ทรงระลึกถึงพระชาติที่เป็นมหาโควินทพราหมณ์
ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาโควินทสูตร มีข้อความว่า
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ปัญจสิกขเทพบุตรมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้กราบทูลให้ทรงทราบถึงเรื่องราว ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ว่า สนังกุมารพรหมสรรเสริญพระผู้มีพระภาคว่า พระผู้มีพระภาคเป็นผู้มีพระปัญญามาก มาสิ้นกาลนานเท่าใด
เพราะเหตุว่าพวกพรหมมีอายุยืนยาวมาก การกระทำใดๆ ที่คิดว่าจะเป็นความลับ ไม่มีในโลก ถึงมนุษย์ไม่รู้ คนอื่นไม่รู้ ตนเองก็รู้ นอกจากตนเองจะรู้แล้ว เทวดาทั้งหลายท่านก็ยังรู้ และโดยเฉพาะพวกพรหมที่มีอายุยืนยาวมาก ไม่ว่าสิ่งใดจะเกิดเป็นไปปรากฏในโลก ท่านย่อมสามารถทราบได้
เพราะฉะนั้น สนังกุมารพรหมจึงได้กล่าวสรรเสริญพระผู้มีพระภาคในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ว่า
พระผู้มีพระภาคเป็นผู้มีพระปัญญามาก มาสิ้นกาลนานเท่าใด
และปัญจสิกขเทพบุตรก็ได้กราบทูลว่า
สนังกุมารพรหมได้กล่าวถึงอดีตชาติของพระผู้มีพระภาค ในสมัยที่เป็นมหาโควินทพราหมณ์ผู้มีความรู้มาก มีปัญญามาก สอนกษัตริย์ ๗ พระองค์ บอกมนต์แก่พราหมณ์มหาศาล ๗ คนและเหล่าข้าราชบริพาร ๗๐๐ คน มีเกียรติศัพท์อันงามขจรไปว่า มหาโควินทพราหมณ์อาจเห็นพรหม อาจสนทนาปราศรัย ปรึกษากับพรหม แต่มหาโควินทพราหมณ์รู้ดีว่า ตนเองนั้นไม่ได้เห็นพรหม ไม่ได้สนทนาปราศรัย ไม่ได้ปรึกษากับพรหม แต่ก็ได้สดับข้อความนี้ต่อมาจากพราหมณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์พูดกันว่า
ผู้ใดหลีกเร้นอยู่ เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน ผู้นั้นย่อมเห็นพรหม ย่อมสนทนาปราศรัย ปรึกษากับพรหมได้
เพราะฉะนั้น มหาโควินทพราหมณ์ก็ดำริที่จะหลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน
ไม่ว่าใครจะสรรเสริญใครในลักษณะอย่างใด ความจริงก็ต้องเป็นความจริง แม้จะเห็นว่ามหาโควินทพราหมณ์เป็นผู้ที่มีปัญญา เป็นผู้สอนกษัตริย์ ๗ พระองค์ บอกมนต์แก่พราหมณ์มหาศาล ๗ คน และเหล่าข้าราชบริพารอีก ๗๐๐ คน เกียรติศัพท์ก็ขจรไปถึงกับว่า มหาโควินทพราหมณ์นั้นอาจเห็นพรหม อาจสนทนาปราศรัย ปรึกษากับพรหมได้
แต่ท่านโควินทพราหมณ์นั้นรู้ตนดีว่า ท่านไม่ได้เห็นพรหม และก็ไม่ได้ปราศรัย และไม่ได้ปรึกษากับพรหมด้วย
มหาโควินทพราหมณ์ได้ไปเฝ้ากษัตริย์ ๗ พระองค์ และพราหมณ์มหาศาลและข้าราชบริพาร ๗๐๐ แล้วก็กล่าวข้อความตามที่ตนดำริให้ทราบ คือจะเพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน แล้วมหาโควินทพราหมณ์ก็ได้เข้าไปหาภรรยา ๔๐ คน สั่งไม่ให้ภรรยาทั้ง ๔๐ คนนั้นไปหาตนเลย นอกจากคนนำอาหารไปให้เพียงคนเดียวเท่านั้น
ครั้งนั้น มหาโควินทพราหมณ์ได้สร้างสัณฐาคารใหม่ โดยทิศบูรพาแห่งนครแล้วหลีกเร้นอยู่ เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน ไม่มีใครไปหานอกจากคนนำอาหารไปให้ พอล่วง ๔ เดือนในวันนั้นนั่นเอง มหาโควินท-พราหมณ์มีความระอา ความท้อใจว่า ไม่ได้เห็นพรหม ไม่ได้สนทนาปราศรัยกับพรหม
นี่คือเจริญเหตุ เมื่อมีความต้องการอย่างหนึ่งอย่างใด ถึงแม้ว่าจะเพ่งกรุณาฌาน หรือจะเพ่งเมตตาพรหมวิหาร ก็ยังไม่ใช่การละ แต่เป็นการต้องการความสงบ เพราะฉะนั้น ก็ยังเป็นไปในวัฏฏะ เมื่อเป็นเช่นนี้ ถึงแม้ว่าจะเพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอดทั้ง ๔ เดือน กิเลสก็ไม่หมด จึงได้เกิดความระอา ความท้อใจขึ้น
ครั้งนั้น สนังกุมารพรหมทราบความคิดในใจของมหาโควินทพราหมณ์ก็ได้ไปหามหาโควินทพราหมณ์ แล้วมหาโควินทพราหมณ์ก็ได้ถามถึงประโยชน์ในชาติหน้าว่า ปฏิบัติอย่างไรจึงจะเข้าถึงพรหมโลก อันไม่ตาย
สนังกุมารพรหมก็ให้มหาโควินทพราหมณ์บวช เพื่อขัดเกลากิเลสทั้งปวง เพราะถ้ามีกิเลสมากก็เป็นเหตุให้เกิดทุจริตกรรม ซึ่งจะต้องไปอบายภูมิ แทนที่จะได้ไปพรหมโลก
นี่ก็เป็นอดีตชาติของพระผู้มีพระภาค ซึ่งพระองค์ได้พยายามบำเพ็ญพระบารมีขัดเกลากิเลส
เมื่อมหาโควินทพราหมณ์ได้ฟังดังนั้น ก็ได้ไปกราบทูลลากษัตริย์ทั้ง ๗ กษัตริย์ทั้ง ๗ ก็จะพระราชทานทรัพย์ให้มหาโควินท์แทนการออกบวช เพราะเหตุว่าธรรมดาพราหมณ์เหล่านี้มักโลภทรัพย์ ถ้าคนที่โลภทรัพย์ ให้ทรัพย์ ก็คงจะเลิกกระทำตามความคิดที่คิดว่าจะทำอะไรก็ได้ด้วยอำนาจของทรัพย์
เมื่อมหาโควินทพราหมณ์ปฏิเสธ กษัตริย์ทั้ง ๗ ก็จะพระราชทานหญิงให้ เพราะเหตุว่าธรรมดาพราหมณ์เหล่านี้มักโลภด้วยหญิง แต่มหาโควินทพราหมณ์ก็ได้กราบทูลยืนยันว่า จะละทรัพย์และภรรยาทั้ง ๔๐ คน ออกบวช กษัตริย์ทั้ง ๗ ก็ให้รอไปสัก ๗ ปี ซึ่งกษัตริย์ทั้ง ๗ นั้นก็จะบวชพร้อมกับมหาโควินทพราหมณ์ด้วย ถ้ามหาโควินทพราหมณ์รอได้ มหาโควินทพราหมณ์ก็กราบทูลว่า รอไม่ได้ เพราะใครจะรู้ว่า ชีวิตสัมปรายภพอันบุคคลต้องไป อันบัณฑิตควรกำหนดด้วยปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ สัตว์เกิดมาแล้วที่จะไม่ตายนั้น ไม่มี
เมื่อระลึกถึงความตายที่ไม่แน่นอน มหาโควินทพราหมณ์ก็เห็นว่า ๗ ปีนั้น ไม่สามารถรอได้ ซึ่งกษัตริย์ทั้ง ๗ ก็ขอให้รอ ๖ ปี มหาโควินทพราหมณ์ก็บอกว่านานไป รอไม่ได้ที่จะให้บวชพร้อมกับกษัตริย์ทั้ง ๗ นั้น กษัตริย์ทั้ง ๗ ก็ขอให้รอสัก ๕ ปี มหาโควินทพราหมณ์ก็บอกว่ารอไม่ได้ นานไป กษัตริย์ทั้ง ๗ ก็ขอให้รอ ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี มหาโควินทพราหมณ์ก็บอกว่ารอไม่ได้ ๑ ปีนั้นก็นานมาก ไม่มีใครทราบอายุ ชีวิต กษัตริย์ทั้ง ๗ ก็ขอให้รอ ๗ เดือน ๖ เดือน ๕ เดือน ๔ เดือน ๓ เดือน ๒ เดือน ๑ เดือน ครึ่งเดือน มหาโควินทพราหมณ์ก็กราบทูลว่า รอถึงครึ่งเดือนก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่มีใครรู้ชีวิต ไม่มีใครรู้สัมปรายภพ
กษัตริย์ทั้ง ๗ ก็ให้มหาโควินทพราหมณ์รอสัก ๗ วัน ซึ่งมหาโควินท- พราหมณ์ก็กราบทูลว่า ๗ วันนั้นก็ไม่นานนัก พอที่จะรอได้
เพราะฉะนั้น กษัตริย์ พราหมณ์ ข้าราชบริพาร ๗๐๐ พร้อมทั้งภรรยา พวกเจ้าอีกหลายพัน พราหมณ์หลายพัน คฤหบดีหลายพัน นางสนมหลายพัน ก็ได้ออกบวชตามมหาโควินท์พราหมณ์ ซึ่งมหาโควินทพราหมณ์ก็ได้สอนให้ท่านเหล่านั้นเจริญพรหมวิหาร คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
บรรดาสาวกเหล่านั้นเมื่อได้ฟัง แล้วก็เจริญพรหมวิหาร เข้าถึงสุคติบ้าง พรหมโลกบ้าง สวรรค์บ้าง จนกระทั่งถึงกำเนิดของคนธรรพ์ ซึ่งปัญจสิกขเทพบุตรก็ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ยังทรงระลึกถึงข้อนั้นได้อยู่หรือ
คือ ยังทรงระลึกถึงพระชาติที่เป็นมหาโควินทพราหมณ์ได้ไหม พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ปัญจสิกขะ เรายังระลึกได้อยู่ สมัยนั้นเราเป็นมหาโควินทพราหมณ์ เราแสดงพรหมจรรย์นั้นว่า เป็นหนทางแห่งความเป็นสหายของพรหมในพรหมโลก แก่สาวกทั้งหลาย ปัญจสิกขะ แต่ว่าพรหมจรรย์นั้นไม่เป็นไปเพื่อนิพพิทา วิราคะ นิโรธะ อุปสมะ อภิญญา สัมโพธะ นิพพาน ย่อมเป็นไปเพียงเพื่อพรหมโลก
ดูกร ปัญจสิกขะ ส่วนพรหมจรรย์ของเรานี้ย่อมเป็นไปเพื่อนิพพิทาโดยส่วนเดียว เพื่อวิราคะ นิโรธะ อุปสมะ อภิญญา สัมโพธะ นิพพาน
พรหมจรรย์เป็นไปเพื่อวิราคะ นิโรธะ อุปสมะ อภิญญา สัมโพธ นิพพาน นั้น เป็นไฉน คือ อัฏฐังคิกมรรค เป็นอริยะนี้เอง คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมา-สังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ก็บรรดาสาวกของเราที่รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน
บรรดาสาวกผู้ไม่รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด บางพวกเป็นอุปปาติกสัตว์ เพราะ สิ้นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ปรินิพพานในภพนั้น คือ ในพรหมโลก ไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา ก็มี บางพวกเป็นพระสกทาคามี เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ อย่าง เพราะราคะ โทสะ และโมหะเบาบาง กลับมายังโลกนี้ คือ กามโลก อีกเพียงครั้งเดียว แล้วจะทำที่สุดทุกข์ได้ ก็มี บางพวกเป็นพระโสดาบัน เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ อย่าง มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา มีอันจะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า ก็มี
ดูกร ปัญจสิกขะ ด้วยประการฉะนี้แล บรรพชาของกุลบุตรเหล่านี้ทั้งหมดเทียว ไม่เปล่า ไม่เป็นหมัน มีผล มีกำไร
นี่ทรงแสดงให้เห็นว่า ในข้อปฏิบัติที่เป็นไปในเรื่องของสมาธินั้น ไม่เป็นไป เพื่อนิพพิทา ไม่เป็นไปเพื่อวิราคะ นิโรธะ อุปสมะ อภิญญา สัมโพธะ นิพพาน ย่อมเป็นไปเพียงเพื่อพรหมโลก
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...