ธรรมที่มีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ คือ ความเพียร

 
สารธรรม
วันที่  14 ก.ย. 2565
หมายเลข  43847
อ่าน  267

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

การบรรลุสัจจะ ย่อมมีได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลย่อมบรรลุสัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ แล้วเราย่อมบัญญัติการบรรลุสัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้

ซึ่งกาปทิกมาณพก็ได้กราบทูลถามถึงธรรมมีอุปการะมาก แก่การบรรลุสัจจะว่ามีอะไรบ้าง พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ธรรมที่มีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ คือ ความเพียร

สุ. วันนี้เพียรบ้างหรือไม่

. เพียรบ้าง ไม่เพียรบ้าง

สุ เพราะฉะนั้น เมื่อระลึกขึ้นได้ในขณะใด เป็นลักษณะของสติ ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้ามีความเพียรที่จะระลึกรู้บ่อยๆ เนืองๆ ก็จะเป็นธรรมที่มีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ

กาปทิกมาณพก็ได้กราบทูลถามต่อไปว่า

ธรรมที่มีอุปการะมากแก่ความเพียร คือ อะไร

พระผู้มีพระภาคก็ตรัสตอบว่า

ปัญญาเครื่องพิจารณา เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ความเพียร

ไม่มีปัญญาจะเพียรถูกไหม ก็ไม่ถูก ไปเพียรทำอย่างอื่นเสียอีกแล้ว ไม่ใช่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ปัญญาเครื่องพิจารณาก็เป็นธรรมที่มีอุปการะมากแก่ความเพียร

กาปทิกมาณพก็ได้ทูลถามต่อไปว่า

ธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณานั้น คืออะไร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ความอุตสาหะ ได้แก่ ความไม่ท้อถอย เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณา

ท้อใจบ้างหรือยัง เท่านั้นเอง ก็แค่นาม ทางตาระลึกขึ้นมาก็ขณะหนึ่ง ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ รูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซ้ำไปซ้ำมาวันหนึ่งๆ ก็เท่านั้นเอง ยังไม่เห็นถึงญาณขั้นไหนเลย ยังไม่เห็นประจักษ์การเกิดดับของนามและรูปเลย ยังไม่เห็นถึงพระนิพพานเลย เริ่มจะท้อถอยหรือยัง

กาปทิกมาณพก็ได้กราบทูลถามต่อไปว่า

อะไรเป็นธรรมที่มีอุปการะมากแก่ความอุตสาหะ

ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสตอบว่า

ฉันทะ เป็นธรรมมีอุปการะมาก

ฉันทะ คือ ความพอใจ แต่ก่อนนี้ท่านอาจจะมีฉันทะในเรื่องทางโลก ในการแสวงหาปัจจัย ในการที่จะได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นสิ่งสำคัญในชีวิต แต่ ถ้าท่านฟังธรรม มีฉันทะในการที่จะพิจารณารู้ลักษณะของนามและรูป ก็จะทำให้ไม่ท้อถอย

กาปทิกมาณพก็ได้กราบทูลถามต่อไปว่า

อะไรเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ฉันทะ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ธรรมที่ควรแก่การเพ่ง มีอุปการะมากแก่ฉันทะ

ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นลักษณะของนามและรูป แต่ว่าเคยมีฉันทะที่จะรู้ลักษณะไหม หรือว่ามีฉันทะในการที่จะยึดถือว่าเป็นตัวตน

กาปทิกมาณพก็ได้กราบทูลถามต่อไปว่า

อะไรเป็นธรรมมีอุปการะมาก แก่ธรรมที่ควรแก่การเพ่ง

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ปัญญาใคร่ครวญเนื้อความ เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ธรรมที่ควรแก่การเพ่ง

กาปทิกมาณพ กราบทูลถามต่อไปว่า

อะไรเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาใคร่ครวญเนื้อความ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

การทรงจำธรรมไว้ เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาใคร่ครวญเนื้อความ

กาปทิกมาณพกราบทูลถามว่า

ธรรมอะไรมีอุปการะมากแก่การทรงจำธรรมไว้

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

การฟังธรรม เป็นธรรมที่มีอุปการะมากแก่การทรงจำธรรมไว้

กาปทิกมาณพกราบทูลถามว่า

อะไร เป็นธรรมมีอุปการะมาก แก่การฟังธรรม

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

การเงี่ยโสตลง เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การฟังธรรม

กาปทิกมาณพกราบทูลถามว่า

อะไรเป็นธรรมที่อุปการะมากแก่การเงี่ยโสตลง

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

การเข้าไปนั่งใกล้ เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การเงี่ยโสตลง

กาปทิกมาณพกราบทูลถามว่า

อะไรเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

การเข้าไปหา เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้

กาปทิกมาณพกราบทูลถามว่า

อะไรเป็นธรรมที่มีอุปการะมากแก่การเข้าไปหา

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ศรัทธา เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปหา

ทุกท่านที่มาที่นี่เป็นผู้มีศรัทธาที่จะฟัง เป็นผู้มีศรัทธาที่จะเข้าไปหา เข้าไปนั่งใกล้ และเมื่อฟังธรรมก็ทรงจำธรรมไว้ แล้วก็มีปัญญาใคร่ครวญเนื้อความธรรมที่ได้ทรงจำไว้ แล้วก็รู้ว่าธรรมใดเป็นธรรมที่ควรแก่การเพ่ง เมื่อรู้ ก็มีฉันทะในการที่จะพิจารณาธรรมนั้น ก็ย่อมไม่ท้อถอย เจริญสติ เสพจนคุ้น วันหนึ่งก็ต้องมีการบรรลุสัจธรรมได้

กาปทิกมาณพกราบทูลว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระองค์กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญ โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

หวังว่าทุกท่านก็คงจะถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะตลอดชีวิต ไม่ใช่ถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใด เพราะเหตุว่าถ้าเป็นบุคคลที่รู้ตรงรู้แจ้งธรรม ก็อยู่ในข้อที่ท่านถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระอริยสงฆ์นั่นเองเป็นสรณะ

เวลานี้มีธรรมที่ควรแก่การเพ่งไหม สิ่งที่มีเป็นของจริง เป็นปกติธรรมดาจริงๆ กำลังเห็นในขณะนี้ จริงแน่ๆ เกิดดับจริงๆ ของจริงมีให้รู้ได้ ๖ ทาง ไม่ว่าจะเป็นของจริงทางตาที่เกิดขึ้นปรากฏแล้วเพราะเหตุปัจจัย ก็ควรระลึกรู้ลักษณะนั้นตามความเป็นจริง ถ้าเป็นเสียงก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งปรากฏทางหู ถ้าเป็นกลิ่นก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่ปรากฏทางจมูก ถ้าเป็นความสุขความทุกข์ สติระลึกรู้ว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสภาพรู้สึกเป็นสุขบ้าง รู้สึกเป็นทุกข์บ้าง

และการที่จะรู้เช่นนั้นได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อสติระลึกรู้ทีละลักษณะ ทางตา มีทั้งนามมีทั้งรูป ถ้าไม่พิจารณาจะรู้ไหมว่า ลักษณะของนามนั้นเป็นอย่างไร ทางหู มีทั้งนามทั้งรูป แต่ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของนาม จะรู้ไหมว่าลักษณะใดเป็นนาม ลักษณะใดเป็นรูป นามที่ได้ยินกับเสียงก็ปนกัน เมื่อรวมกันก็เป็นสัตว์เป็นบุคคล เพราะเหตุว่าปัญญาไม่ได้รู้ชัดในลักษณะของนามในลักษณะของรูป ไม่ใช่ว่ายังไม่พิจารณา ไม่ใช่ว่าสติไม่ได้ระลึกรู้ ก็กล่าวว่ารู้แล้ว แต่ที่จะรู้ได้มากขึ้น เพราะสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปบ่อยขึ้น มากขึ้น


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 67


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ