คณปลิโพธ หมายความถึง ผู้ที่ห่วงหมู่คณะ

 
สารธรรม
วันที่  11 ก.ย. 2565
หมายเลข  43791
อ่าน  332

ในคราวก่อนนั้นได้กล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎกที่เกี่ยวกับอาวาสปลิโพธ กุลปลิโพธ ลาภปลิโพธ สำหรับในวันนี้ก็จะกล่าวถึงประการที่ ๔ คณปลิโพธ หมายความถึง ผู้ที่ห่วงหมู่คณะ ในการศึกษา ในการกล่าวสอนแนะนำ เป็นการงานหรือเป็นกิจที่จะต้องกระทำต่อหมู่คณะ ซึ่งหมู่คณะสำหรับพระภิกษุท่านก็ได้แก่ คณะที่เรียนพระสูตรบ้าง คณะที่เรียนพระอภิธรรมบ้าง ถ้าท่านต้องการความสงบ คือ การเจริญสมาธิ ท่านก็จำเป็นที่จะต้องละทิ้งให้หมู่คณะนั้น แยกย้ายไปเรียนตามสะดวกของแต่ละบุคคล

เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นความต่างกันของการเจริญสมาธิกับการเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเป็นการเจริญสติปัฏฐาน ก็สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปได้ ไม่ว่าจะเป็นในขณะที่กำลังแสดงธรรมหรือในขณะที่ฟังธรรม แต่ถ้าเป็นการเจริญสมาธิ ก็จำเป็นที่จะต้องปลีกตัวเพื่อที่จะให้จิตใจสงบ

คณปลิโพธ ความกังวลในการกล่าวสอนแนะนำหมู่คณะ ซึ่งไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนา เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีการกล่าวสอนแนะนำหมู่คณะ การบรรลุมรรคผลย่อมมีไม่ได้เลย

ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังมิได้ปรินิพพานนั้น พระองค์ได้ทรงพร่ำสอนแนะนำหมู่คณะ พร้อมกันนั้นในพระวินัยบัญญัติก็ได้วางไว้ด้วยว่า จะต้องมีการกล่าวสอนแนะนำหมู่คณะซึ่งเป็นพระภิกษุอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นการช่วยเทียบเคียงทำให้เข้าใจการเจริญสติปัฏฐานถูกต้องขึ้น เพราะเหตุว่าในการฟังธรรมนั้นจะต้องสอบทานเทียบเคียงทั้งพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรมด้วย ดังข้อความใน มหาปเทส ที่ว่า

เมื่อได้ฟังธรรมแล้ว ก็ต้องไตร่ตรอง สอบสวน เทียบเคียงพระสูตรกับพระวินัย

เพื่อที่จะได้เห็นว่า พระวินัยนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ได้ไตร่ตรอง เทียบเคียง สอบทานการเจริญสติปัฏฐานให้ถูกต้องขึ้น ก็จะได้กล่าวถึงพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ อุทานคาถา ซึ่งมีข้อความว่า

พระวินัยมีประโยชน์มาก คือ นำมาซึ่งความสุขแก่พวกภิกษุผู้มีศีลอันเป็นที่รัก ข่มพวกที่มีความปรารถนาลามก ยกย่องพวกที่มีความละอาย และทรงไว้ซึ่งพระศาสนา เป็นอารมณ์ของพระสัพพัญญูชินเจ้า ไม่เป็นวิสัยของพวกอื่น เป็นแดนเกษมอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ดีแล้ว ไม่มีข้อที่น่าสงสัย ภิกษุผู้ฉลาดในขันธกะ วินัย บริวารและมาติกา ปฏิบัติด้วยปัญญาอันหลักแหลม ชื่อว่าทำประโยชน์อันควร

ชนใดไม่รู้จักโค ชนนั้นย่อมรักษาฝูงโคไม่ได้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น เมื่อไม่รู้จักศีล ไฉนจะพึงรักษาสังวรไว้ได้ เมื่อพระสุตตันตะและพระอภิธรรมลบเลือนไปก่อน แต่พระวินัยยังไม่เสื่อมสูญ พระศาสนาชื่อว่า ยังตั้งอยู่ต่อไป

แสดงให้เห็นว่า พระธรรมวินัยทั้งหมด พุทธบริษัทควรที่จะศึกษาและสอบทานด้วยความสนใจ เพราะเหตุว่าแม้ในอุทานคาถานี้ก็ยังมีข้อความว่า พระวินัยมีประโยชน์ คือ นำมาซึ่งความสุขแก่พวกภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก เป็นอารมณ์ของพระสัพพัญญูชินเจ้า ไม่เป็นวิสัยของพวกอื่น

ถ้าจะดูข้อประพฤติปฏิบัติในครั้งพุทธกาล หรือว่าในครั้งนี้ก็ได้ จะเห็นได้ว่า ความเข้าใจว่าการประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นเช่นนี้จะทำให้ได้บรรลุถึงความสิ้นกิเลสนั้น ถ้าไม่ใช่เป็นไปตามพระวินัยบัญญัติแล้ว ก็อาจจะบัญญัติความสงัดเพราะจีวรบ้าง เพราะบิณฑบาตบ้าง เพราะเสนาสนะบ้าง แต่ในพระวินัยปิฎกนั้น การประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงบัญญัติพระวินัยไว้นั้น พระวินัยเป็นอารมณ์ของพระสัพพัญญูชินเจ้า ไม่เป็นวิสัยของพวกอื่น เพราะเหตุว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ใช่ว่าจะต้องทรมานตัวเหมือนอย่างพวกลัทธิอื่นข้อปฏิบัติอื่น และยังมีข้อความต่อไปว่า

ภิกษุผู้ฉลาดในขันธกะ วินัย บริวาร และ มาติกา ปฏิบัติด้วยปัญญาอันหลักแหลม

ไม่ใช่ว่ามีแต่วินัยแล้วก็ไม่มีการประพฤติปฏิบัติ เป็นผู้ฉลาดในวินัยด้วยและก็ปฏิบัติด้วยปัญญาอันหลักแหลม ชื่อว่าผู้ทำประโยชน์อันควร นอกจากนั้นยังมีข้อความว่า

ชนใดไม่รู้จักโค ชนนั้นย่อมรักษาฝูงโคไม่ได้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น เมื่อไม่รู้จักศีล ไฉนจะพึงรักษาสังวรไว้ได้

ถ้าไม่ทราบว่าสิ่งใดควรประพฤติ ก็ย่อมจะทำไม่ถูก ปัญญาก็ไม่เกิด การสังวรที่เป็นศีลสังวร นอกจากจะสังวรในปาติโมกข์แล้ว ก็ยังจะต้องมีอินทริยสังวรด้วย แต่ถ้าไม่เข้าใจเรื่องของสติ ไม่รู้จักการเจริญสติ อินทริยสังวรก็ย่อมจะเป็นไปไม่ได้ ก็คงจะมีแต่เพียงปาติโมกข์สังวรเท่านั้น

ข้อความที่ว่า

เมื่อพระสุตตันตะและพระอภิธรรมลบเลือนไปก่อน แต่พระวินัยยังไม่เสื่อมสูญ พระศาสนาชื่อว่ายังตั้งอยู่ต่อไป

ที่ว่าพระสุตตันตะและพระอภิธรรมลบเลือนไปก่อนนั้น ก็น่าที่จะได้ทราบว่า พระสุตตันตะและพระอภิธรรมจะลบเลือนไปนั้นโดยวิธีใด

ถ้าไม่มีการศึกษาพระสูตรเลย และก็ไม่เทียบเคียงกับพระอภิธรรม หรือว่าถึงแม้ว่าจะได้ศึกษา แต่ไม่สอบทาน ไม่เทียบเคียงเหตุ คือ การประพฤติปฏิบัติให้ตรงกับพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม ไม่เทียบเคียงผลที่จะเกิดขึ้นคือปัญญาว่า จะต้องตรงกับที่ทรงแสดงไว้ในพระสูตรกับพระอภิธรรม ถ้าไม่เทียบเคียงอย่างนี้ การปฏิบัติก็ไม่ตรง ความรู้ที่เกิดขึ้นก็ไม่ตรง แยกกัน พระอภิธรรมและพระสูตรก็ย่อมจะลบเลือนไป

ถ้าประพฤติปฏิบัติถูก ก็จะต้องรู้ถูกตามที่ทรงแสดงไว้ด้วย ไม่ใช่เวลาที่เรียนพระสูตรหรือพระอภิธรรมก็กล่าวว่า นั่นเป็นปริยัติแต่ว่าไม่ใช่การปฏิบัติ

เพราะฉะนั้น ถ้าพระสุตตันตะกับพระอภิธรรมลบเลือนไปก่อน ก็เพราะผู้ประพฤติปฏิบัติไม่เทียบเคียง ไม่สอบทาน ไม่ศึกษา จะมีอะไรเหลือให้เป็นเครื่องเทียบเคียงข้อปฏิบัติได้

เพราะฉะนั้น ถ้าข้อประพฤติปฏิบัติ คือ การเจริญสติปัฏฐานยังคงเทียบเคียงอาศัยพระวินัยบัญญัติอยู่ ก็ยังเป็นโอกาสที่จะไม่ทำให้เข้าใจว่า จะต้องไปทนทุกข์ทรมานตัวต่างๆ

ที่กล่าวถึงพระวินัยก่อนนั้น เพื่อที่จะได้เห็นว่า คณปลิโพธไม่ขัดขวางการเจริญวิปัสสนา เพราะเหตุว่าการกล่าวสอน การพร่ำสอนในเหตุในผลนั้น ย่อมทำให้เกิดปัญญา ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ทำให้เกิดโทษหรือไม่ทำให้เกิดความเสียหายเลย ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงธรรม ก็ไม่มีใครสามารถจะบรรลุธรรมได้ แต่เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคและพระสาวกได้พร่ำสอนกล่าวแนะนำแสดงธรรม เพราะฉะนั้น การพร่ำสอนการกล่าวแนะนำหมู่คณะนั้น จึงไม่ขัดขวางการเจริญวิปัสสนา

พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ อุโปสถขันธกะ เรื่องปริพาชกอัญญเดียรถีย์มีข้อความว่า

สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ถึงวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ ย่อมประชุมกันกล่าวธรรม คนทั้งหลายก็พากันเข้าไปหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นเพื่อ ฟังธรรม พวกเขาได้ความรัก ได้ความเลื่อมใสในพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ย่อมได้พรรคพวก พระเจ้าพิมพิสารได้มีพระราชปริวิตกเกิดขึ้นว่า

ไฉนหนอ พระคุณเจ้าทั้งหลายพึงประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์บ้าง พระองค์จึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลให้ทรงทราบ และขอประทานพระวโรกาส ขอให้พระคุณเจ้าทั้งหลายพึงประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์

พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายประชุมกันในวันที่ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ ภิกษุก็ประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ แล้วนั่งนิ่งเสีย

คนทั้งหลายเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นเพื่อฟังธรรม พวกเขาต่างก็เพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายแห่งพระศากยบุตรประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ จึงได้นั่งนิ่งเสียเหมือนสุกรอ้วนเล่า ธรรมเนียมภิกษุผู้ประชุมกันควรกล่าวธรรมมิใช่หรือ

ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายประชุมกันกล่าวธรรมในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ และภายหลังพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตสิกขาบทที่พระองค์ทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ให้เป็นปาติโมกขุทเทศ เป็นอุโบสถกรรม ทรงอนุญาตให้สวดปาติโมกข์

จะเห็นว่าในพุทธศาสนานั้นไม่ได้ห้ามพูดเลย โดยเฉพาะไม่ได้ห้ามการแสดงธรรม การพร่ำสอน หรือการกล่าวสอนธรรม แม้การสวดปาติโมกข์ก็ไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญสติ ถ้ามีความเข้าใจการเจริญสติ เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะพูด ไม่ว่าจะนิ่ง ไม่ว่าจะคิด ผู้ที่เจริญสติก็ย่อมสามารถที่จะใส่ใจรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติที่เป็นชีวิตจริงๆ ตามความเป็นจริงได้

เพราะฉะนั้น ในพระพุทธศาสนาการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ห้ามพูด มีใครบ้างไหมที่วันหนึ่งๆ ไม่ได้พูด แต่จะพูดมากหรือพูดน้อย จะพูดเรื่องอะไร เพราะเหตุว่าถึงแม้จะเป็นภิกษุ บางครั้งบางรูปก็ยังพูดเรื่องพระราชา เรื่องโน้นเรื่องนี้ที่เป็นเดรัจฉานคาถา เพราะเหตุว่าท่านยังเป็นผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่

ผู้ที่ยังไม่ได้ละอาคารบ้านเรือนเป็นผู้ที่เจริญสติ พูดได้ไหม หรือว่าห้ามพูดไม่ให้พูด ถ้าเป็นปกติชีวิตจริงๆ แล้ว แม้ขณะที่พูดก็ให้มีการรู้สึกตัว เพื่อที่จะได้รู้ลักษณะของนามหรือรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เพราะเหตุว่าการพูดก็เป็นของจริง ไม่ต้องไปบังคับ ไปฝืน ไปสร้างชีวิตให้ผิดปกติไป

ถ้าไม่ใช่ปัญญาที่รู้สภาพของนามและรูปที่เป็นปกติในชีวิตตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ปัญญาที่ละกิเลส ละไม่ได้ ชั่วครั้งชั่วคราวที่ไปบังคับไว้ แล้วก็คิดว่ารู้ลักษณะของนามและรูป รู้ไม่ทั่ว รู้ไม่จริง ไม่ใช่การรอบรู้ เพราะฉะนั้น ก็ละไม่ได้

ผู้ใดก็ตามที่เข้าใจการเจริญสติ ในมหาสติปัฏฐาน ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็มี ไม่ว่ากำลังพูด กำลังนิ่ง ก็ให้เป็นผู้ที่มีสติ การเจริญสติปัฏฐานนั้นเพื่อปัญญารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน หมายความถึงการรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ กำลังพูดมีลักษณะอะไรปรากฏบ้างไหม หรือไม่มี มีเห็นไหม มีเย็นไหม มีสภาพธรรมหลายอย่าง มีการเคลื่อนไหว หรือว่ามีแข็งมีอ่อนที่ปรากฏ ในส่วนที่กำลังปรากฏนั้น สติก็สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้

บางท่านก็ใจร้อน หรือว่าอยากให้ปัญญาเกิดมากๆ ก็พยายามไปคิดว่า อะไรเป็นปัจจัยในขณะที่สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดกำลังปรากฏ แต่ถ้าไม่รู้ลักษณะว่าสภาพนั้นเป็นรูป เป็นสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ หรือว่าสภาพนั้นเป็นนามธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว จะไม่รู้ปัจจัย จะไม่รู้เหตุที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น นอกจากคิดเพราะอาศัยการศึกษา คิดเพราะเคยฟังมาว่า อะไรเป็นปัจจัยให้อะไรเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่การรู้ในขณะที่สิ่งนั้นกำลังปรากฏ ถ้าเป็นการรู้ในขณะที่สิ่งนั้นกำลังปรากฏแล้ว ความรู้ต้องเกิดขึ้นชัดเจนถูกต้องเป็นลำดับขั้น

ถ้าปัญญายังไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามและรูปทางตา จะรู้ได้อย่างไรว่า การเห็นมีอะไรเป็นปัจจัย เมื่อกำลังรู้ชัดในลักษณะที่กำลังปรากฏ ก็จะรู้ปัจจัยที่ทำให้เกิดนามและรูปในขณะนั้นด้วย

เป็นเรื่องที่เห็นได้ว่า การกล่าวสอน การพร่ำสอน การแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้นมีประโยชน์มาก ผู้ที่ศึกษาธรรมด้วยความรอบคอบ ด้วยความละเอียด ประพฤติปฏิบัติตามก็ย่อมจะได้รับประโยชน์ แต่ไม่ใช่ผู้ที่ไม่ฟัง ถ้าผู้ที่ไม่ฟังก็หมดโอกาส เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลได้โดยการคิดเอาเอง เพราะฉะนั้น การฟังธรรมหรือว่าการกล่าวสอนหมู่คณะนั้น ไม่ใช่เครื่องกั้นของการเจริญสติปัฏฐาน

มีใครที่จะเจริญสติปัฏฐานและพยายามไม่พูด มีบ้างไหม ในพระไตรปิฎกห้ามหรือไม่ แสดงเหตุผลว่า การคลุกคลีกับหมู่คณะ การกล่าวเรื่องที่ไม่ใช่กุศลย่อมเป็นเหตุให้เพลิดเพลินไปในอกุศล เป็นไปกับโลภะ โทสะ โมหะ แต่ถ้าเป็นกุศล ก็เป็น วิริยกถา เป็นปัญญากถา เป็นสติ เป็นมรรคมีองค์ ๘

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฟังธรรมก็จะต้องพิจารณา เพราะว่าบางท่านอยากให้มีสติมากๆ ไม่อยากพูดกับใครเลย บางทีอาจจะเป็นความรู้สึกอย่างนั้นว่า ไม่อยากพูด เพราะว่าอยากเจริญสติ นั่นเป็นความต้องการสติ ไม่ได้เป็นปกติธรรมดา ซึ่งถ้าเป็นตามปกติธรรมดาแล้ว บางครั้งก็อาจจะพูด และมีการรู้สึกตัวได้ ไม่ว่ากำลังพูดอะไรก็ตาม หรือว่ารู้สภาพลักษณะความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่มีสติ รู้ได้ว่าพูดขณะไหนไม่มีสติ หรือว่าขณะไหนที่ไม่ได้หลงลืมสติ เพราะว่ารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติได้ ไม่ใช่ว่ามีไม่ได้

ก็คงจะไม่มีปัญหาในเรื่อง การกล่าวสอนหมู่คณะว่า ไม่ขัดขวางการเจริญ วิปัสสนา


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 51

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 52


หัวข้อที่เกี่ยวข้อง ...

เรื่องของปลิโพธ ความกังวล ความห่วงใย


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ