ขันติ คือ ความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง พระนิพพาน เป็นธรรมอย่างยิ่ง

 
สารธรรม
วันที่  15 ก.ย. 2565
หมายเลข  43878
อ่าน  452

ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร มีข้อความว่า

ขันติ คือ ความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพาน เป็นธรรมอย่างยิ่ง

ผู้ทำร้ายผู้อื่น ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่า เป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย

การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ๑ ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑ การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑

๖ อย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

. น่าสงสัยในพระปาติโมกข์ประการแรกที่ว่า ขันติคือความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง เป็นความเพียรเผากิเลส หรือว่าเป็นความเพียรละกิเลส เพื่อให้มีการหน่ายบาปด้วยความเพียรนั้น เป็นตบะอย่างยิ่งอย่างไร

สุ. คอยผลของการเจริญสติไหวไหม ต้องอดทนมากไหม การที่จะ เจริญสติ เพื่อให้ปัญญาเพิ่ม ความรู้ชัดในลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ต้องอดทนมากไหมที่จะต้องรอคอยผลที่ยังไม่เกิดขึ้น เพราะเหตุว่าปัญญารู้แจ้งพระนิพพานนั้นช้ายิ่งกว่าการปลูกต้นไม้ใหญ่สักต้นหนึ่ง ต้องอดทนในการรอคอยผล โดยมากคอยไม่ไหว อดทนไม่ได้ อยากได้ผลเร็วๆ ไม่อดทนที่จะพิจารณาลักษณะของนามและรูปแต่ละวัน แต่ละขณะที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ต้องอดทนจริงๆ ต้องมีความเพียรที่จะระลึกรู้ พิจารณานามที่กำลังปรากฏในขณะนี้ รูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพียรไป อดทนไป นี่เป็นคำสั่งสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่จะหวังผลให้รู้แจ้งธรรมได้โดยไม่เจริญสติ ไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป พิจารณาสิ่งที่กำลังปรากฏ ท่านย่อมรู้ลักษณะของความอดทนว่า ต้องอดทนมากน้อยแค่ไหน แต่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญว่า ขันติ คือ ความอดทน เป็นตบะอย่างยิ่ง ไม่ใช่เร่งรัดให้ทำอย่างอื่นเลย แต่ทรงสรรเสริญว่า ขันติ ความอดทน เป็นตบะอย่างยิ่ง

ตบะ คือ ความเพียรที่จะละกิเลส เพื่อให้หน่ายบาปได้ ด้วยความเพียรนั้น คลายจากอวิชชา คลายจากความไม่รู้ คลายจากความเห็นผิด ที่ยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน

พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง ผู้ทำร้ายผู้อื่น ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยต้องอดทน ละเว้นการทำบาปทั้งสิ้น อดทนที่จะยังกุศลให้ถึงพร้อม อดทนที่จะทำจิตของตนให้ผ่องใส ขาดความอดทนไม่ได้เลย ถ้าขาดความอดทนก็เป็นอกุศล แล้วก็กระทำบาปไปทันทีได้ เพราะขาดความอดทน

การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ๑ ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑ การประกอบความ เพียรในอธิจิต ๑

๖ อย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

การไม่กล่าวร้ายก็ต้องอาศัยความอดทนเหมือนกัน การไม่ทำร้ายผู้อื่นก็ต้องอาศัยความอดทนอีกเช่นกันเดียวกัน ความสำรวมในพระปาติโมกข์สำหรับพระภิกษุก็ต้องอาศัยความอดทนมาก ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหารก็ต้องอดทนอีก

ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑ บางท่านก็อาจจะสงสัยในพยัญชนะนี้ได้ แต่ผู้ที่เจริญสติมีความอดทนที่จะพิจารณารู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นที่ใด ขณะไหนก็ตาม ไม่รำคาญ ไม่กระวนกระวายที่จะไปหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอื่นใดที่ไม่มีอยู่ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ท่านสามารถอยู่ผู้เดียวได้ ในที่ใดก็ได้ จะเป็นบ้านของท่านเอง หรือสถานที่หนึ่งที่ใด ไม่มีบุคคลอื่นมากหน้าหลายตา ที่นั้นเป็นที่นอนที่นั่งอันสงัด ท่านมีฉันทะ มีความพอใจที่จะพิจารณานามและรูปตามปกติที่ปรากฏในขณะนั้น ผู้ที่ละความต้องการในนามรูปอื่นที่ไม่ปรากฏในขณะนั้น หรือผู้ที่ละความต้องการในนามรูป ใดๆ ทั้งสิ้นแล้วนั้น เป็นผู้ที่นั่งสบาย นอนสบาย มีปกติอยู่สบาย ไม่ว่าจะอยู่ในที่ใด ที่นั้นก็เป็นที่สงัดจากความต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ มีความสงบ มีความสงัดมากขึ้น ซึ่งเป็นความสงบสงัดจากความต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ได้รับทราบจากท่านที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันว่า ชีวิต ของท่านเหล่านั้นเปลี่ยนไปมากทีเดียว ตามปกติไม่สามารถจะอยู่ตามลำพังได้ ต้องแวดล้อมด้วยเพื่อนฝูงวงศาคณาญาติ บริวารทั้งหลาย แต่เมื่อท่านเริ่มเจริญสติปัฏฐานแล้ว สามารถที่อยู่คนเดียวได้ เป็นที่สงบสงัดที่หนึ่งที่ใดก็ได้ เพราะเหตุว่าพิจารณาลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏ โดยที่ไม่ได้ต้องการแสวงหานามรูป รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะใดๆ ที่ไม่ปรากฏในขณะนั้น

เวลาที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานอยู่คนเดียวอยู่ยาก จะต้องมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะใดๆ แวดล้อมพัวพันด้วยความต้องการ ไม่ใช่เป็นผู้ที่สงบสงัด เพราะฉะนั้น ที่นั้นถึงแม้ว่าจะเงียบสงบสงัด ก็ไม่ใช่ที่สงบสงัดจริงๆ เพราะเหตุว่ามีความต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏัพพารมณ์อยู่ด้วย แต่ที่ใดที่ผู้ใดเจริญสติปัฏฐาน ถึงแม้จะอยู่ตามลำพัง ก็ไม่เดือดร้อน มีฉันทะมีความพอใจในที่นอนที่นั่งอันสงัดได้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 70


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ