พระสูตร ซึ่งอุปการะมากที่จะให้เห็นว่า อกุศลเป็นโทษมาก

 
สารธรรม
วันที่  11 ก.ย. 2565
หมายเลข  43779
อ่าน  283

มีพระสูตรๆ หนึ่ง ซึ่งอุปการะมากที่จะให้เห็นว่า อกุศลนั้นเป็นโทษมากเพียงไร

อังคุตตรนิกาย อัคคิขันธูปมสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จดำเนินไปสู่ทางไกล ได้ทอดพระเนตรเห็นไฟกองใหญ่ กำลังลุกรุ่งโรจน์โชติช่วงอยู่ในที่แห่งหนึ่ง จึงเสด็จแวะจากทาง ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ใกล้โคนไม้แห่งหนึ่ง

ครั้นแล้วก็ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า เห็นไฟกองใหญ่ที่กำลังลุกโชติช่วงหรือไม่ ซึ่งภิกษุเหล่านั้นก็กราบทูลว่า เห็น

นี่ทรงอนุเคราะห์สาวก ถึงแม้ว่าจะได้ผ่านสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งเป็นประโยชน์แก่การแสดงธรรม ก็ไม่ละโอกาสที่จะทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุ

พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลาย มีข้อความว่า

การเข้าไปนั่งนอนติดชิดสัมผัสกองไฟที่กำลังลุกโชติช่วงนั้น กับการเข้าไปนั่งนอนติดชิดสัมผัสพระราชธิดา บุตรสาวพราหมณ์ หรือบุตรสาวคฤหบดี ผู้มีฝ่ามือฝ่าเท้าอ่อนนุ่ม อย่างไหนจะประเสริฐกว่ากัน

ท่านคิดว่าพระภิกษุทั้งหลายในครั้งพุทธกาล ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคได้ฟังธรรมอยู่เนืองนิจจะตอบว่าอย่างไร

ท่านพระภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

การเข้าไปนั่ง นอนติดชิดสัมผัสพระราชธิดา บุตรสาวพราหมณ์ หรือบุตรสาวคฤหบดี ผู้มีฝ่ามือฝ่าเท้าอ่อนนุ่ม ประเสริฐกว่า การเข้าไปนั่ง นอนติดชิดสัมผัสกองไฟที่กำลังลุกโชติช่วงอยู่ เพราะเหตุว่าการเข้าไปนั่ง นอนติดชิดสัมผัสกองไฟที่กำลังลุกโชติช่วงอยู่นั้น เป็นทุกข์

คนธรรมดาเห็นแน่ชัดเจนใช่ไหม เข้าไปในกองไฟจะทุกข์หรือจะสุข ต้องทุกข์แน่นอน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

พระองค์ขอบอก ขอเตือนภิกษุทั้งหลายว่า การที่บุคคลผู้ทุศีล มีธรรมลามก มีความประพฤติสกปรก น่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญาณว่า เป็นสมณะไม่ใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญาณว่า ประพฤติพรหมจรรย์ เน่าใน มีความกำหนัดแรงกล้า เป็นดังหยากเยื่อ เข้าไปนั่งนอนติดชิดสัมผัสพระราชธิดา บุตรสาวพราหมณ์ หรือบุตรสาวคฤหบดี จะประเสริฐอย่างไร การเข้าไปนั่งนอนติดชิดสัมผัสกองไฟที่กำลังลุกโชติช่วงอยู่นี้ ดีกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะถึงแม้ว่าอาจจะตาย หรือเกือบจะตายเพราะกองไฟนั้นเป็นเหตุ ก็จะไม่เกิดในอบายภูมิ เพราะกองไฟนั้นเป็นเหตุ

ส่วนการที่บุคคลเข้าไปนั่งนอนติดชิดสัมผัสพระราชธิดา บุตรสาวพราหมณ์ หรือบุตรสาวคฤหบดี ผู้มีฝ่ามือฝ่าเท้าอันอ่อนนุ่มนั้น เมื่อตายไปย่อมเกิดในนรก

มีเชื้อของโลภะ โทสะ โมหะที่จะให้ไปสู่อบายภูมิ ขณะใดก็ตามที่เห็น ที่ได้ยิน แล้วพอใจบ้าง มีโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้างนั้น ถ้าไม่เจริญสติ ไม่รู้ลักษณะของนามและรูปในวันหนึ่งให้บ่อยขึ้น เนืองขึ้น ชัดเจนขึ้นแล้ว เชื้อที่จะให้ไปสู่อบายภูมินี้ ไม่มีทางที่จะหมดไปได้เลย ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน

เพื่อทรงอนุเคราะห์ พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

การที่บุรุษมีกำลังเอาเชือกหนังอันเหนียวแน่นพันแข้งทั้ง ๒ ข้าง แล้วชักไปมา เชือกหนังพึงบาดผิว บาดผิวแล้ว พึงบาดหนัง บาดหนังแล้ว พึงบาดเนื้อ บาดเนื้อแล้ว พึงตัดเส้นเอ็น ตัดเส้นเอ็นแล้ว พึงตัดกระดูก ตัดกระดูกแล้วหยุดอยู่ จรดเยื่อในกระดูก กับการยินดีการกราบไหว้แห่งกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล ไหนจะดีกว่ากัน

เพียงยินดีการกราบไหว้ของกษัตริย์มหาศาล เป็นเชื้อที่จะให้ไปอบายภูมิหรือเปล่า เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามเปรียบเทียบให้เห็นว่า การที่บุรุษมีกำลังเอาเชือกหนังอันเหนียวแน่นพันแข้งทั้ง ๒ ข้าง แล้วชักไปมา เชือกหนังพึงบาดผิว บาดผิวแล้วพึงบาดหนัง บาดหนังแล้วพึงบาดเนื้อ บาดเนื้อแล้วพึงตัดเส้นเอ็น ตัดเส้นเอ็นแล้วพึงตัดกระดูก ตัดกระดูกแล้วหยุดอยู่จรดเยื่อในกระดูก จะเป็นความทุกข์สักแค่ไหน เวลาในนรกไม่ใช่วันเดียว นานแสนนานทีเดียว แล้วเชื้อยังมีอยู่ก็น่ากลัวจริงๆ ซึ่งพระภิกษุจะกราบทูลตอบว่าอย่างไร

อย่างเดิม คือว่าการยินดีการกราบไหว้แห่งกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล ดีกว่าการที่จะถูกบุรุษผู้มีกำลัง เอาเชือกหนังอันเหนียวแน่น พันแข้งทั้ง ๒ ข้างแล้วชักไปมา ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสเช่นเดียวกันว่า

พระองค์ขอบอกขอเตือนภิกษุทั้งหลายว่า การที่บุรุษมีกำลังเอาเชือกหนังอันเหนียวแน่นกระทำเช่นนั้น ก็ยังดีกว่าการยินดีการกราบไหว้ แห่งกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล เพราะเหตุว่าการที่บุคคลผู้ทุศีล มีธรรมลามก มีความประพฤติสกปรก ยินดีการกราบไหว้ของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาลนั้นจะดีอย่างไร เพราะเหตุว่า เมื่อตายไปย่อมเกิดในนรก

แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

การที่บุรุษมีกำลัง เอาหอกอันคมชะโลมน้ำมัน พุ่งใส่กลางอก กับการยินดีอัญชลีกรรมของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล ไหนจะดีกว่ากัน

ภิกษุจะเปลี่ยนคำตอบไหม ในอัคคิขันธูปมสูตร มีภิกษุจำนวนมากที่ตามเสด็จ

แล้วก็ภิกษุเหล่านั้นก็กราบทูลเช่นเดิมว่า การยินดีอัญชลีกรรม ของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาลนั้นดีกว่า

ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสว่า พระองค์ขอบอกขอเตือน ว่าการที่บุคคลผู้ทุศีลมีธรรมลามก ไม่ใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญาณว่าประพฤติพรหมจรรย์นั้น ยินดีในอัญชลีกรรมของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาลนั้น ก็ไม่มีประโยชน์เลย เพราะเหตุว่า เมื่อตายไปย่อมเกิดในนรก

แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

การที่บุรุษมีกำลัง เอาแผ่นเหล็กแดง ไฟกำลังลุกโชติช่วง นาบกายตัว กับการบริโภคจีวรที่เขาถวายด้วยศรัทธา ของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล ไหนจะดีกว่ากัน

ภิกษุก็ตอบเช่นเดิม แล้วพระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า พระองค์ขอบอก ขอเตือนเช่นเดิม พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

การที่บุรุษมีกำลัง เอาขอเหล็กแดง ไฟกำลังลุกโชติช่วง เกี่ยวปากอ้าไว้ แล้วกรอกก้อนเหล็กแดง ไฟกำลังลุกโชติช่วง เข้าไปในปาก ก้อนเหล็กแดงนั้น จะพึงไหม้ริมฝีปาก ไหม้ปาก ไหม้ลิ้น ไหม้คอ ไหม้อก ไหม้เรื่อยไปถึงไส้ใหญ่ ไส้น้อย แล้วออกทางทวารเบื้องต่ำ กับการบริโภคบิณฑบาตที่เขาถวายด้วยศรัทธาของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล ไหนจะดีกว่ากัน

ซึ่งพระภิกษุก็ทูลตอบอย่างเดิม แล้วพระผู้มีพระภาคก็ประทานโอวาทอย่างเดิม แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

การที่บุรุษผู้มีกำลัง จับที่ศีรษะหรือที่คอ แล้วให้นั่งทับนอนทับ บนเตียงเหล็ก หรือตั่งเหล็กแดง ไฟกำลังลุกโชติช่วง กับการบริโภคเตียงตั่ง ที่เขาถวายด้วยศรัทธาของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล ไหนจะดีกว่ากัน

นี่ก็เป็นเรื่องของเตียงตั่งที่บุคคลถวาย ซึ่งภิกษุก็กราบทูลเช่นเดิม พระผู้มีพระภาคก็ประทานโอวาทเช่นเดิม แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

การที่บุรุษมีกำลัง จับมัด เอาเท้าขึ้น เอาหัวลง โยนลงในหม้อเหล็กแดง ไฟกำลังลุกโชติช่วง ผู้นั้นถูกไฟเผาเดือดดุจฟองน้ำ ในหม้อเหล็กแดงนั้น บางครั้งลอยขึ้นข้างบน บางครั้งจมลงข้างล่าง บางครั้งลอยไปขวางๆ กับการบริโภควิหารที่เขาถวายด้วยศรัทธา ของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล ไหนจะดีกว่ากัน

ภิกษุก็กราบทูลอย่างเดิม พระผู้มีพระภาคก็ประทานโอวาทอย่างเดิม

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

การที่บุรุษมีกำลัง จับมัด เอาเท้าขึ้น เอาหัวลง โยนลงในหม้อเหล็กแดง ไฟกำลังลุกโชติช่วง ผู้นั้นถูกไฟเผาเดือดดุจฟองน้ำ ในหม้อเหล็กแดงนั้น บางครั้งลอยขึ้นข้างบน บางครั้งจมลงข้างล่าง บางครั้งลอยไปขวางๆ กับการบริโภควิหารที่เขาถวายด้วยศรัทธา ของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาล ไหนจะดีกว่ากัน

ภิกษุก็กราบทูลอย่างเดิม พระผู้มีพระภาคก็ประทานโอวาทอย่างเดิม แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร ของชนเหล่าใด ปัจจัยของชนเหล่านั้น จักมีผลมาก มีอานิสงส์มาก และการบรรพชาของเราทั้งหลาย จักไม่เป็นหมัน มีผล มีกำไร

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล อนึ่ง เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ตน ควรแท้ทีเดียวที่จะให้ประโยชน์นั้นสำเร็จด้วยความไม่ประมาท เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ผู้อื่น ก็ควรแท้ทีเดียว ที่จะให้ประโยชน์นั้นสำเร็จด้วยความไม่ประมาท หรือเมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ทั้งสองก็ควรแท้ทีเดียวที่จะให้ประโยชน์ทั้งสองนั้นสำเร็จด้วยความไม่ประมาท

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยกรณภาษิตนี้จบลงแล้ว และเมื่อกำลังตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ โลหิตร้อนพุ่งออกจากปากของภิกษุ ๖๐ รูป ภิกษุ ๖๐ รูปลาสิกขา สึกมาเป็นคฤหัสถ์ ด้วยกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ทำได้ยาก ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ทำได้แสนยาก

อีก ๖๐ รูป จิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น

เป็นพระมหากรุณาหรือเปล่าที่ตรัสถึงโทษภัยต่างๆ ซึ่งยังไม่ใช่นรก เปรียบเทียบให้ฟัง แต่ให้ทราบว่า ถ้ายังไม่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคลแล้วก็แล้วแต่กรรมที่ได้ทำไว้แล้วนั้นจะทำให้ไปเกิดในที่ใด ถ้าเป็นอกุศลกรรม ก็ไปอบายภูมิแน่นอน นอกจากท่านที่เจริญสติ แล้วก็บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคล

ในประโยคที่ว่า เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ตน ควรแท้ทีเดียวที่จะให้ประโยชน์นั้นสำเร็จด้วยความไม่ประมาท

ประโยชน์ของตนคืออะไร คือการที่จะไม่ต้องไปในอบายภูมิ ด้วยการเจริญปัญญา เจริญสติ หรือว่าเมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ผู้อื่น ก็ควรแท้ทีเดียวที่ให้ประโยชน์นั้นสำเร็จด้วยความไม่ประมาท

ควรจะชักชวนให้ผู้อื่นเห็นประโยชน์ของการเจริญสติ แล้วก็ให้ผู้นั้นได้มีโอกาสเจริญสติด้วยความไม่ประมาทด้วย

เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ทั้งสอง คือทั้งประโยชน์ของตนเองด้วย ประโยชน์ผู้อื่นด้วย ก็ควรแท้ทีเดียว ที่จะให้ประโยชน์ทั้งสองนั้นสำเร็จด้วยความไม่ประมาท

ในการเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเข้าใจถูกต้องจะไม่มีปัญหา จะละความต้องการผลมาก โดยพยายามไปบังคับสติบ้าง หรือว่าเป็นการเจริญสติปัฏฐานแบบสมาธิบ้าง เพราะเหตุว่าปัญญาเป็นการละ ถ้าเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานถูกต้องจะละตั้งแต่ในเบื้องต้น ไม่คิดหวังต้องการที่จะไปสร้าง หรือว่าไปบังคับให้เป็นสมาธิ จดจ้องเพื่อจะให้รู้ลักษณะของนามและรูป การเกิดดับ บรรลุอริยสัจธรรม แต่เป็นการละความต้องการที่ไม่สมควรแก่เหตุไม่สมควรแก่ผล ด้วยการมีสติ ไม่หลงลืมสติ แล้วมีปัญญาพิจารณารู้ลักษณะของนามและรูปเพิ่มมากขึ้น จึงจะละความไม่รู้ได้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 48

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 49


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ