คำว่า มาร มีความหมายหลายอย่าง

 
สารธรรม
วันที่  15 ก.ย. 2565
หมายเลข  43882
อ่าน  210

. มารที่กล่าวถึง เป็นมารประเภทไหน

สุ. ความหมายของคำว่า “มาร” นั้นมีหลายอย่าง แต่ที่แน่นอน คือ เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์โทษภัยต่างๆ เพราะฉะนั้น จึงมีทั้งกิเลสมาร ขันธมาร มัจจุมาร อภิสังขารมาร และเทพบุตรมาร

ในพระไตรปิฎกมีมารอีกหลายพยัญชนะ เช่น ใน ขุททกนิกาย จุฬนิทเทส (ข้อ ๔๒๓) พระผู้มีพระภาคตรัสตอบภัทราวุธใน ภัทราวุธมาณวกปัญหานิทเทส ว่า

หมู่สัตว์พึงนำเสียซึ่งตัณหา เครื่องยึดถือทั้งหมด ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ หรือแม้ชั้นกลาง ส่วนกว้าง เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าไปถือรูปาธิขันธ์ใดๆ ในโลก มารย่อมไปตามสัตว์ด้วยอำนาจอภิสังขาร คือ กรรมนั้นนั่นแล

และมีข้อความอธิบายไว้ว่า (ข้อ ๔๒๗)

คำว่า มาร ย่อมไปตามสัตว์ ไม่ว่าจะมีการเกิดปรากฏขึ้น ณ ที่ใด ย่อมมีมารติดตามไป มีทุกข์ มีโทษ มีภัย ติดตามไปเรื่อย

คำว่า มาร ย่อมไปตามสัตว์ ด้วยอำนาจอภิสังขาร คือ กรรมนั้นนั่นแล ความว่า ขันธมาร ธาตุมาร อายตนมาร คติมาร อุปปัตติมาร ปฏิสนธิมาร ภวมาร สังสารมาร วัฏฏมาร

ทุกอย่างที่เป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นพยัญชนะที่ใช้คำว่า “มาร” ได้

อีกสูตรหนึ่ง ข้อความใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค จาลาสูตร ที่ ๖ โดยนัยเดียวกัน คือ

จาลาภิกษุณีก็ได้ไปบิณฑบาตในตอนเช้า ปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว ก็เข้าไปยังป่าอันธวัน เพื่อพักกลางวัน

ลำดับนั้น มารผู้มีบาปใคร่จะให้จาลาภิกษุณีบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไปหา จาลาภิกษุณีถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้วได้กล่าวกับจาลาภิกษุณีว่า

ดูกร ภิกษุณี ท่านไม่ชอบใจอะไรหนอ

จาลาภิกษุณีตอบว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุ เราไม่ชอบความเกิดเลย

มารกล่าวว่า

เพราะเหตุใดหนอท่านจึงไม่ชอบความเกิด ผู้เกิดมาแล้วย่อมบริโภคกาม ใครหนอให้ท่านยึดถือเรื่องนี้ อย่าเลยภิกษุณี ท่านจงชอบความเกิดเถิด

จาลาภิกษุณีกล่าวตอบว่า

ความตายย่อมมีแก่ผู้ที่เกิดมาแล้ว ผู้ที่เกิดมาแล้วย่อมพบเห็นทุกข์ คือ การจองจำ การฆ่า ความเศร้าหมอง

เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ชอบความเกิด พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเป็นเครื่องก้าวล่วงความเกิด พระองค์สอนให้เราตั้งอยู่ในสัจจะ (หมายถึงพระนิพพาน) เพื่อละทุกข์ทั้งมวล สัตว์เหล่าใดเข้าถึงรูปภพ และสัตว์เหล่าใดเป็นภาคีแห่งอรูปภพ สัตว์เหล่านั้นเมื่อยังไม่รู้นิโรธ ต้องมาสู่ภพอีก

ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า จาลาภิกษุณีรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง

ยังชอบความเกิดไหม ถ้าชอบ ก็เหมือนกับที่มารกล่าวว่า เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงไม่ชอบความเกิด ผู้เกิดมาแล้วย่อมบริโภคกาม เกิดมาแล้วก็เห็นสิ่งต่างๆ ที่น่าเห็น เกิดมาแล้วก็ได้ยินเสียงต่างๆ ที่น่าได้ยิน เกิดมาแล้วก็ได้กลิ่นต่างๆ ได้รสต่างๆ ได้โผฏฐัพพะต่างๆ ได้เสวยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ

นี่เป็นความเห็นของมารที่ว่าควรเกิด เพราะเกิดมาแล้วเห็น สนุกสนานเพลิดเพลิน ได้ยินสิ่งต่างๆ ที่น่าพอใจ ไม่มีใครที่ไม่อยากเห็น ไม่อยากได้ยิน เพราะฉะนั้น ความเกิดนั้นดี ควรเกิด

ถ้าท่านผู้ใดยังคิดอย่างนี้ก็เหมือนกับที่มารคิด แต่ถ้าผู้ใดคิดตรงกันข้ามว่า ความตายย่อมมีแก่ผู้ที่เกิดมาแล้ว ผู้ที่เกิดมาแล้วย่อมพบเห็นทุกข์ เพราะฉะนั้น จาลาภิกษุณีจึงไม่ชอบความเกิด


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 71


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ