ภิกษุผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์

 
สารธรรม
วันที่  13 ก.ย. 2565
หมายเลข  43822
อ่าน  425

(ญาติปลิโพธ)

พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ มีข้อความว่า

ภิกษุผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ อันพระอุปัชฌายะว่ากล่าวอยู่โดยชอบธรรม ได้ยกวาทะของท่านพระอุปัชฌายะ แล้วเข้าไปสู่ลัทธิเดียรถีย์นั้นดังเดิม แล้วกลับมาขออุปสมบทต่อภิกษุทั้งหลายอีกนั้น ไม่พึงอุปสมบทให้ แม้ผู้อื่นที่เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ พึงให้ปริวาส ๔ เดือนแก่เธอ (คือ การที่จะต้องดูความประพฤติปฏิบัติของผู้นั้นว่า สมควรแก่การที่จะอุปสมบทในพระธรรมวินัยหรือไม่ ไม่ใช่ว่าเมื่อมาขออุปสมบท ก็ให้อุปสมบททันที)

วิธีให้ปริวาส และข้อปฏิบัติที่มิให้สงฆ์ยินดี ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็จะไม่ให้อุปสมบทในธรรมวินัยนั้น มีดังนี้คือ

ประการที่ ๑ กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ในพระธรรมวินัยนี้ เข้าบ้านเช้าเกินไป กลับสายเกินไป

ประการที่ ๒ มีหญิงแพศยาเป็นโคจร มีหญิงหม้ายเป็นโคจร เป็นต้น

ประการที่ ๓ กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ขยัน เกียจคร้านในการงานน้อยใหญ่ของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ไม่ประกอบด้วยปัญญา พิจารณาสอดส่องในการนั้น ไม่อาจทำ ไม่อาจจัดการ แม้เช่นนี้ก็ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดี

ประการที่ ๔ กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่สนใจในการเรียนบาลี ในการเรียนอรรถกถา ในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เป็นต้น

ประการที่ ๕ กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ในพระธรรมวินัยนี้ หลีกมาจากสำนักเดียรถีย์แห่งครูคนใด เมื่อมีผู้กล่าวติครูคนนั้น ติความเห็นของครูคนนั้น ความชอบใจ ความพอใจ และความยึดถือของครูคนนั้น ก็ยังโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ เมื่อมีผู้กล่าวติพระพุทธเจ้า พระธรรม หรือพระสงฆ์ กลับพอใจ ร่าเริง ชอบใจ ก็หรือตนหลีกมาจากสำนักเดียรถีย์แห่งครูคนใด เมื่อมีผู้กล่าวสรรเสริญครูคนนั้น สรรเสริญความเห็น ความชอบใจ ความพอใจ และความยึดถือของครูคนนั้น ย่อมพอใจ ร่าเริง ชอบใจ เมื่อมีผู้กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า พระธรรม หรือพระสงฆ์ กลับโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ

ข้อนี้เป็นเครื่องสอบสวนในความปฏิบัติที่ไม่ชวนให้สงฆ์ยินดี แห่งกุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ กุลบุตรผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ปฏิบัติมิให้สงฆ์ยินดีเช่นนี้แล มาแล้ว ไม่พึงอุปสมบทให้

ส่วนข้อปฏิบัติที่ให้สงฆ์ยินดีนั้น ก็โดยนัยตรงกันข้าม ต่อไปมีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ชฎิลผู้บูชาไฟเหล่านั้นมาแล้ว พึงอุปสมบทให้ ไม่ต้องให้ปริวาสแก่พวกเธอ ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะชฎิลเหล่านั้นเป็นกรรมวาที กิริยวาที

ข้อความต่อไปมีความว่า

ถ้าศากยะโดยกำเนิด เคยเป็นอัญญเดียรถีย์มา เธอมาแล้ว พึงอุปสมบทให้ ไม่ต้องให้ปริวาสแก่เธอ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราให้บริหารข้อนี้เป็นส่วนพิเศษเฉพาะหมู่ญาติ

ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงสงเคราะห์พระญาติเลย จะเป็นที่ติหรือจะเป็นที่สรรเสริญ การสงเคราะห์เป็นบุญเป็นกุศล ถึงแม้ว่าจะสงเคราะห์ญาติ ก็ไม่ใช่ว่าจะสงเคราะห์ด้วยความผูกพันในบุคคลเหล่านั้นด้วยอกุศลจิต ไม่ใช่ด้วยโลภะ แต่ว่าด้วยความเมตตา โดยฐานะที่ควรแก่ความเป็นญาติ ไม่ใช่เพราะฉันทาคติ ไม่ใช่เพราะโทสาคติ ไม่ใช่เพราะโมหาคติ ไม่ใช่เพราะภยาคติ

การสงเคราะห์ต้องมี ถ้าจะสงเคราะห์แต่ผู้อื่น ไม่สงเคราะห์ญาติ จะเป็นที่ติเตียนหรือจะเป็นที่สรรเสริญ


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา 59


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ