เรียนแต่ไม่พิจารณา ก็เหมือนกับแสวงหางูพิษ

 
สารธรรม
วันที่  11 ก.ย. 2565
หมายเลข  43796
อ่าน  366

นี่เป็นข้อความที่ให้เห็นความสำคัญซึ่งได้ทรงอุปมาไว้ ทรงแสดงไว้หลายครั้งหลายแห่งใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตรที่ ๑ ข้อ ๑๓๒ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง สิ่งที่เป็นเบื้องต้นเป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความบังเกิดแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ของภิกษุ คือ ความถึงพร้อมแห่งการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘

ข้อนี้ต้องอาศัยโยนิโสมนสิการของผู้ที่ฟังธรรมด้วย เพราะเหตุว่าในครั้งพุทธกาล มีพวกพราหมณ์ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคบ่อยๆ และได้ฟังธรรมด้วย บางคนก็เลื่อมใสประพฤติปฏิบัติตามบรรลุมรรคผล บางคนก็ไม่เลื่อมใส ไม่ประพฤติปฏิบัติตาม จึงไม่บรรลุมรรคผล

ก็แล้วแต่โยนิโสมนสิการของแต่ละท่านว่า ได้พิจารณาเทียบเคียงเหตุผลด้วยความแยบคาย พิจารณาเหตุถูกต้องตรงกับผลไหม การประพฤติปฏิบัติเป็นไปตามเหตุผลที่ได้พิจารณาถูกต้องไหม แม้ในขณะที่สติกำลังเกิดจะขาดโยนิโสมนสิการไม่ได้ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าอวิชชามีมาก คุ้นเคยไว้มาก มีอัตตา เคยยึดถือนามรูปเป็นตัวตนมาก เพราะฉะนั้น ก็ย่อมมีความจงใจตั้งใจที่จะบังคับสติบ้าง ที่จะเลือกจดจ้องเฉพาะนามนั้นบ้างรูปนี้บ้าง ซึ่งเป็นลักษณะของอัตตา เป็นลักษณะของอวิชชา เป็นลักษณะของตัวตน เป็นความไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดขึ้นปรากฏตามปกติว่า เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งที่จะบังคับ ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ไม่มีโยนิโสมนสิการแล้ว การเจริญสติปัฏฐานก็จะเจริญไม่ได้ ก็จะเป็นไปในลักษณะอื่น

อลคัททูปมสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสถ์ มีข้อความว่า

เรียนแต่ไม่พิจารณา ก็เหมือนกับแสวงหางูพิษ

เพราะเหตุว่าไม่ได้ประโยชน์เลย แต่กลับเป็นโทษ เพราะเหตุว่าไม่ใช่ความเห็นถูก แต่เป็นความเห็นผิดเข้าใจผิด ซึ่งไม่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจ แต่จะเป็นเครื่องกั้นมรรคผลนิพพาน เพราะเหตุว่าธรรมนั้นเป็นธรรมที่สุขุมและละเอียดมาก การพิจารณาธรรมก็ต้องให้ละเอียดสุขุมจริงๆ


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 53


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Kalaya
วันที่ 11 ก.ย. 2565

อนุโมทนาสาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
สิริพรรณ
วันที่ 15 ก.ย. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ