ท่านผู้บรรยายจะเจริญสติปัฏฐานได้อย่างไร

 
สารธรรม
วันที่  15 ก.ย. 2565
หมายเลข  43885
อ่าน  217

ถ. สำหรับท่านผู้บรรยายอยู่ก็ดี หรือกำลังพูด กำลังสนทนากันอยู่ก็ดี จะเจริญสติปัฏฐานได้อย่างไร

สุ. นี่เป็นปัญหาที่ท่านจะต้องพิจารณาตามเหตุผล ในขณะที่กำลังพูด เป็นตัวตน หรือเป็นนามเป็นรูป ต้องเป็นนามเป็นรูปแน่นอน เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่พึงยึดถือ แม้ในขณะที่กำลังพูดว่าเป็นตัวตน ท่านอาจจะเข้าใจผิด คิดว่าขณะที่กำลังพูดกำลังสนทนากันนั้นไม่สามารถที่จะเจริญสติปัฏฐานได้ ขอให้ท่านตรวจดูใน มหาสติปัฏฐานสูตรว่ามีกล่าวไว้หรือไม่ว่า ให้มีสติในขณะที่กำลังพูด ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่เป็นของจริง มีการเกิดขึ้นปรากฏแล้ว ก็เป็นมหาสติปัฏฐาน ๔ ถ้าไม่เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นจิตตา-นุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

แม้ในขณะที่กำลังพูด ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็มี

การเจริญสติปัฏฐานนั้น สติสามารถเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปใดๆ ที่เกิดปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้

จักขุวิญญาณเป็นธรรมชาติที่เห็นสีสันวรรณะต่างๆ สติเกิดขึ้นรู้ว่า ที่กำลังเห็นนี้ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง

โสตวิญญาณเป็นสภาพได้ยิน เมื่อได้ยินขณะใด สติก็เกิดขึ้นระลึกรู้ว่า ลักษณะได้ยินนั้นเป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ที่กำลังพูด สติเกิดขึ้นระลึกรู้ว่า ที่คิดนั้นเป็นนามชนิดหนึ่ง หรือจะรู้ลักษณะของรูปหนึ่งรูปใดในขณะที่กำลังไหวไป หรือในขณะที่เห็นกำลังปรากฏ เสียงกำลังปรากฏก็ได้

ทุกท่านมีทั้งเห็น มีทั้งได้ยิน มีทั้งเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ซึ่งเกิดดับปรากฏสืบต่อเร็วมาก แล้วแต่สติของแต่ละคนจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามอะไร ของรูปอะไรก็ได้

ขอกล่าวถึง อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปาปณิกสูตร ที่ ๒ ที่กล่าวถึงสูตรนี้ เพื่อที่จะได้พิจารณาการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าท่านจะเข้าใจสับสน คลาดเคลื่อน หรือเข้าใจผิดประการใด พระสูตรนี้จะช่วยทำให้พิจารณาไตร่ตรองว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นจะเจริญอย่างไร และจะต้องรู้อย่างไรด้วย

ปาปณิกสูตร ที่ ๒ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการ ย่อมถึงความมีโภคทรัพย์มากมายเหลือเฟือ ไม่นานเลย องค์ ๓ ประการ เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าในโลกนี้เป็นคนมีตาดี ๑ ธุระดี ๑ ถึงพร้อมด้วยบุคคลที่จะเป็นที่พึ่งได้ ๑

พ่อค้าที่ชื่อว่า เป็นคนมีตาดีนั้น คืออย่างไร

คือ ย่อมรู้สิ่งที่จะพึงซื้อขายว่า สิ่งที่พึงขายนี้ ซื้อมาเท่านี้ ขายไปเท่านี้ จักได้ทุนเท่านี้ มีกำไรเท่านี้ ดังนี้

พ่อค้าชื่อว่า มีธุระดีอย่างไร คือ เป็นคนฉลาดที่จะซื้อและขายสิ่งที่ตนจะพึงซื้อขาย

พ่อค้าชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยบุคคลซึ่งจะเป็นที่พึ่งได้อย่างไร

ธรรมดาของการค้านั้นย่อมจะต้องอาศัยทุน ถ้าเป็นพ่อค้าที่ตาดี มีธุระดี พวกคฤหบดี บุตรคฤหบดี ผู้มั่งคั่ง ก็ย่อมเต็มใจเชื้อเชิญให้นำโภคะไปเลี้ยงดูบุตรภริยา และใช้คืนให้ตามเวลาได้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการนี้แล ย่อมจะถึงความมีโภคะเหลือเฟือ ไม่นานเลย ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมถึงความเป็นผู้มากมูลไพบูลย์ในกุศลธรรมไม่นานเลย

ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีจักษุ ๑ มีธุระดี ๑ ถึงพร้อมด้วยภิกษุพอจะเป็นที่พึ่งได้ ๑

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีจักษุอย่างไร

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีจักษุ อย่างนี้แล

ผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมให้รู้แจ้ง ต้องมีจักษุ หรือไม่มีก็ปฏิบัติได้ ไม่เห็นอะไร ไม่รู้อะไร ไม่เข้าใจอะไรก็ปฏิบัติได้ อย่างนั้นถูกไหม แม้แต่พ่อค้ายังต้องเป็นคนที่ฉลาด

เพราะฉะนั้น ผู้เจริญธรรม ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมต้องฉลาด เป็นผู้ที่มีจักษุ และผู้ที่มีจักษุในที่นี้ คือ รู้ว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ปฏิปทา คือ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งจะต้องเจริญอบรมให้มาก

แม้แต่ทุกข์ ต้องการจะรู้ไหม หรือไม่มีประโยชน์ รู้ทำไมไม่ใช่ของดีเลย แต่เป็นความจริง เพราะเหตุว่าทุกข์ หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นของจริง เกิดขึ้นปรากฏ แล้วก็หมดไป

ทางตาเห็น เป็นทุกข์ไหม เที่ยงหรือไม่เที่ยง

สีที่ปรากฏเป็นทุกข์ไหม เที่ยงหรือไม่เที่ยง

ทางหูได้ยินเป็นทุกข์ไหม เที่ยงหรือไม่เที่ยง

เสียงที่ปรากฏเป็นทุกข์ไหม เที่ยงหรือไม่เที่ยง

ทางจมูกได้กลิ่นเป็นทุกข์ไหม เที่ยงหรือไม่เที่ยง

กลิ่นที่ปรากฏเป็นทุกข์ไหม เที่ยงหรือไม่เที่ยง

ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทุกข์ คือ เกิดดับ ไม่เที่ยงตลอดเวลา แต่ไม่รู้ จึงต้องเจริญปัญญาให้รู้สิ่งที่เกิดปรากฏ อย่าไปทำให้ผิดปกติ และคิดว่าไปรู้สิ่งที่ผิดปกติ ไปหาอารมณ์คือ สิ่งที่ผิดปกติ นั่นไม่ใช่ผู้มีจักษุ

ผู้มีจักษุ คือ ผู้ที่รู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปนั้นเป็นทุกข์ที่สติจะต้องเจริญขึ้น ปัญญาจะต้องรู้ชัดขึ้นว่า ที่ถูกแล้วการอบรมเจริญปัญญานั้น คือ ต้องรู้ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกตินี่เอง

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้มีธุระดีอย่างไร

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่น ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรม

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้มีธุระดีอย่างนี้แล

ขณะนี้มีนาม มีรูป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ท่านผู้ใดปรารภความเพียรรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏบ้าง

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยภิกษุพอจะเป็นที่พึ่งได้อย่างไร

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอเข้าไปหาภิกษุผู้เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ตามเวลา แล้วไต่ถาม สอบสวนว่า

ท่านผู้เจริญ พระพุทธพจน์นี้อย่างไร ความแห่งพระพุทธพจน์นี้อย่างไร ท่านเหล่านั้นย่อมเปิดเผยธรรมที่ยังไม่เปิดเผย ย่อมทำธรรมที่ยังมิได้ทำให้ตื้นแล้วให้ตื้น และย่อมบรรเทาความสงสัยในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยมิใช่น้อยแก่ภิกษุนั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยภิกษุพอจะเป็นที่พึ่งได้อย่างนี้แล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ถึงความเป็นผู้มากมูลไพบูลย์ในกุศลธรรมทั้งหลายไม่นานเลย

การเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยภิกษุพอจะเป็นที่พึ่งได้นั้น ไม่ใช่พึ่งด้วยการไปหา แล้วทำตามคำสั่ง แต่พึ่งเพื่อให้เข้าใจถูกต้องในพระพุทธพจน์ ไม่ใช่คำของบุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่เพื่อให้เข้าใจถูกต้องในพระพุทธพจน์ด้วยการไต่ถาม ด้วยการสอบสวน ด้วยการเทียบเคียง

เพราะฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน จะต้องสอบสวนเทียบเคียง เพื่อให้การปฏิบัตินั้นถูกต้องสมบูรณ์ตามพระพุทธพจน์ด้วย สำหรับท่านที่ตั้งใจจะไปสู่สถานที่หนึ่งที่ใดแล้วจะทำวิปัสสนา ท่านคงจะคิดว่า ท่านจะได้สติมากๆ ปัญญามากๆ ไปเพราะหวังว่าจะได้มากๆ แต่ขอให้ตรวจสอบกับในพระธรรมวินัย


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 71

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 72



เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ