เวลาที่เราเห็นรูป จะมนสิการอย่างไร เป็นเห็นๆ อยู่เรื่อยๆ

 
สารธรรม
วันที่  12 ก.ย. 2565
หมายเลข  43805
อ่าน  264

. ผมได้ฟังท่านอาจารย์บรรยายเรื่องการเจริญสติปัฏฐานมาหลายครั้งแล้ว ใคร่ถามอาจารย์ว่า เวลาที่เราเห็นรูป เรารู้แล้วว่า เรามีสติ แต่เห็นอยู่เรื่อยๆ เราจะมนสิการอย่างไร เป็นเห็นๆ อยู่เรื่อยๆ คล้ายจะเป็นภาวนาไป

สุ. การเห็นมีอยู่ตลอดเวลา แต่ขณะใดหลงลืมสติ ก็ไม่ได้พิจารณาสภาพที่เห็นและสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ขณะใดที่มีสติมีการระลึกได้ก็รู้

เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานอยากจะให้ใช้คำว่ารู้ เพราะเหตุว่าเป็นการเจริญปัญญา รู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้เป็นแต่เพียงของจริงที่ปรากฏให้รู้ได้เฉพาะทางตาเท่านั้น การระลึกอย่างนี้เพื่ออะไร เพื่อละความถือมั่น เพื่อละการติด เพื่อละการเพลิดเพลินไปในนิมิตในอนุพยัญชนะ และเพื่อให้ความรู้นั้นเจริญขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งไม่ว่าจะเห็นขณะใด เวลาที่สติระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ก็รู้ว่าลักษณะนี้เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

จุดประสงค์ของการเจริญสตินั้น เพื่อปัญญารู้ถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏ และสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏไม่ใช่มีแต่เฉพาะทางตา ทางหูก็มี ทางจมูกก็มี ทางลิ้นก็มี ทางกายก็มี ทางใจก็มี

ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพรู้ทางตา ถ้าหลับตาแล้วไม่เห็น ซึ่งไม่ใช่การรู้เรื่อง ไม่ใช่การคิดนึก เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นแล้วทราบว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ผู้ที่เจริญสติพิจารณา หรือว่าระลึกว่า การที่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ไม่ใช่หยุดสติหรือปัญญาให้รู้แต่เพียงเฉพาะอย่างเดียว นั่นไม่ใช่การเจริญปัญญา

ทางหู เสียงก็เป็นของจริง ได้ยินก็เป็นของจริง ไม่เหมือนกับเห็นเลย ไม่ใช่การคิดนึก ความสุข ความทุกข์ต่างๆ ด้วย การได้ยินเป็นนามธรรม เกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น แต่เพราะความรวดเร็ว เพราะความไม่รู้ เพราะการไม่เจริญสติ เพราะปัญญาไม่เจริญขึ้น ไม่พิจารณาโดยทั่ว เพราะฉะนั้น ความเห็นว่าเป็นตัวตนก็ต้องมี ท่านผู้ฟังรู้ลักษณะของนามและรูปชัดเจนหรือยัง

ก็เพียงขั้นเข้าใจโดยการฟังเข้าใจ แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ต้องแยกกัน ความรู้ขั้นการฟัง ขั้นการพิจารณา กับความรู้ขั้นที่เกิดพร้อมสติระลึกรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ ก็ไม่เหมือนกัน

. (ไม่ได้ยิน)

สุ. จะให้มีกฎเกณฑ์ไม่ได้ เพราะเป็นอนัตตา ฟังแล้วก็ทราบว่าสภาพที่กำลังเห็นนี้ไม่ใช่สภาพเดียวกับนามธรรมที่คิด คิดมีจริงไหม คิดไม่ใช่เห็น ท่านผู้ฟังกล่าวว่า เวลาเห็น เวลาได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส สัมผัส ทั้ง ๕ ทางนี้ อดคิดไม่ได้

ทุกท่านรับรองว่า จริง เห็นมีจริง สีมีจริง ได้ยินมีจริง เสียงมีจริง รู้กลิ่นมีจริง กลิ่นมีจริง รู้รสมีจริง รสมีจริง รู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็งมีจริง เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง ไหวมีจริง คิดนึกมีจริง ของจริงทั้งนั้น

ใครรู้ว่า เป็นของจริง ใครรู้ว่า คิดไม่ใช่เห็น คิดไม่ใช่ได้ยิน คิดไม่ใช่รู้กลิ่น คิดไม่ใช่รู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส ใครรู้

ผู้เจริญสติรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามและรูปแต่ละทาง ไม่อย่างนั้นไม่ชื่อว่าเจริญปัญญา ไม่ชื่อว่าเจริญสติ เพราะเหตุว่าถ้าเจริญสติก็ต้องมีสิ่งที่สติกำลังระลึกรู้ เป็นของจริง แล้วแต่ว่าสภาพนั้นเป็นรูป สติก็รู้ลักษณะนั้น ปัญญาก็พิจารณา ไม่ไปปนกับนามธรรม

เห็นไม่ปนกับสี ได้ยินไม่ปนกับเสียง รู้กลิ่นไม่ปนกับกลิ่น ทั้งหมดนามและรูปทุกชนิด เจริญปัญญาเพื่อรู้ชัดในลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ใช่บังคับ ไม่ใช่ห้าม ไม่ใช่บอกให้คิดอย่างนั้นให้คิดอย่างนี้ ใครบังคับบัญชาแม้ความคิดนึกของตัวเองได้บ้าง แต่เจริญสติได้ รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามและรูปได้ ไม่ใช่บังคับ ไม่ใช่ให้มีแบบที่ตามไปเหมือนกันหมด นั่นไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่การละ แต่เป็นการไม่รู้จึงได้สร้างแบบ จึงได้สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นด้วยความไม่รู้ ไม่ใช่ด้วยความรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 56


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ