียกิจบางอย่าง

ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรปรารภโคลิสสานิภิกษุ จึงเรียกภิกษุทั้งหลายมา

มีข้อความที่ท่านพระสารีบุตรแสดงกับภิกษุทั้งหลายว่า

อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควรเป็นผู้มีความเคารพยำเกรงในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ เป็นผู้ไม่เคารพยำเกรงในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า จะเป็นประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่าแก่ท่านผู้นี้ ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า ผู้มีปัญญาดี ผู้ไม่แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง ผู้ละสิ่งทั้งปวงเสียได้ ผู้หลุดพ้นในเพราะนิพพาน เป็นที่สิ้นตัณหา ว่าเป็นผู้มีปกติอยู่คนเดียว ดังนี้

ประการที่ ๒ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควรเป็นผู้ฉลาดในที่นั่งด้วยดี ดังนี้ว่า

เราจะไม่นั่งเบียดภิกษุผู้เถระ และจะไม่ห้ามอาสนะภิกษุผู้นวกะ ถ้ามิฉะนั้น จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ไม่รู้จักธรรมแม้เพียงอภิสมาจาริกวัตร จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่าแก่ท่านผู้นี้ ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์ อยู่แต่ผู้เดียวเล่า

ประการที่ ๓ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรเข้าบ้านให้เช้านัก ไม่ควรกลับให้สายนัก ถ้ามิฉะนั้นก็จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นว่า จะมีประโยชน์อะไร ด้วยการอยู่เสรีในป่าแก่ท่านผู้นี้ ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า

ประการที่ ๔ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรเที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย ในเวลาก่อนภัตร ในเวลาหลังภัตร ถ้ามิฉะนั้น ก็จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า การเที่ยวไปเวลาวิกาล อันผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์นี้ ผู้อยู่เสรีในป่าแต่ผู้เดียว ทำไว้มากแน่

คือถ้าจะตำหนิแล้ว ย่อมตำหนิได้หลายอย่าง เป็นต้นว่า ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ การอยู่ป่าเป็นวัตร แล้วเที่ยวไปในตระกูลก่อนภัตร หลังภัตร คนอื่นก็ย่อมจะกล่าวได้ว่า เมื่อท่านอยู่ในป่า ก็คงจะเที่ยวไปในเวลาวิกาลเช่นนี้เป็นแน่

ประการที่ ๕ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรเป็นผู้คะนองกาย คะนองวาจา มิฉะนั้นก็จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นว่า การคะนองกาย คะนองวาจา อันท่านผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์นี้ ผู้อยู่เสรีในป่าแต่ผู้เดียว ทำไว้มากแน่

แสดงให้เห็นได้ว่า การอยู่ในป่าผู้เดียว ไม่มีใครรู้ว่าทำอะไรบ้าง ไม่ใช่ว่าอยู่ในป่า แล้วจะต้องสมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่หลงลืมสติ เจริญสมณธรรม เพราะเหตุว่าบางท่านอยู่ในป่าเป็นปกติวิสัยของท่าน แต่บางท่านก็อยู่ด้วยความเข้าใจผิด ด้วยความหลง ด้วยความไม่รู้ ด้วยความปรารถนาลามก คือต้องการให้ผู้อื่นสรรเสริญ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านแสดงกิริยาอาการเป็นผู้คะนองกาย คะนองวาจา ก็ย่อมเป็นทางที่จะให้ผู้อื่นติเตียนว่า เวลาที่ท่านอยู่ในป่าผู้เดียว ก็คงคะนองกาย คะนองวาจาอย่างนี้มากเป็นแน่

ประการที่ ๖ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรเป็นผู้ปากกล้า เจรจาเกลื่อนกล่น ถ้ามิฉะนั้นจะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า จะเป็นประโยชน์อะไร ด้วยการอยู่เสรีในป่าแก่ท่านผู้นี้ ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า

เพราะเหตุว่าการที่ท่านสมาทานธุดงค์ เพื่อการขัดเกลายิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าอยู่แล้วไม่ได้ขัดเกลาทั้งกาย ทั้งวาจา จะมีประโยชน์อะไรกับการที่ท่านอยู่เสรีผู้เดียวในป่า เพราะเหตุว่าจุดประสงค์ของการที่ท่านจะอยู่เสรีในป่าผู้เดียวนั้น ก็เพื่อการขัดเกลากิเลส แต่เมื่ออยู่แล้วไม่ขัดเกลา ยังเป็นผู้ปากกล้า เจรจาเกลื่อนกล่น ก็จะเป็นทางที่จะทำให้มีผู้ว่าท่านได้

ประการที่ ๗ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควรเป็นผู้ว่าง่าย มีกัลยาณมิตร ถ้าเป็นผู้ว่ายาก มีปาปมิตร ก็จะมีผู้ว่า จะเป็นประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่าแก่ท่านผู้นี้ ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์ อยู่แต่ผู้เดียวเล่า

ท่านชี้ให้เห็นประโยชน์ของการขัดเกลาว่า การที่จะอยู่ในป่า การรักษาธุดงค์นั้น เพื่อขัดเกลากิเลสทุกอย่าง แม้แต่การเป็นผู้ว่ายาก ก็จะต้องให้ลดน้อยลง เป็นผู้ว่าง่าย แม้แต่การที่เคยเป็นผู้มีมิตรชั่ว มีปาปมิตร ก็จะต้องละเว้น แล้วก็เปลี่ยนเป็นผู้ที่มีกัลยาณมิตร คือ มิตรดี มิฉะนั้นแล้ว การอยู่ในป่าจะมีประโยชน์อะไร ถ้าอยู่ในป่าแล้วก็เป็นผู้ที่ว่ายาก มีมิตรชั่ว ก็ยิ่งชั่วหรือว่าประพฤติผิดมากขึ้น ไม่มีประโยชน์เลยในการที่จะอยู่ป่า

ประการที่ ๘ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ถ้ามิฉะนั้นจะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า จะเป็นประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า

ประการที่ ๙ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ถ้าท่านไม่รู้ประมาณในโภชนะ ก็จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า จะเป็นประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า

ประการที่ ๑๐ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้ประกอบความเพียร เป็นเครื่องตื่นเนืองๆ ถ้ามิฉะนั้นก็จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า จะเป็นประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า

ประการที่ ๑๑ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้ปรารภความเพียร เพราะเหตุว่าถ้าเป็นผู้เกียจคร้าน ก็จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า จะเป็นประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า

ประการที่ ๑๒ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้มีสติตั้งมั่น ถ้าเป็นผู้มีสติฟั่นเฟือน ก็จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า จะเป็นประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า

ประการที่ ๑๓ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้มีจิตตั้งมั่น ถ้าเป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น ก็จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า จะเป็นประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า

ประการที่ ๑๔ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้มีปัญญา ถ้าเป็นผู้มีปัญญาทราม จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่าจะเป็นประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า

ไม่ใช่มีแต่สติ ไม่ใช่มีแต่จิตที่ตั้งมั่น แต่ต้องมีปัญญาด้วย จึงจะไม่มีผู้ใดว่า

ประการที่ ๑๕ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรทำความเพียรในอภิธรรม ในอภิวินัย เพราะถ้ามีผู้ถามปัญหาในอภิธรรม ในอภิวินัยแล้ว จะให้ความประสงค์ของเขาสำเร็จไม่ได้ ก็จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นว่า จะเป็นประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า

ประการที่ ๑๖ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรทำความเพียรในวิโมกข์อันละเอียด คือสมาบัติที่ล่วงรูปสมาบัติ เพราะถ้าถูกถามปัญหาในวิโมกข์อันละเอียด คือสมาบัติที่ล่วงรูปสมาบัติแล้ว ให้ความประสงค์ของผู้ถามให้สำเร็จไม่ได้ ก็จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า จะเป็นประโยชน์อะไร ด้วยการอยู่เสรีในป่า

จะเห็นได้ว่า ถ้าเจริญสติปัฏฐาน ไม่ได้สมาทานอรัญญิกธุดงค์แล้ว ก็คงจะไม่มีผู้ว่า ถ้าไม่สามารถที่จะตอบปัญหาในเรื่องวิโมกข์อันละเอียด คือ สมาบัติที่ล่วงรูปสมาบัติ เพราะเหตุว่าการอยู่ในป่านั้น ก็เพื่อประโยชน์ของสมถะ การเจริญสมาธิจนกระทั่งสามารถที่จะบรรลุอรูปฌาน มีความเพียรในวิโมกข์อันละเอียด คือสมาบัติที่ล่วงรูปสมาบัติ เพราะฉะนั้น เมื่อถูกผู้ใดถามถึงเรื่องนั้น ก็ย่อมสามารถที่จะตอบได้

ประการที่ ๑๗ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรทำความเพียรในอุตตริ- มนุสสธรรม เพราะถ้าถูกถามปัญหาในอุตตริมนุสสธรรม แล้วไม่ให้ความประสงค์ของเขาสำเร็จได้ ก็จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า จะเป็นประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า

เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ถามว่า

ดูกร ท่านพระสารีบุตรผู้มีอายุ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์เท่านั้นหรือ ที่ควรสมาทานธรรมเหล่านี้ประพฤติ หรือแม้ภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้าน ก็ควรสมาทานธรรมเหล่านี้ประพฤติ

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า

ดูกร โมคคัลลานะ แม้ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ยังควรสมาทานธรรมเหล่านี้ประพฤติ จะกล่าวไปใยถึงภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้านเล่า


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 45


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ