ภิกษุผู้นิททสะ และ วัตถุแห่งนิททสะ ๗ ประการ
อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต นิททสสูตร ที่ ๒ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้พระนครโกสัมพี ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครโกสัมพี ท่านคิดว่า ยังเช้านักแก่การที่จะไปบิณฑบาต ควรที่จะเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก เมื่อท่านเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกแล้ว ก็ได้ทักทายปราศรัยกัน ขณะนั้นพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกกำลังนั่งประชุมสนทนากันว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปี ควรจะเรียกว่า ภิกษุผู้นิททสะ
เป็นลัทธิชนิดหนึ่งของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ซึ่งถือเวลานาน
เมื่อท่านพระอานนท์ได้ฟังพวกอัญญเดียรถีย์ประชุมสนทนากันดังนั้น ท่านพระอานนท์ไม่ยินดี ไม่คัดค้านคำกล่าวของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไปด้วยตั้งใจว่า เราจะรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งคำกล่าวของพวกอัญญ-เดียรถีย์ปริพาชกในสำนักของพระผู้มีพระภาค
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้เที่ยวบิณฑบาตในพระนครโกสัมพี กลับจากบิณฑบาต ในเวลาปัจฉาภัต เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลให้ทรงทราบเรื่องและข้อความที่ได้ฟังจากพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกในตอนเช้า ซึ่งพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกประชุมสนทนากันว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปี ควรเรียกว่า ภิกษุผู้นิททสะ
ท่านพระอานนท์ได้ทราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อาจหรือหนอ เพื่อทรงบัญญัติภิกษุผู้นิททสะ ด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียวในธรรมวินัยนี้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ ไม่มีใครๆ อาจเพื่อบัญญัติภิกษุผู้นิททสะด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียวในธรรมวินัยนี้
ดูกร อานนท์ วัตถุแห่งนิททสะ ๗ ประการนี้ เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ประกาศแล้ว ๗ ประการเป็นไฉน
ดูกร อานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ๑ มีหิริ ๑ มีโอตตัปปะ ๑ เป็นพหูสูต ๑ ปรารภความเพียร ๑ มีสติ ๑ มีปัญญา ๑
ดูกร อานนท์ วัตถุแห่งนิททสะ ๗ ประการนี้แล เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ประกาศแล้ว
ดูกร อานนท์ ภิกษุผู้ประกอบด้วยวัตถุแห่งนิททสะ ๗ ประการนี้แล ถ้าประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๑๒ ปีก็ดี ควรจะเรียกได้ว่า ภิกษุผู้นิททสะ ถ้าประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ ๒๔ ปีก็ดี ๓๖ ปีก็ดี ๔๘ ปีก็ดี ควรจะเรียกได้ว่า ภิกษุผู้นิททสะ
๔๘ ปี ไม่ใช่เป็นเวลาน้อยเลย ๑๒ ปีก็ดี ครบ ๒๔ ปีก็ดี ๓๖ ปีก็ดี ๔๘ ปีก็ดี ถ้าเป็นผู้ที่ประกอบด้วยวัตถุแห่งนิททสะ ๗ ประการ คือ เป็นผู้มีศรัทธา ๑ มีหิริ ๑ มีโอตตัปปะ ๑ เป็นพหูสูต ๑ ปรารภความเพียร ๑ มีสติ ๑ มีปัญญา ๑
จะเห็นได้ว่า เว้นการเป็นพหูสูตไม่ได้เลย คือ การฟัง ฟังแล้วปรารภความเพียร มีสติ มีปัญญาด้วย แม้พระผู้มีพระภาคยังตรัสถึงการบำเพ็ญเพียร คือ การเจริญสตินานถึงเพียงนี้ที่จะเป็นการเจริญสติเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นภิกษุฆราวาส อุบาสก อุบาสิกา เจริญสติปัฏฐานเป็นปีๆ เมื่อเป็นปีๆ ก็เป็นชีวิตปกติ ประจำวัน
อย่างใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สัลเลขสูตร เป็นเรื่องของสติทั้งสิ้น ในสัลเลขสูตรนั้นอาจจะไม่ได้กล่าวโดยตรงว่าเป็นสติ แต่ถ้าพิจารณาอรรถและประโยชน์ที่จะได้รับจากสัลเลขสูตรจะเห็นได้ว่า เป็นสติตามลำดับขั้นทีเดียว ซึ่งมีข้อความบางตอนว่า
ดูกร จุนทะ ผู้ที่ตนเองจมอยู่ในเปือกตมอันลึกแล้ว จักยกขึ้นซึ่งบุคคลอื่นที่จมอยู่ในเปือกตมอันลึก ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีไม่ได้ ผู้ที่ตนเองไม่จมอยู่ในเปือกตมอันลึกแล้ว จักยกขึ้นซึ่งบุคคลอื่นที่จมอยู่ในเปือกตมอันลึก ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้
ผู้ที่ไม่ฝึกตน ไม่แนะนำตน ไม่ดับสนิทด้วยตนเอง จักฝึกสอน จักแนะนำผู้อื่น ให้ผู้อื่นดับสนิท ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีไม่ได้ ผู้ที่ฝึกตน แนะนำตน ดับสนิทด้วยตนเอง จักฝึกสอน จักแนะนำผู้อื่น จักให้ผู้อื่นดับสนิท ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...