ภิกษุพึงเดินตามสบาย พึงยืนตามสบาย พึงนั่งตามสบาย ฯลฯ -69
ขอกล่าวถึงอังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต สีลสูตร ซึ่งมีข้อความเรื่องเดินตามสบาย นั่งตามสบาย นอนตามสบาย ยืนตามสบาย
อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต สีลสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ มีปาฏิโมกข์สมบูรณ์ จงเป็นผู้สำรวมในปาฏิโมกข์สังวร สมบูรณ์ด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษอันมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายมีศีลสมบูรณ์ มีปาฏิโมกข์สมบูรณ์ สำรวมในปาฏิโมกข์สังวร สมบูรณ์ด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษอันมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย กิจที่ควรทำยิ่งกว่านี้ จะพึงมีอะไรเล่า
ถ้าแม้ภิกษุกำลังเดินไป อภิชฌาไปปราศแล้ว พยาบาทไปปราศแล้ว ละถีนมิทธะได้แล้ว ละอุทธัจจะกุกกุจจะได้แล้ว ละวิจิกิจฉาได้แล้ว ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติมั่น ไม่หลงลืม มีกายสงบ ไม่ระส่ำระสาย มีจิตมั่นคง มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ภิกษุแม้เดินอยู่ เป็นอย่างนี้ เราเรียกว่า ผู้มีความเพียร มีโอตตัปปะ มีความเพียรอันปรารภแล้ว เป็นนิจนิรันดร์ มีใจเด็ดเดี่ยว
(ข้อความต่อไปเป็นเรื่องของการยืน การนั่ง การนอน ซึ่งไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดเวลา มีข้อความโดยนัยเดียวกันว่า)
ถ้าแม้ภิกษุยืนอยู่ นั่งอยู่ นอนตื่นอยู่ ก็มีสติมั่น ไม่หลงลืม มีกายสงบไม่ระส่ำระสาย มีจิตมั่นคง มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ภิกษุแม้ยืนอยู่อย่างนี้ แม้นั่งอยู่อย่างนี้ แม้นอนตื่นอยู่อย่างนี้ เราเรียกว่า ผู้มีความเพียร มีโอตตัปปะ มีความเพียรอันปรารภแล้วเป็นนิจ มีใจเด็ดเดี่ยว
ภิกษุพึงเดินตามสบาย พึงยืนตามสบาย พึงนั่งตามสบาย พึงนอนตามสบาย พึงคู้ตามสบาย พึงเหยียดตามสบาย ตลอดคติของโลก ทั้งเบื้องบน ท่ามกลางและเบื้องต่ำ และพิจารณาตลอดความเกิดและความเสื่อมไปแห่งธรรมและขันธ์ทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวภิกษุอย่างนั้น ผู้มีสติทุกเมื่อ ศึกษาปฏิปทาอันสมควรแก่ความสงบใจเสมอว่า มีใจเด็ดเดี่ยว
ทรงอนุเคราะห์ไม่ให้พุทธบริษัทต้องลำบากไปทรมาน ถ้าไม่มีสูตรนี้ก็คงจะไปนั่งนานๆ เดินนานๆ ยืนนานๆ ไม่เป็นปกติ ไม่เป็นไปตามสบาย แต่ในสูตรนี้มีข้อความว่า ภิกษุพึงเดินตามสบาย
สติจะมีกำลังเป็นพละที่รู้ลักษณะของนามและรูปตามปกติ ตามสบาย ไม่อึดอัด ไม่มีตัวตนที่ไปบังคับให้เหน็ดเหนื่อย ให้หนัก ให้ทรมาน ให้ลำบาก เพราะเหตุว่าในขณะที่เดินตามสบาย สติก็เกิดได้ ไม่ใช่เกิดไม่ได้
พึงยืนตามสบายปกติเป็นชีวิตจริงๆ ของแต่ละคน แล้วก็ให้สติเกิดขึ้น
พึงนั่งตามสบายบังคับหรือเปล่าว่า นั่งท่าไหน ไม่บังคับเลย บังคับหรือเปล่า ว่าต้องนั่งนานๆ ให้เมื่อย พึงนั่งตามสบาย ไม่ได้ทรมานใครเลย ปกติ แล้วสติก็เกิดขึ้น รู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดดับตามปกติตามความเป็นจริงได้
พึงคู้ตามสบาย พึงเหยียดตามสบาย ปกติทุกอย่าง และพิจารณาตลอด ไม่ได้เจาะจงนามหนึ่งนามใด รูปหนึ่งรูปใดเลย พิจารณาตลอดความเกิดและความเสื่อมไปแห่งธรรมและขันธ์ทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวภิกษุอย่างนั้น ผู้มีสติทุกเมื่อ ศึกษาปฏิปทาอันสมควรแก่ความสงบใจเสมอว่า มีใจเด็ดเดี่ยว
คนที่มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่ใช่ไปทรมานตัว แต่มีใจเด็ดเดี่ยวที่จะประพฤติปฏิบัติตามปกติ เพื่อการรู้แจ้ง เพื่อการละการยึดถือว่าเป็นตัวตน แล้วก็ศึกษาปฏิปทาอันสมควรแก่ความสงบใจ
ถ้าเจริญสมาธิสงบชั่วคราว แล้วก็มีโลภะอยากจะได้สมาธิมากๆ หรือว่าเวลาที่สมาธิหมดไปแล้วก็เกิดโทสะ แต่ความสงบที่แท้จริงนั้นต้องเป็นความสงบที่เกิดจากสงบจากกิเลส สงบจากอวิชชาที่ไม่รู้ สงบจากความเห็นผิดที่ยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน ถ้าขณะใดที่มีสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป ขณะนั้นสงบ และสำหรับคำอธิบายที่ว่า ผู้มีสติทุกเมื่อนั้น
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...