กัมมปลิโพธ กิจการงานตามปกติในชีวิตประจำวัน

 
สารธรรม
วันที่  11 ก.ย. 2565
หมายเลข  43799
อ่าน  435

ปลิโพธที่ ๕ คือ กัมมปลิโพธ ได้แก่ การที่ต้องขวนขวายดูแล รู้งานที่เป็นการก่อสร้างหรือการงานของท่าน แล้วแต่ว่าใครจะต้องกระทำอะไร ท่านที่มีบ้านมีเรือน มีการก่อสร้าง มีการงานที่จะต้องกระทำนั้น ก็มีกิจในการก่อสร้าง ในกระทำต่างๆ ซึ่งถ้ามีการงานที่ค้างอยู่ ถ้าเป็นภิกษุที่ต้องการจะเจริญสมาธิแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องทำการงานนั้นให้เสร็จ ถ้างานนั้นเหลือน้อย หรือถ้างานนั้นเหลือมาก ก็จะต้องมอบหมายให้ภิกษุอื่น หรือว่ามอบให้สงฆ์

สำหรับกัมมปลิโพธ ไม่ใช่มีแต่การประกอบการอาชีพ ในวันหนึ่งๆ ยังต้องทำอะไรกันอีกไหม มีการรับประทานอาหาร กิจการงานในการประกอบอาหารก็ต้องมี การเป็นอยู่หลับนอนมี กิจการงานในเรื่องเครื่องหลับเครื่องนอนต่างๆ ในเรื่องที่อยู่ที่อาศัยก็ต้องมี แต่ถ้ามีความรู้มีความเข้าใจในการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ไม่เป็นเครื่องกั้นการเจริญสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าแม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ยังมีกิจที่จะต้องกระทำ

ชีวิตของพระผู้มีพระภาคเป็นชีวิตที่ดำเนินไปเป็นปกติ ต้องมีการกระทำกิจการ งานต่างๆ และตัวอย่างที่จะแสดงให้เห็นว่า แม้พระผู้มีพระภาคเองนั้นก็ยังทรงกระ ทำกิจตามปกติในชีวิตประจำวัน จะขอกล่าวถึงพระวินัยปิฎก มหาวรรคภาค ๑ ขอกล่าวถึงตอนที่ทรงโปรดชฎิลให้เลื่อมใส (เรื่องชฎิล ๓ พี่น้อง ข้อ ๓๗) เพื่อประกอบความรู้ความเข้าใจ จะขอกล่าวตั้งแต่ต้น

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงจำพรรษาประทับอยู่ที่พระนครพาราณสี ตามพระ พุทธาภิรมย์แล้ว พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโดยมรรคาอันจะไปสู่ตำบลอุรุเวลา เมื่อเสด็จจาริกตามลำดับถึงตำบลอุรุเวลาแล้ว

สมัยนั้น ชฎิล ๓ คน คือ อุรุเวลกัสสปะ ๑ ซึ่งเป็นหัวหน้าชฎิล ๕๐๐ คน นทีกัสสปะ เป็นหัวหน้าชฎิล ๓๐๐ คยากัสสปะ เป็นหัวหน้าชฎิล ๒๐๐

พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปสู่อาศรมของชฎิลชื่อ อุรุเวลกัสสปะ ทรงขออาศัยอยู่ในโรงบูชาเพลิงสักคืนหนึ่ง (พวกชฏิลพวกนี้เป็นพวกที่บูชาไฟ)

ซึ่งอุรุเวลกัสสปะก็ไม่ขัดข้อง แต่เกรงว่าพญานาคพิษร้ายจะทำให้พระผู้มีพระภาคลำบาก พระผู้มีพระภาคก็ทรงปราบพญานาคซึ่งอยู่ในโรงบูชาไฟนั้น โดยบันดาล ไฟต้านทานไฟของพญานาค ในคืนนั้นโรงบูชาเพลิงรุ่งโรจน์เป็นเปลวเพลิงดุจไฟไหม้

พระผู้มีพระภาคทรงขดพระยานาคไว้ในบาตร ครั้นผ่านราตรีนั้น ทรงแสดงพญานาคนั้นแก่อุรุเวลกัสสปะ ซึ่งอุรุเวลกัสสปะเมื่อเห็นอย่างนั้นก็คิดว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

อุรุเวลกัสสปะเลื่อมใสในปาฏิหาริย์ของพระผู้มีพระภาค ทูลนิมนต์ให้ประทับอยู่ แล้วกราบทูลว่า จะบำรุงพระผู้มีพระภาคด้วยภัตตาหารเป็นประจำ

ขอให้คิดถึงความคิดของอุรุเวลกัสสปที่แม้จะได้เห็นปาฏิหาริย์ แต่ก็คิดว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

ข้อนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า การที่จะเป็นพระอรหันต์นั้นไม่ใช่เป็นได้ด้วยการที่มีอิทธิปาฏิหาริย์มากๆ แล้วก็เป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น อุรุเวลกัสสปะที่ไม่เชื่อง่ายๆ ก็ดี คือ ไม่ได้เห็นว่าผู้ที่มีอิทธิปาฏิหาริย์สามารถจะละกิเลสเป็นพระอรหันต์ได้ แต่เพราะเหตุว่าธรรมเป็นของที่ลึกซึ้งมาก ทั้งๆ ที่อุรุเวลกัสสปะไม่ได้เป็นพระอรหันต์เลย แต่ก็เข้าใจว่าตนเองที่ได้บำเพ็ญเพียร ได้เป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะได้เห็นปาฏิหาริย์ของพระผู้มีพระภาค ก็คิดว่าพระผู้มีพระภาคมีฤทธิ์มาก แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

คนที่ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ก็เข้าใจว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ และก็ไม่รู้ว่าผู้ที่เป็นพระอรหันต์นั้นเป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะเหตุว่ายังไม่ทราบข้อประพฤติปฏิบัติที่จะให้หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์

พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ของอุรุเวลกัสสปะ พระองค์ประทับ ณ ไพรสนฑ์ ไม่ไกลอาศรมชฎิลอุรุเวลกัสสปะ ตอนกลางคืนหลังปฐมยาม ท้าวมหาราชทั้ง ๔ (คือ เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา) ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เปล่งรัศมีงาม ทำให้ป่าทั้งสิ้นสว่างไสว ยืนเฝ้าพระผู้มีพระภาคทั้ง ๔ ทิศ

ซึ่งตอนเช้า อุรุเวลกัสสปะก็ได้ไปเฝ้าทูลว่า ถึงเวลาภัตตาหารเสร็จแล้ว แล้วก็ได้กราบทูลถามว่า พวกนั้นเป็นใคร คือ พวกที่มาเฝ้าในเวลากลางคืนเปล่งรัศมีงาม ทำให้ป่าทั้งสิ้นสว่างไสว

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ท้าวมหาราชทั้ง ๔ มาเฝ้าพระองค์เพื่อฟังธรรม ซึ่งอุรุเวลกัสสปะก็คิดว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก แม้ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ก็ยังมาเฝ้าฟังธรรม แต่ว่าคงไม่เป็นอรหันต์เหมือนเราแน่

ในคืนต่อไป ท้าวสักกะ คือ พระอินทร์ ก็ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคหลังปฐมยามเปล่งรัศมีงาม ทำให้ป่าทั้งสิ้นสว่างไสว

ซึ่งในตอนเช้า อุรุเวลกัสสปะก็ได้ไปเฝ้ากราบทูลว่า ถึงเวลาภัตตาหารเสร็จแล้ว แล้วก็ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ผู้นั้นเป็นใครที่ได้มาเฝ้าหลังปฐมยามเปล่งรัศมีงาม ทำให้ป่าทั้งสิ้นสว่างไสว

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ท้าวสักกะมาเฝ้าเพื่อฟังธรรม อุรุเวลกัสสปะก็ยังคิดอย่างเดิม คือ ยังคิดว่าพระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก แม้ท้าวสักกะก็มาเฝ้าเพื่อฟังธรรม แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

ในคืนต่อไป หลังปฐมยาม ท้าวสหัมบดีพรหมก็ได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาค เปล่งรัศมีงาม ทำให้ป่าทั้งสิ้นสว่างไสว

ตอนเช้า อุรุเวลกัสสปะก็ได้ไปเฝ้ากราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาภัตตาหารเสร็จแล้ว แล้วก็ได้กราบทูลถามว่า ผู้ที่ได้เปล่งรัศมีงามทำให้ป่าทั้งสิ้นสว่างไสวเมื่อคืนนั้นเป็นใคร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ท้าวสหัมบดีพรหมมาเฝ้าพระองค์เพื่อฟังธรรม อุรุเวลกัสสปะก็คิดว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

นี่เป็นเรื่องที่ผู้ที่เข้าใจว่า ตนเองเป็นพระอรหันต์ ผู้อื่นถึงจะมีฤทธิ์สักเท่าไรก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนตน

ปาฏิหาริย์ที่ ๕ ชฎิลอุรุเวลกัสสปะเตรียมการบูชายัญเป็นการใหญ่ ประชาชนชาวอังคะและมคธทั้งสิ้นก็ได้ถือของเคี้ยวของบริโภคเป็นอันมาก บ่ายหน้ามุ่งไปหาชฎิลอุรุเวลกัสสปะ ซึ่งอุรุเวลกัสสปะก็คิดว่า ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงปาฏิหาริย์ ลาภสักการะของตนก็จะเสื่อมไป เพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาคทรงมีปาฏิหาริย์มาก มีฤทธิ์มาก เพราะฉะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะก็คิดในใจว่า ทำไฉนวันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคจึงจะไม่เสด็จมาฉัน

ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ทรงทราบจิต ทรงทราบความคิดของชฎิล พระองค์จึงได้เสด็จไปที่อุตตรกุรุทวีป ทรงนำบิณฑบาตมาจากอุตตรกุรุทวีป แล้วเสวยที่ริมสระอโนดาต ประทับกลางวันอยู่ ณ ที่นั้น

วันรุ่งขึ้น ชฎิลก็ได้ไปเฝ้าแล้วกราบทูลถามว่า ทำไมพระองค์ไม่เสด็จไปรับ ภัตตาหาร

ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า เพราะเหตุว่าอุรุเวลกัสสปะคิดเช่นนั้นๆ พระผู้มีพระภาคจึงไม่ได้เสด็จไปรับภัตตาหาร ซึ่งชฎิลอุรุเวลกัสสปะก็คิดว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

นี่แสดงให้เห็นเหตุการณ์ที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงพบปะกับชฏิล แม้พระผู้มีพระภาคก็ยังทรงกระทำกิจการงาน หรือแม้พระผู้มีพระภาคก็ยังต้องทรงดำรงชีวิตเป็นปกติประจำวัน เพราะเหตุว่าเมื่อยังไม่ปรินิพพาน ก็ยังต้องบริหารรักษาพระองค์ มีกิจการงานที่จะต้องกระทำคือ เรื่องของผ้าบังสุกุลมีข้อความว่า

ก็โดยสมัยนั้น ผ้าบังสุกุลบังเกิดมีแต่พระผู้มีพระภาค จึงพระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า เราจะพึงซักผ้าบังสุกุล ณ ที่ไหนหนอ

ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมทวยเทพ ทรงทราบพระดำริในพระทัยของพระผู้มีพระภาคด้วยพระทัยของพระองค์ จึงขุดสระโบกขรณีด้วยพระหัตถ์ แล้วทูลขอให้พระผู้มีพระภาคโปรดทรงซักผ้าบังสุกุลในสระนี้

ทีนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า เราพึงจะขยำผ้าบังสุกุล ณ ที่ไหนหนอ

ลำดับนั้น ท้าวสักกะทรงทราบพระดำริในพระทัยของพระผู้มีพระภาค ได้ยกศิลาแผ่นใหญ่มาวาง พลางทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงขยำผ้าบังสุกุลบนแผ่นศิลาแผ่นนี้

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า เราจะพึงพาดผ้าบังสุกุลไว้ ณ ที่ไหนหนอ

ครั้งนั้น เทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นกุ่มบก ทราบพระดำริในพระทัยของพระผู้มีพระภาคด้วยใจของตน จึงน้อมกิ่งกุ่มลงมาพลางกราบทูลว่า ขอให้พระผู้มีพระภาคโปรดทรงพาดผ้าบังสุกุลไว้ที่กิ่งกุ่มนี้

ครั้งนั้น พระผู้พระภาคทรงพระดำริว่า เราจะผึ่งผ้าบังสุกุล ณ ที่ไหนหนอ

ครั้งนั้น ท้าวสักกะทรงทราบพระดำริในพระทัยของพระผู้มีพระภาค ได้ยกศิลา แผ่นใหญ่มาวางไว้ พลางกราบทูลขอให้พระผู้มีพระภาคโปรดทรงผึ่งผ้าบังสุกุลบนศิลาแผ่นนี้

หลังจากนั้นรุ่งเช้า ชฎิลอุรุเวลกัสสปะก็ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลว่า ถึงเวลาแล้วมหาสมณะ ภัตตาหารเสร็จแล้ว เพราะเหตุไรหนอมหาสมณะ เมื่อก่อนสระนี้ไม่มีที่นี่ เดี๋ยวนี้มีสระอยู่ที่นี่ เมื่อก่อนศิลาเหล่านี้ ไม่มีวางอยู่ ใครยกศิลาเหล่านี้มาวางไว้ เมื่อก่อนกิ่งกุ่มบกต้นนี้ไม่น้อมลง เดี๋ยวนี้กิ่งนั้นน้อมลง

พระผู้มีพระภาคก็ตรัสเรื่องทั้งหมดให้ชฎิลได้ทราบ ครั้งนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะ ได้ดำริว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ ถึงกับท้าวสักกะจอมเทพได้ทำการช่วยเหลือ แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ แล้วประทับอยู่ในไพรสณฑ์ตำบลนั้น

นี่ก็เป็นเรื่องที่ให้เห็นว่า แม้พระผู้มีพระภาคก็มีกิจที่จะต้องทรงกระทำ

พระผู้มีพระภาคได้ทรงกระทำปาฏิหาริย์อีกหลายอย่าง เช่น ให้ชฎิลไปก่อนแล้วพระผู้มีพระภาคตามไปทีหลัง ไปเก็บผลหว้า แต่ปรากฏว่าพระผู้มีพระภาคไปถึงก่อน ชฎิลก็อัศจรรย์ใจที่ตนได้ไปก่อน แต่เหตุไฉนพระผู้มีพระภาคจึงได้ไปถึงที่นั่นก่อน

นอกจากนั้นก็มีเรื่องในทำนองเดียวกัน คือ เรื่องของปาฏิหาริย์เก็บผลมะม่วง มะขามป้อม สมอ ดอกปริฉัตตกะ และปาฏิหาริย์ผ่าฟืน ซึ่งพวกชฎิลก็เคยผ่าฟืนได้เป็นประจำ แต่เวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงกระทำปาฏิหาริย์ พวกชฏิลผ่าฟืนนั้นเท่าไรก็ผ่าไม่ได้ จนกระทั้งพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ผ่าได้ ชฎิลจึงผ่าฟืนได้

พระผู้มีพระภาคทรงกระทำปาฏิหาริย์ให้ชฎิลก่อไฟติด ซึ่งก่อนนั้นชฎิลก็ก่อไฟเป็นประจำ แต่ว่าวันนั้นก่อไม่ติด จนกระทั่งพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต ชฎิลจึงได้ก่อไฟติด

ทรงกระทำปาฏิหาริย์ให้ชฎิลดับไฟได้ เมื่อชฎิลก่อไฟแล้วก็จะดับไฟ แต่ว่าดับเท่าไรก็ไม่ดับ จนกระทั่งพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ชฎิลดับไฟได้ จึงได้ดับได้

และเวลาที่พวกชฎิลพากันดำผุดดำว่ายในแม่น้ำเนรัญชราในราตรีหนาว ในเหมันตฤดู ระหว่างท้ายเดือน ๓ และต้นเดือน ๔ ในสมัยน้ำค้างตก พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงเนรมิตกองไฟไว้ให้พวกชฎิลผิง ๕๐๐ กอง ซึ่งพวกชฎิลก็ได้เห็นอานุภาพ ได้เห็นความเป็นผู้มีฤทธิ์มาก อานุภาพมากของพระผู้มีพระภาค

นอกจากนั้นก็ยังทรงกระทำปาฏิหาริย์น้ำท่วม เมื่อมีน้ำท่วม พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลให้ไม่ท่วมที่ประทับ และทรงจงกรมอยู่บนภาคพื้นที่มีฝุ่นฟุ้งขึ้นตอนกลางแสดงให้เห็นว่า ไม่มีน้ำเข้าไปกล้ำกรายเลยในที่ประทับของพระผู้มีพระภาค

พวกชฎิลอุรุเวลกัสสปะกลัวพระผู้มีพระภาคจะถูกน้ำพัดพาไป ก็เอาเรือไปรับ พระผู้มีพระภาคก็ทรงเหาะขึ้นปรากฏที่เรือ ซึ่งพวกชฎิลก็คิดว่าพระมหาสมณะนี้มีฤทธิ์ มาก มีอานุภาพมากแท้ แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

ซึ่งในที่สุดวิธีที่จะให้ชฎิลรู้ว่า ตนเองไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ไม่มีวิธีอื่น นอกจากบอกตรงๆ ทีเดียว

พระผู้มีพระภาคตรัสกับชฎิลว่า ชฎิลไม่ใช่อรหันต์ ซึ่งก็ทำให้ชฎิลได้รู้สึกตน แล้วก็ขอบวช ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสกับอุรุเวลกัสสปะว่า ให้ไปบอกพวกศิษย์เสียก่อน ซึ่งเวลาที่ชฎิลไปบอกพวกศิษย์นั้น ศิษย์ชฎิลทั้งหมดก็ได้กราบเรียนชฎิลว่า

พวกข้าพเจ้าเลื่อมใสยิ่งในพระมหาสมณะมานานแล้ว ถ้าท่านอาจารย์จะประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะ พวกข้าพเจ้าทั้งหมดก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะเหมือนกัน

นี่ก็เป็นเรื่องของอาจารย์กับศิษย์ ซึ่งอาจารย์ก็เป็นที่เคารพเป็นที่เลื่อมใสของศิษย์ เพราะฉะนั้น อาจารย์ประพฤติปฏิบัติอย่างไร ศิษย์ก็จะประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น ถึงแม้ว่าบรรดาศิษย์ของชฎิลได้มีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ประกาศความเลื่อมใส จนกระทั่งอุรุเวลกัสสปะชฎิลซึ่งเป็นอาจารย์ของตนนั้นได้ประกาศก่อน

เป็นเรื่องที่ให้เห็นว่า แม้พระผู้มีพระภาคก็มีกิจที่จะทรงกระทำ เพราะฉะนั้น ทุกคนตามธรรมดาวันหนึ่งๆ มีกิจที่จะต้องกระทำ ก็ควรเจริญกุศล และกุศลที่เจริญได้ทุกขณะ คือ การเจริญสติปัฏฐาน เมื่อมีการระลึกได้ พิจารณาสิ่งที่กำลังปรากฏทันทีเพื่อให้ปัญญารู้ชัด ถ้ามีสติจะทราบได้ว่า ขณะที่กำลังนั่งอยู่นี้มีสภาพธรรมตั้งหลายชนิดที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับแต่ละอย่างๆ ทางตาก็อย่างหนึ่ง ทางหูก็อย่างหนึ่ง ทางใจก็อีกอย่างหนึ่ง แต่จะรู้ชัดได้ก็ต่อเมื่อมีสติ เจริญสติมากขึ้น รู้ชัดขึ้น ละความไม่รู้มากขึ้น

เพราะฉะนั้น ไม่จำกัดว่าจะเป็นขณะไหน สถานที่ใด เพราะเหตุว่าสตินั้นก็เป็นอนัตตา ในเรื่องของกิจการงาน ถ้าได้กล่าวถึงชีวิตของบรรพชิตพระภิกษุทั้งหลาย จะทำให้เข้าใจได้ชัดเจนขึ้น เพราะเหตุว่าพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงบัญญัติแล้วไม่เป็นเครื่องกั้น ไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญสติปัฏฐาน ถ้าทำกิจการงานนั้นๆ แล้วเจริญสติปัฏฐานไม่ได้จะไม่ทรงอนุญาต แต่ว่าสิ่งใดก็ตามที่ชีวิตจะต้องดำเนินไป พระผู้มีพระภาคก็ทรงเทศนาอนุเคราะห์ให้มีวิริยะ มีความเพียรที่จะเจริญสติ

เมื่อเป็นบรรพชิตแท้ๆ ท่านก็ยังมีกิจ ก็ลองเปรียบเทียบดูกับชีวิตฆราวาสว่าฆราวาสก็มีชีวิตอย่างนี้เหมือนกัน เจริญสติปัฏฐานได้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเจริญไม่ได้

สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวหิตสูตร ที่ ๓ (ข้อ ๖๘๒) มีข้อความว่า

ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคประชวรด้วยโรคลม ท่านพระอุปวาณะเป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเรียกท่านพระอุปวาณะมาตรัสว่า

อุปวาณะ เธอจงรู้น้ำร้อนเพื่อฉัน

ท่านพระอุปวาณะทูลรับพระผู้มีพระภาค แล้วนุ่งสบง ถือบาตรและจีวร เข้าไปยังที่อยู่ของเทวหิตพราหมณ์ แล้วยืนนิ่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เทวหิตพราหมณ์ได้เห็นท่านพระอุปวาณะยืนนิ่งอยู่ณที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กล่าวกะท่านพระอุปวาณะ ด้วยคาถาว่า

ท่านเป็นสมณะศีรษะโล้น ครองผ้าสังฆาฏิ ยืนนิ่งอยู่ ท่านปรารถนาอะไร แสวงหาอะไร มาเพื่อขออะไรหรือ

ท่านพระอุปวาณะตอบว่า

พระสุคตมุนีเป็นอรหันต์ในโลก ประชวรด้วยโรคลม ถ้ามีน้ำร้อน ขอท่านจงถวายแก่พระสุคตมุนีเถิด พราหมณ์ ฉันปรารถนาจะเอาไปถวายพระผู้มีพระภาค ในบรรดาผู้ที่ควรแก่การบูชาสักการะนอบน้อมทั้งหลาย อันบุคคลได้บูชาสักการะ นอบน้อมแล้วนั้น

ครั้งนั้น เทวหิตพราหมณ์ให้บุรุษคนใช้ถือกาน้ำร้อนและห่อน้ำอ้อย ตามไป ถวายท่านพระอุปวาณะ

ลำดับนั้นท่านพระอุปวาณะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับแล้ว อัญเชิญ ให้พระผู้มีพระภาคทรงสนาน และละลายน้ำอ้อยด้วยน้ำร้อนแล้วถวายพระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหายประชวร

ท่านพระอุปวาณะเจริญสติได้ไหม ในขณะที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกและในขณะที่ท่านพระอุปวาณะทูลรับ นุ่งสบงถือบาตรจีวรเข้าไปยังที่อยู่ของเทวหิตพราหมณ์เจริญสติปัฏฐานได้ไหม ถ้าไม่ได้ พระผู้มีพระภาคจะไม่ตรัสให้ท่านพระอุปวาณะหาน้ำร้อนเพื่อฉัน หากเป็นเครื่องขัดขวางการเจริญสติของผู้อื่นแล้ว พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงกระทำ แต่ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างนี้ มีการเจ็บไข้ได้ป่วย มีการรักษาพยาบาล ระหว่างนั้นก็เป็นกิจการงานที่จะต้องเกิดขึ้น จะต้องมี จะต้องกระทำ แต่สามารถเจริญสติปัฏฐานได้ ไม่ใช่ว่าถ้าทำกิจต่างๆ เหล่านี้แล้วจะเจริญสติปัฏฐานไม่ได้

พระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎกที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมนั้น เพื่ออนุเคราะห์พุทธบริษัทให้เจริญสติ ให้เจริญกุศลมากที่สุดที่จะมากได้

. เรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ฆราวาสหรือพระภิกษุสงฆ์ควรจะเจริญมากกว่ากัน

สุ. พุทธบริษัทควรเจริญทั้งหมด ไม่จำกัด ความดีไม่จำกัด พระธรรมของพระผู้มีพระภาคเหมือนกับแสงพระอาทิตย์ ไม่เลือกว่าจะเป็นเศรษฐี ผู้ดี ยากจน เข็ญใจ เป็นภิกษุ เป็นภิกษุณี เป็นอุบาสก อุบาสิกา ฆราวาส ผู้ใดมีความเข้าใจสดับฟังพระธรรมเทศนา พระองค์มิได้ทรงให้เฉพาะภิกษุเจริญ ทรงอนุเคราะห์สัตว์โลก อุบาสก อุบาสิกาก็บรรลุธรรมเป็นจำนวนมากทีเดียว ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐานแล้วจะบรรลุได้อย่างไร มีทางไหนที่จะบรรลุได้ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะประจักษ์การเกิดดับ รู้ชัดในลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏได้ไหม

เมื่อสักครู่นี้ นามรูปดับไปหมดแล้วมากมายทีเดียว ถ้าไม่มีสติระลึกรู้ลักษณะของนามใดรูปใดก็ไม่รู้ ถ้าไม่มีสติ ก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่เป็นปกติธรรมดาที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าจะเป็นกุศล อกุศล เป็นนาม เป็นรูป เป็นของจริงที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป

การเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ต้องฟังมากๆ ทบทวนบ่อยๆ แล้วก็พิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังด้วย ถ้ากล่าวถึงพระวินัยก็คงทำให้ท่านผู้ฟังเห็นชัดขึ้นว่า ชีวิตของบรรพชิตก็ยังต้องมีกิจการงาน

พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ อุโบสถขันธกะ บุพกรณ์ และ บุพกิจในโรงอุโบสถ มีข้อความว่า

ก็โดยสมัยนั้นแล ในอาวาสแห่งหนึ่งโรงอุโบสถรก พวกพระอาคันตุกะพากันเพ่งโทษติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุทั้งหลายจึงไม่กวาดโรงอุโบสถเล่า ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้กวาดโรงอุโบสถ

ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า ภิกษุรูปไหนหนอ พึงกวาดโรง อุโบสถ แล้วจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเถระใช้ภิกษุนวกะ

ภิกษุนวกะทั้งหลายอันพระเถระใช้แล้ว ไม่ยอมกวาด

ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาครับสั่งกับ ภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่อาพาธ อันพระเถระบัญชาแล้ว จะไม่กวาดไม่ได้ รูปใดไม่กวาด ต้องอาบัติทุกกฏ

นี่ก็เป็นเรื่องของอุโบสถที่รก บ้านรกต้องทำไหม เจริญสติปัฏฐานได้ไหม ได้

สมัยต่อมาในโรงอุโบสถไม่มีใครปูอาสนะไว้ ภิกษุทั้งหลายนั่งพื้นดิน ทั้งตัวทั้งจีวรเปื้อนฝุ่น ภิกษุทั้งหลายจึงได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ปูอาสนะในโรงอุโบสถ

ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า ภิกษุรูปไหนหนอ พึงปูอาสนะในโรงอุโบสถ แล้วจึงกราบทูลเรื่องนั้นแต่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเถระใช้ภิกษุนวกะ

ภิกษุนวกะทั้งหลายอันพระเถระใช้แล้ว ไม่ยอมปูอาสนะ

ภิกษุทั้งหลาย จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่อาพาธอันพระเถระบัญชาแล้ว จะไม่ปูอาสนะไม่ได้ รูปใดไม่ปู ต้องอาบัติทุกกฏ

นี่เป็นเรื่องของพระภิกษุนวกะ พระเถระบัญชาแล้วก็ยังไม่ทำ ต้องถึงพระผู้มีพระภาคบัญญัติเป็นอาบัติทุกกฏ

สมัยต่อมา ในโรงอุโบสถไม่ได้ตามประทีปไว้ เวลาค่ำคืนภิกษุทั้งหลายเหยียบ กายกันบ้าง เหยียบจีวรกันบ้าง แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ตามประทีปในโรงอุโบสถ

ซึ่งพระภิกษุท่านก็สงสัยอีกเหมือนกันว่า รูปใดจะเป็นผู้ตามประทีป

ครั้งนั้นภิกษุทั้งหลาย ได้มีความปริวิตกว่า ภิกษุรูปไหนหนอ พึงตามประทีปในโรงอุโบสถ แล้วจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเถระใช้ภิกษุนวกะ

ภิกษุนวกะทั้งหลายอันพระเถระใช้แล้ว ไม่ยอมตามประทีปในโรงอุโบสถ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่อาพาธอันพระเถระบัญชาแล้ว จะไม่ตามประทีปในโรงอุโบสถไม่ได้ รูปใดไม่ตามประทีป ต้องอาบัติทุกกฏ

ชีวิตของบรรพชิตท่านยังมีกิจ และฆราวาสก็ยังต้องเพิ่มกิจมากกว่านั้นมากที เดียวตามวิสัยของฆราวาส แต่ไม่พ้นวิสัยของการที่จะเจริญสติ ถ้าพ้นวิสัย อุบาสกอุบาสิกาจะบรรลุมรรคผลนิพพานไม่ได้เลย แต่เพราะเหตุที่ไม่พ้นวิสัย อุบาสกอุบาสิกาจึงเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็บรรลุมรรคผลนิพพานได้

อีกตัวอย่างหนึ่งใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค นวกัมมิกสูตร ที่ ๗ (ข้อ ๗๐๕)

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ไพรสณฑ์แห่งหนึ่งในแคว้นโกศลสมัยหนึ่ง นวกัมมิกภารทวาชพราหมณ์ให้คนทำงานอยู่ในป่านั้น เขาได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งคู้บัลลังก์ตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติไว้เฉพาะหน้า ที่โคนสาลพฤกษ์แห่งหนึ่ง ครั้นเห็นแล้วเขามีความคิดว่า เราให้คนทำงานอยู่ในป่านี้จึงยินดี ส่วนพระสมณะนี้ให้คนทำอะไรอยู่จึงยินดี

ลำดับนั้น นวกัมมิกภารทวาชพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

ข้าแต่ท่านภิกษุ ท่านทำงานอะไรหรือ จึงอยู่ในป่าสาลพฤกษ์ พระโคดมอยู่ในป่าผู้เดียว ได้ความยินดีอะไร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เราไม่มีกรณียกิจในป่าดอก เพราะเราถอนรากเหง้าป่าอันเป็นข้าศึกเสียแล้ว เราไม่มีป่ากิเลส ปราศจากลูกศร คือ กิเลส ละความกระสันเสียแล้ว จึงยินดีอยู่ผู้เดียวในป่า

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้แล้ว นวกัมมิกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิดไว้ บอกทางแก่คนหลง ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจะมองเห็นรูปได้

ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับพระธรรม และ พระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ผู้ที่มีโชคดี คือ ได้พบพระผู้มีพระภาค แม้ว่าตนเองกำลังจะทำงานหรือว่าให้คนทำงานอยู่ในป่า จะเห็นได้ว่า คนที่อยู่ในป่านี้ไม่เหมือนกัน พระผู้มีพระภาคประทับนั่งขัดสมาธิ ดำรงพระสติเฉพาะหน้า แต่ว่านวกัมมิกภารทวาชพราหมณ์ทำงานอยู่ในป่า เวลาที่คนมีกิจการงานและมีความเพลิดเพลินยินดี ต้องการผลของงาน เพราะฉะนั้น ก็ทราบว่าที่ตนอยู่ในป่าในขณะนั้นมีความยินดีเพราะอะไร มีความยินดีเพราะได้ผลในการที่ให้คนทำงานให้ในป่า เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งขัดสมาธิอยู่ในป่านั้น ก็เกิดความสงสัยว่า พระสมณะนี้ให้คนทำอะไรอยู่จึงยินดี

นี่เป็นความคิดของคนโลภ คนโลภนั้นต้องมีผลตอบแทนที่เห็นจากการงาน จึงจะเกิดความยินดี เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งขัดสมาธิ ก็ไม่เข้าใจว่า อะไรเป็นความยินดีที่ทำให้พระผู้มีพระภาคประทับนั่งคู้บัลลังก์อยู่ในป่านั้นได้ เพราะฉะนั้น คนอยู่ในป่าไม่เหมือนกัน เพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

พระองค์ไม่มีกรณียกิจในป่า เพราะพระองค์ถอนรากเหง้าป่าอันเป็นข้าศึกเสียแล้ว ไม่มีป่ากิเลส ปราศจากลูกศร คือ กิเลส ละความกระสันเสียแล้ว จึงยินดีอยู่ผู้เดียวในป่า

พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ทรงยินดีการอยู่ป่า เพราะพระองค์ไม่ทรงมีกิเลสเลย ไม่ ใช่อยู่ด้วยความหวัง แต่คนอื่นเข้าไปในป่าด้วยความหวังหรือเปล่า ผู้ที่จะกระทำกิจการงานในป่าก็เข้าไปในป่าด้วยความหวัง คือ การที่จะกระทำการงานในป่า ส่วนบุคคลอื่นที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังมีความหวังอย่างอื่น อาจจะไม่ใช่ความหวังในการงานก็ตาม แต่เข้าไปในป่าเพราะหวังอย่างอื่นได้ไหม

ที่อยู่ป่ากันนี้ อยู่ด้วยความหวัง หวังต้องการอะไรสักอย่างหนึ่งจึงได้ไป หวังความสงบหรือว่าหวังอะไรก็แล้วแต่ นั่นก็ยังคงเป็นความหวัง แม้ว่าความหวังนั้นจะต่างกัน ไม่ใช่หวังกิจการงานอย่างนั้นก็ตาม แต่ว่าไม่ใช่อัธยาศัยจริงๆ ของผู้นั้น ที่ทำไปเพียงด้วยความหวังที่จะได้ผล

การเจริญสตินั้นเพื่อการรู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดขึ้นแก่ตน ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่แต่ละคนได้สะสมมา ไม่ใช่ไปเปลี่ยนหรือว่าไปบังคับ หรือว่าไปด้วยความหวัง แต่ไม่ใช่อัธยาศัยจริงๆ ของผู้นั้น เพราะเหตุว่าไปด้วยความหวังและความหวังนั้นก็บังไว้ ทำให้ไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่เป็นปกติ

เรื่องกิจการงาน กัมมปลิโพธคิดว่าจะเป็นเครื่องขัดขวางการเจริญสติไหม เกิดมาแล้วก็ต้องมีการงานกันทุกท่าน ไม่ใช่แต่เฉพาะการอาชีพ หลังจากการประกอบอาชีพกลับไปบ้าน ก็ดูได้ว่ามีกิจอะไรบ้างที่จะต้องกระทำกันเป็นชีวิตจริงๆ ของแต่ละคน


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 53

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 54

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 55


หัวข้อที่เกี่ยวข้อง ...

เรื่องของปลิโพธ ความกังวล ความห่วงใย


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ