การศึกษา การฟังธรรมไม่กั้นการเจริญสติปัฏฐาน

 
สารธรรม
วันที่  14 ก.ย. 2565
หมายเลข  43843
อ่าน  307

(คันธปลิโพธ)

ขอกล่าวถึงตัวอย่างในพระไตรปิฎกที่แสดงให้เห็นว่า การศึกษา การฟังธรรมไม่กั้นการเจริญสติปัฏฐาน ไม่กั้นการรู้แจ้งอริยสัจธรรม

สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ทุติยวรรคที่ ๒ ติงสมัตตาสูตร ข้อ ๔๔๕ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นภิกษุชาวเมืองปาวาประมาณ ๓๐ รูป ทั้งหมดล้วนแต่เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือทรงผ้าไตรจีวรเป็นวัตร แต่ทั้งหมดล้วนยังเป็นผู้มีสังโยชน์อยู่

ภิกษุชาวเมืองปาวาประมาณ ๓๐ รูปนั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า ภิกษุชาวปาวาประมาณ ๓๐ รูปเหล่านี้ ทั้งหมดล้วนแต่เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือทรงผ้าไตรจีวรเป็นวัตร แต่ทั้งหมดล้วนยังเป็นผู้มีสังโยชน์อยู่ ถ้ากระไรพระองค์พึงแสดงธรรม เพื่อให้ภิกษุเหล่านี้พ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น ณ อาสนะนี้ทีเดียว

พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุเหล่านั้นถึงสังสาระที่กำหนดไม่ได้ว่า โลหิตที่หลั่งออกของพวกภิกษุผู้ที่ท่องเที่ยวไปมา ซึ่งถูกตัดศีรษะโดยกาลนานนี้ กับน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ สิ่งไหนจะมากกว่ากัน

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า

ท่านทั้งหลายเหล่านั้นย่อมทราบธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่าโลหิตที่หลั่งไหลออกซึ่งถูกตัดศีรษะโดยกาลนานนี้แหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปถึงเมื่อครั้งที่ภิกษุทั้งหลายนั้นเกิดเป็นโค เกิดเป็นกระบือ เกิดเป็นแกะ เกิดเป็นแพะ เกิดเป็นเนื้อ เกิดเป็นสุกร เกิดเป็นไก่ แล้วเมื่อถูกจับตัดศีรษะโดยข้อหาว่า เป็นโจรฆ่าชาวบ้าน ถูกจับตัดศีรษะโดยข้อหาว่า เป็นโจรดักปล้น โดยข้อหาว่า เป็นโจรประพฤติผิดในภรรยาของผู้อื่น ตลอดกาลนาน โลหิตที่หลั่งไหลออกนั่นแหละมากกว่า น้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสังสาระนี้ กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ (เมื่อเหล่าสัตว์ผู้ยังมีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ย่อมท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุด เบื้องต้น เบื้องปลาย ย่อมไม่ปรากฏ) ฯลฯ พอเพื่อจะหลุดพ้นดังนี้

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างพอใจชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของภิกษุชาวเมืองปาวาประมาณ ๓๐ รูป พ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น

เป็นเหตุการณ์ธรรมดาในครั้งโน้น บรรดาพระภิกษุชาวเมืองปาวา ไม่ใช่ว่าท่าน จะไม่เจริญสติปัฏฐาน ท่านต้องเจริญสติปัฏฐานแน่ ด้วยชีวิตแบบบรรพชิตที่อยู่ป่าเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือทรงผ้าไตรจีวรเป็นวัตร นี่เป็นการขัดเกลาของภิกษุชาวเมืองปาวา ซึ่งแต่ละท่านก็แล้วแต่อัธยาศัย ภิกษุบางท่านก็ไม่รักษาธุดงค์ หรือว่าอาจจะรักษาธุดงค์บางข้อ ไม่ใช่รักษาทั้งหมด แต่ว่าภิกษุทั้งหลายก็เจริญสติปัฏฐาน พิจารณานามและรูปที่ปรากฏกับท่านเป็นปกติธรรมดาในวันหนึ่งๆ เช่นเดียวกับอุบาสก อุบาสิกาที่เจริญสติปัฏฐาน ก็เจริญสติปัฏฐานในเพศของอุบาสกอุบาสิกา แล้วแต่ว่าท่านผู้ใดจะรักษาศีล ๕ หรือรักษาศีล ๘ โดยกาล โดยสมัย เช่นในวันอุโบสถ เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าพระภิกษุชาวปาวาประมาณ ๓๐ รูปนั้นจะได้ขัดเกลากิเลสของท่าน ด้วยการที่นอกจากจะเป็นบรรพชิตแล้ว ก็ยังอยู่ป่าเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือทรงผ้าไตรจีวรเป็นวัตร แต่ทั้งหมด ล้วนยังเป็นผู้ยังมีสังโยชน์อยู่

แสดงให้เห็นว่า การที่จะละคลายการยึดถือนามรูปว่า เป็นตัวตนนั้น ไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้โดยการไม่อบรม ไม่เจริญเนืองๆ บ่อยๆ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นภิกษุที่อยู่ป่า รักษาธุดงค์ พิจารณาลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏแก่ท่านเนืองๆ แล้ว การที่จะละคลายการยึดถือนามรูปที่ปรากฏว่าเป็นตัวตน แม้ในขณะที่กำลังพิจารณานั้นก็แสนยาก เป็นการอบรมปัญญาที่จะต้องสมบูรณ์ขึ้นเป็นขั้นๆ ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปทางตา หรือทางหูในขณะนี้ ท่านที่เคยเจริญสติแล้วก็ระลึกรู้ได้ แต่ไม่ละ ยังไม่คลาย เพราะเหตุว่าปัญญายังไม่สมบูรณ์ถึงขั้นที่จะละ

ด้วยเหตุนี้พระธรรมของพระผู้มีพระภาค จึงมีประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าปัญญาของผู้นั้นจะสมบรูณ์ถึงขั้นไหน ระดับไหนแล้ว พระธรรมก็ยังอุปการะอนุเคราะห์เกื้อกูลในขณะนั้นที่จะให้น้อมพิจารณา แล้วก็ละคลายการยึดมั่นถือมั่นได้

จะเห็นได้จากตัวอย่างในพระไตรปิฎกว่า เป็นเหตุการณ์ปกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน เมื่อฟังธรรม เข้าใจธรรมแล้ว ก็เจริญสติปัฏฐาน และเมื่อเจริญสติปัฏฐานก็ไม่ใช่ว่าจะต้องทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดผิดไปจากชีวิตปกติ ก็ยังฟังธรรมอยู่นั่นเอง แล้วการบรรลุอริยสัจธรรมนั้นก็ไม่ใช่ผิดไปจากชีวิตปกติ คือ สามารถที่จะบรรลุธรรมได้ แม้ในขณะที่กำลังฟังธรรมตามปกติ ถ้าไม่เคยฟังเรื่องการเจริญสติเลย มีการให้ทาน มีการรักษาศีล อาจทำให้จิตใจสงบ แต่ยังไม่เคยระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏ แต่เมื่อฟังแล้ว วันหนึ่งๆ มีการระลึกรู้ลักษณะที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจบ้างไหม ถ้าฟังแล้วเข้าใจถูกรู้ว่า สติเป็นสภาพที่ระลึกขึ้นได้ แล้วก็รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ มีการพิจารณาสภาพธรรม แล้วปัญญาก็เริ่มรู้ทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะชัด แต่ว่าข้อสำคัญที่สุดคือว่า อย่าให้คลาดเคลื่อน

กำลังเห็นขณะนี้ระลึกได้ อย่าทำอะไรให้คลาดเคลื่อน กำลังได้ยิน สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่รู้ทางหูว่า เป็นสภาพรู้ หรือระลึกรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางหูในขณะนี้ก็เป็นเพียงของจริงชนิดหนึ่ง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ไม่ใช่สี ไม่ใช่เย็น ไม่ใช่ร้อน เพราะฉะนั้น ถ้าวันหนึ่งๆ ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏ ก็จะไม่มีลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่จะพึงยึดถือ เข้าใจผิดว่าเป็นตัวตนได้เลย แต่ต้องพิจารณามากและละเอียดขึ้นด้วย

ไม่ว่าจะเป็นโลภะ ความชอบใจ ก็เกิดขึ้นนิดเดียว โทสะก็เกิดขึ้นนิดเดียว แล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้น จะยึดถือโลภะว่าเป็นตัวตนไม่ได้ เพราะเหตุว่าหมดไปแล้ว จะยึดถือโทสะที่เกิดขึ้นว่าเป็นตัวตนก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าหมดแล้ว จะยึดถือที่กำลังเห็นในขณะนี้ว่าเป็นตัวตนก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าหมดแล้ว จึงได้มีการได้ยินเกิดขึ้น หรือว่ามีนามรูปอื่นๆ ปรากฏได้

อย่าคิดว่าการรู้ลักษณะของนามและรูปนั้นผิดไปจากปกติในขณะนี้ ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดคิดอย่างนี้ ก็ย่อมแสวงหาพยายามที่จะให้ได้พบสิ่งที่ผิดปกติ เป็นตัวตนที่กำลังพยายามทำให้เห็นให้รู้สิ่งที่ผิดปกติ และการรู้การเห็นสิ่งที่ผิดปกตินั้น ไม่สามารถที่จะละการยึดถือในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยินตามปกติว่า ไม่ใช่ตัวตนได้ ลองหลับตา เพราะเหตุว่าเวลาลืมตาแล้ว การผูก การเชื่อมการโยงนามรูปทางตาไว้ว่า เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้ เป็นตัวตน เป็นสัตว์บุคคล แต่ถ้าลองหลับตา สิ่งที่ปรากฏเหลือน้อยมาก ถ้าหลับตาแล้ว ศาลาทั้งหลังนี้ยังมีโต๊ะ เก้าอี้ ผู้คนมากหน้าหลายตาไหม แต่ว่าความเป็นตัวตนที่เคยยึดถือ ยังคิดในใจว่ามี ยังมีคนมากมาย ยังมีโต๊ะ ยังมีเก้าอี้ เมื่อหลับตาแล้วสิ่งนี้ไม่ปรากฏ ก็ต้องไม่ปรากฏ จึงจะละการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 65

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง ...

คันถปลิโพธ ได้แก่ ความกังวลในการศึกษา

เรื่องของปลิโพธ ความกังวล ความห่วงใย


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ