1. ภวังคจิตเป็นกุศลหรืออกุศล 2. เจตนาเจตสิก มนสิการเจตสิก ชีวิตรินทรีย์เจตสิก จำเป็นอย่างไร

 
ucat97
วันที่  11 ก.ย. 2565
หมายเลข  43775
อ่าน  392

ขอกราบเรียนถาม 2 ข้อครับ

1. ภวังคจิตขณะที่หลับ ถ้าไม่ฝันเลย กับฝันเรื่องบุญหรือบาป ขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรืออกุศล หรือไม่เป็นทั้งกุศลหรืออกุศล หรือไม่อย่างไรครับ

2. เจตสิก 7 ดวงที่ต้องเกิดพร้อมจิตทุกครั้ง อยากทราบว่า เฉพาะเจตนาเจตสิก มนสิการเจตสิก ชีวิตรินทรีย์เจตสิก ทั้ง 3 ดวงนี้ มีความจำเป็นที่ต้องเกิดกับจิตทุกครั้งอย่างไร และถ้าไม่เกิดกับจิตจะมีผลต่อสภาพธรรมอย่างไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 11 ก.ย. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. ภวังคจิตขณะที่หลับ ถ้าไม่ฝันเลย กับฝันเรื่องบุญหรือบาป ขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรืออกุศล หรือไม่เป็นทั้งกุศลหรืออกุศล หรือไม่อย่างไรครับ

ภวังคจิต เป็นวิบากจิต ไม่ใช่ทั้งกุศลไม่ใช่ทั้งอกุศล ขณะที่หลับสนิท จิตเป็นภวังค์ จะไม่ฝันเลยในขณะที่หลับสนิท แต่ที่ฝัน ไม่ใช่ขณะที่หลับสนิท ฝัน ก็เป็นขณะจิตที่คิด ในประเด็นคำถาม ยากที่จะรู้ได้ว่า ฝันในขณะนั้น เป็นอกุศล หรือ กุศล แม้จะฝันเรื่องที่เป็นธรรม ก็ตาม แต่ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมแล้ว จะไม่เปลี่ยน เพราะถ้าเป็นกุศล ขณะนั้น จิตผ่องใส ไม่เป็นไปกับอกุศลใดๆ เลย ในทางตรงกันข้าม ถ้าเกิดติดข้องพอใจ หรือ ไม่พอใจ ขณะนั้น ย่อมเป็นอกุศล ซึ่งแน่นอนว่า ต้องปัญญาเท่านั้น ที่จะรู้ตรงตามความเป็นจริงได้

2. เจตสิก 7 ดวงที่ต้องเกิดพร้อมจิตทุกครั้ง อยากทราบว่า เฉพาะเจตนาเจตสิก มนสิการเจตสิก ชีวิตรินทรีย์เจตสิก ทั้ง 3 ดวงนี้ มีความจำเป็นที่ต้องเกิดกับจิตทุกครั้งอย่างไร และถ้าไม่เกิดกับจิตจะมีผลต่อสภาพธรรมอย่างไรครับ

ในขณะที่จิตแต่ละขณะเกิดขึ้น จะไม่ปราศจากเจตสิก ๗ ประเภทที่จะต้องเกิดกับจิตทุกขณะ ดังนั้น จิตทุกประเภทจะต้องมีเจตสิก ๗ ประเภทนี้เกิดร่วมด้วยเสมอ ได้แก่ ผัสสะ (สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์) เวทนา (ความรู้สึก) สัญญา (ความจำ) เจตนา (ความจงใจขวนขวาย) เอกัคคตา (ความตั้งมั่นในอารมณ์) ชีวิตินทรีย์ (สภาพธรรมที่เป็นในการรักษาสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกันให้ดำรงอยู่จนกว่าจะดับไป) มนสิการ (สภาพธรรมที่ใส่ใจในอารมณ์) เฉพาะจิต ๑๐ ประเภท ได้แก่ จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย กุศลวิบากและอกุศลวิบาก เท่านั้น ที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยที่สุด คือ มีเพียงเจตสิก ๗ ประเภทนี้เท่านั้นเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าเป็นจิตประเภทอื่นๆ ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่านี้ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ

ผู้ทรงตรัสรู้คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะไม่ผิด ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงเลย เจตนา เป็นสภาพธรรมที่ตั้งใจขวนขวายกระทำกิจหน้าที่ของตนตามประเภทของเจตนาและตามสภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน มนสิการ เป็นสภาพที่ใส่ใจในอารมณ์ ก็ย่อมเกื้อกูลให้จิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย คล้อยไปในอารมณ์นั้นๆ ด้วย และ ชีวิตินทริยเจตสิก ก็เป็นสภาพธรรมที่รักษาสภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน คือ จิตและเจตสิก ให้ดำรงอยู่จนกว่าจะดับไป ดังนั้น จิตแต่ขณะ จะไม่ปราศจากเจตสิกเหล่านี้เลย ไม่ใ่ช่เฉพาะ ๓ เจตสิกเท่านั้น แต่ทั้ง ๗ เจตสิกเลย จึงกำกับด้วยคำว่า สัพพจิตตสาธารณเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับจิตทุกประเภท ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ....

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ก.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ucat97
วันที่ 11 ก.ย. 2565

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ