ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่าน ๕ ประการ

 
สารธรรม
วันที่  8 ก.ย. 2565
หมายเลข  43770
อ่าน  335

ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลาย มีข้อความดังนี้ว่า

ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการ คือ

กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑

กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๑

กล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือคำหยาบคาย ๑

กล่าวด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑

มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว ๑

ภิกษุพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาลามก เราจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์ เราจักมีเมตตาจิต ไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลกทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้

ภิกษุทั้งหลายพึงศึกษาด้วยอาการ ดังที่กล่าวมานี้แล

ชีวิตประจำวันเป็นอย่างนี้จริงๆ แม้แต่ชีวิตของภิกษุที่ละอาคารบ้านเรือนแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะหลีกหนีพ้นจากถ้อยคำต่างๆ วาจาต่างๆ เรื่องต่างๆ ได้ ไม่ใช่ว่าท่านเป็นภิกษุแล้ว จะไม่มีกิจที่จะต้องกระทำเกี่ยวข้องติดต่อที่ทำให้ได้รับฟังวาจาต่างๆ ถ้าดูในพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม ก็จะเห็นจิต เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง เป็นโมหะบ้าง มีเรื่องที่จะต้องเป็นไปเกี่ยวข้องได้รับฟังวาจาต่างๆ เพราะในเรื่องนี้ ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่าน ถึงแม้เป็นภิกษุแล้ว ก็ยังมีอยู่ถึง ๕ ประการ เพราะฉะนั้น สำหรับฆราวาสก็เป็นของธรรมดาที่ก็จะได้รับฟังวาจาอย่างนี้

พระผู้มีพระภาคตรัสอุปมาต่อไปว่า

เปรียบเหมือนบุรุษถือจอบและตระกร้ามา แล้วกล่าวว่า จะกระทำแผ่นดินอันใหญ่นี้ ไม่ให้เป็นแผ่นดิน เขาขุดโกยดินทิ้ง บ้วนน้ำลาย แล้วสำทับว่าอย่าเป็นแผ่นดิน อย่าเป็นแผ่นดินดังนี้ เขาจักทำแผ่นดินไม่ให้เป็นแผ่นดินไม่ได้ เขาจะต้องเหน็ดเหนื่อยเสียเวลาเปล่า

อีกอุปมาหนึ่ง

เปรียบเหมือนบุรุษถือเอาครั่งสีต่างๆ ไปเขียนรูปต่างๆ ในอากาศ ก็จะต้องเหน็ดเหนื่อยเสียเวลาเปล่าเช่นเดียวกัน

อีกอุปมาหนึ่ง

เปรียบเหมือนจุดคบหญ้า จะทำให้แม่น้ำคงคาร้อนจัด ซึ่งก็จะต้องเหน็ดเหนื่อยเสียเวลาเปล่า หรือว่าถ้าเป็นกระสอบหนังแมวที่ฟอกอ่อนนุ่มดังปุยนุ่นและสำลี ก็มีบุคคลหนึ่งที่คิดว่า จะตีกระสอบหนังแมวนั้นให้ดังก้อง บุคคลนั้นก็จะต้องเหน็ดเหนื่อยเสียเวลาเปล่า

ไม่มีประโยชน์เลย ถ้าใจของบุคคลผู้นั้นมั่นคง ไม่หวั่นไหวด้วยอำนาจของวาจาต่างๆ แล้ว บุคคลอื่นก็ไม่สามารถที่จะทำจิตของบุคคลที่มั่นคงนั้นให้หวั่นไหวได้

พระผู้มีพระภาคตรัสอุปมาว่า

แม้โจรเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ ถ้าภิกษุภิกษุณีรูปใด มีจิตคิดร้ายต่อโจรเหล่านั้น ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสให้ภิกษุใส่ใจถึงโอวาท อันเปรียบด้วยเลื่อยนี้เนืองนิจ จักเป็นประโยชน์และความสุข เพราะมองไม่เห็นทางแห่งถ้อยคำที่มีโทษน้อยหรือโทษมาก ที่จะอดกลั้นไม่ได้

นี่ก็เป็นเรื่องที่ว่า ถ้าจิตเป็นกุศลอยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นไปในทาน เป็นไปในศีล ย่อมอุปการะให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปได้ แต่ว่าวันหนึ่งๆ ทั้งๆ ที่ทราบลักษณะขณะที่มีสติ แล้วก็อาจจะทราบลักษณะที่หลงลืมสติ แต่สติก็เกิดน้อย เพราะเหตุว่าต้องอาศัยธรรมอื่นอุปการะให้สติเกิดมากขึ้น ด้วยการฟังธรรม ด้วยการเจริญกุศลทุกประการ แล้วก็จะเป็นปัจจัยให้สติมีการระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป ที่กำลังปรากฏตามปกติ


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 47


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ