การเจริญสติ ดูขันธ์ ๕ บ่อยๆ ไม่ใช่ตัวตนนั้นเจริญอย่างไร

 
สารธรรม
วันที่  14 ก.ย. 2565
หมายเลข  43848
อ่าน  272

. ช่วยอธิบายให้ชัดในการเจริญสติ ดูขันธ์ ๕ บ่อยๆ ไม่ใช่ตัวตนนั้นเจริญอย่างไร เช่น มีเสียงมาว่าเรา ในขณะนั้นจะให้มีสติอย่างไร

สุ. ถ้าเข้าใจการเจริญสติถูกต้องแล้ว ไม่ว่าจะว่าดี ว่าร้ายอย่างไร ก็ควรเจริญสติทั้งนั้น ไม่ว่าจะเห็นดี เห็นร้ายอย่างไร ก็ควรระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะได้กลิ่นดี กลิ่นร้ายอย่างไร ก็ควรมีสติระลึกถึงสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น ผู้เจริญสติต้องเจริญปัญญารู้ว่า ขณะที่หลงลืมสติเป็นอย่างไร และขณะที่กำลังมีสติเกิดขึ้น คือ ขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ พูดง่ายๆ สั้นๆ แต่คงทำยาก เพราะเหตุว่าต้องอาศัยความเข้าใจจริงๆ ต้องรู้ด้วยว่า ขณะที่หลงลืมสติเป็นอย่างไร

วันหนึ่งๆ เหมือนเก่าเหมือนเดิมก็เป็นหลงลืมสติ แต่ถ้าขณะใด ฟังเข้าใจระลึกได้ เมื่อระลึกได้ แล้วแต่สติจะระลึกรู้ทางตา หรือทางหูก็ได้ ไม่ใช่ว่าจำกัดจะต้องระลึกเฉพาะทางหนึ่งทางใด เป็นต้นว่าเวลาที่เสียงปรากฏจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นรูป ไม่ใช่นาม เพราะว่าในขณะที่เสียงปรากฏ ได้ยินมี ไม่ใช่ได้ยินไม่มี ถ้าได้ยินไม่มี เสียงก็ไม่ปรากฏ

เวลาที่เสียงปรากฏ หมายความว่า มีเสียง มีได้ยิน แต่ปัญญาจะต้องรู้ชัดว่า ลักษณะใดเป็นเสียง ลักษณะใดเป็นได้ยิน ถ้าไม่เคยคิดที่จะเจริญสติเพื่อจะรู้ วันไหนๆ ก็ไม่มีวันจะรู้ แต่ถ้าทราบว่า การไม่รู้เป็นอวิชชา เป็นวิจิกิจฉา ยังสงสัยอยู่ เมื่อสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามที่กำลังได้ยิน หรือว่าไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของเสียงที่กำลังปรากฏ ถ้าสติไม่เกิดขึ้นในขณะนั้นก็ยังคงสงสัยว่า ได้ยินต่างกับเสียงอย่างไร ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่จะถ่ายถอนความสงสัยอันนี้ออกไปได้ นอกจากตนเองจะมีสติระลึกรู้ลักษณะของนามและของรูปทางหู

เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยิน หรือว่ามีเสียงปรากฏ กำลังได้ยินตามปกติ ไม่ต้องทำอะไรให้ผิดปกติเลย แต่เริ่มใส่ใจที่จะสำเหนียกว่า ลักษณะนี้เป็นสภาพรู้ทางหู

คำว่า นาม หรือ นามะ หมายความถึงสภาพรู้ ไม่ต้องใส่ชื่อ หรือ ไม่ต้องบอกว่ากำลังพิจารณานาม หรือไม่ต้องนึกว่า กำลังพิจารณานามได้ยิน หรือ ไม่ต้องนึกว่า ที่กำลังได้ยินนี้เป็นนามชนิดหนึ่ง ใครจะนึกขึ้นมาในขณะนั้น ก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่นึกคิดขึ้น เพราะมีเหตุปัจจัยให้ระลึกเช่นนั้น แต่ผู้เจริญสติ ต้องเจริญปัญญารู้ว่า ได้ยินไม่ใช่คิด ไม่ใช่นึก และได้ยินก็ไม่ใช่เสียงด้วย เพราะเหตุว่าได้ยินเป็นสภาพรู้ ส่วนเสียงในขณะที่เสียงปรากฏ รู้ว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ปรากฏทางหูเท่านั้น เสียงไม่ปรากฏทางตา เสียงไม่ปรากฏทางจมูก เสียงที่กำลังปรากฏ ปรากฏที่ไหนดับที่นั่น ต้องรู้นามรูปที่ปรากฏทางตาด้วย ทางหูด้วย ทางจมูกด้วย ทางลิ้นด้วย ทางกายด้วย ทางใจด้วย จนกว่าจะหมดความสงสัย จนกว่าจะหมดการยึดถือสภาพนั้นๆ ว่าเป็นตัวตน ด้วยการรู้ชัดในลักษณะของแต่ละนามแต่ละรูปมากขึ้น

เป็นต้นว่า ทางตา ถ้าผู้ใดไม่เคยระลึกได้เลยว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นแต่เพียงสภาพรู้ทางตาเท่านั้น เท่านั้นจริงๆ ที่รู้ว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ นั้น เป็นความคิด เป็นสภาพรู้อีกชนิดหนึ่งทางใจ ไม่ใช่ทางตา

การที่จะรู้ชัด ต้องหมายความว่า สติระลึกรู้ในขณะที่กำลังเห็นบ่อยๆ ว่าที่ กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ทางตา ถ้ารู้เนืองๆ บ่อยๆ อย่างนี้ เวลาที่รู้ความหมาย รู้ชื่อ รู้ว่าเป็นวัตถุสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็จะรู้ได้ว่าไม่ใช่สภาพเห็น

เพราะฉะนั้น จะต้องอาศัยสติระลึกรู้เนืองๆ บ่อยๆ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง โดยไม่คำนึงถึงผล ไม่ใช่ว่าเมื่อไรจะได้เป็นพระอริยบุคคล คิดอย่างนั้นไม่มีประโยชน์ แต่ตรงกันข้าม ประโยชน์เกิดที่ว่า เมื่อมีสติระลึกได้ ก็รู้ลักษณะของนามหรือรูปทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วผู้เจริญสติเองเป็นผู้ที่รู้ชัดว่า ได้พิจารณานามอะไรบ้าง ได้รู้ชัดในนามอะไรเพิ่มขึ้น มากขึ้นบ้าง เพราะเป็นปัญญาที่จะต้องเจริญขึ้นจริงๆ เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏแล้ว ที่จะให้ยังคงไม่รู้อยู่นั้น ไม่ใช่การเจริญปัญญา ไม่ใช่การละความสงสัย

ความจริง มีตามปกติเป็นประจำวันทุกๆ วัน ถ้าผู้ใดได้รู้ลักษณะของธรรมชาตินั้นตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมเป็นพระอริยบุคคลได้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 67


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ