ตนเป็นที่พึ่งของตน - จะให้ผู้อื่นประพฤติปฏิบัติให้ได้ไหม

 
สารธรรม
วันที่  15 ก.ย. 2565
หมายเลข  43888
อ่าน  208

ตนเป็นที่พึ่งของตน - จะให้ผู้อื่นประพฤติปฏิบัติให้ได้ไหม

. ข้อความที่ว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน จะเข้ากับข้อความนี้ได้อย่างไร

สุ. ถ้าตนไม่สอนตน ไม่ประพฤติปฏิบัติด้วยตนเอง จะให้ผู้อื่นประพฤติปฏิบัติให้ได้ไหม ก็ไม่ได้

จักขุวิญญาณ การเห็น เที่ยงหรือไม่เที่ยง

รูป รูปารมณ์ เที่ยงหรือไม่เที่ยง

โสตวิญญาณ การได้ยิน เที่ยงหรือไม่เที่ยง

สัททารมณ์ เสียงที่กำลังปรากฏ เที่ยงหรือไม่เที่ยง

เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ท่านจะไม่สงสัยเคลือบแคลงว่า พระอริยบุคคลนั้นรู้แจ้งลักษณะของนามและรูปตามปกติทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่เองจึงได้บรรลุอริยสัจได้ ในขณะที่เพิ่งเริ่มเจริญสติปัฏฐาน สติเริ่มเจริญขึ้นบ้าง อาจจะเคลือบแคลงสงสัยได้ ความเคลือบแคลงไม่ใช่ว่าจะหมดไปได้ทันที กำลังแข็งส่วนใด กำลังอ่อน หรือกำลังเย็น กำลังร้อน ความเคลือบแคลงเกิดขึ้นได้ ยังไม่หมดง่ายๆ ไม่ใช่ว่าพอเจริญนิดหนึ่งก็บรรลุมรรคผลนิพพาน

ท่านที่เริ่มเจริญสติปัฏฐานย่อมจะสงสัยว่า แข็งอย่างนี้ไม่เห็นดับ ยังคงแข็งอยู่ ยังคงอ่อนอยู่ รู้ว่าเป็นรูป ลักษณะนี้ปรากฏเป็นลักษณะแข็งหรืออ่อน แต่ความเคลือบแคลง ความสงสัย ความยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนนั้นยังมีอยู่มาก ยังไม่หมดไปเลย เทียบได้กับปริยัติ คือ พระอภิธรรมปิฎก เวลาเห็นก็ตาม ได้ยินก็ตาม ได้กลิ่นก็ตาม รู้รสก็ตาม สัมผัสกระทบสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม แล้วสติเกิดขึ้นเพียงนิดเดียว หลังจากนั้นโมหะท่วมทับเป็นเวลานาน สติยังไม่เจริญพอที่จะรู้ลักษณะของนามและรูปที่ต่างกันทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ท่านเพียงเริ่มระลึกลักษณะของนามหรือรูปได้ทีละทาง ทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้น เวลาที่เกิดสติระลึกรู้ลักษณะของรูปทางหนึ่งทางใด หรือนามทางหนึ่งทางใดขึ้นแล้ว หลังจากนั้นหลงลืมสติ ไม่ได้พิจารณานามรูปมากสักเท่าไร ท่วมทับด้วยอวิชชา แล้วสติค่อยๆ เกิดแทรกขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ทีละลักษณะของนามและรูป ต้องเป็นในลักษณะอย่างนี้ เจริญสติเนืองๆ บ่อยๆ จนกว่าปัญญาจะรู้ชัด

ถ้าเจริญสติเป็นปกติ ปัญญาเพิ่มมากขึ้น จะไม่สงสัยเลยว่า พระอริยบุคคลสามารถรู้แจ้งลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั่นเอง

เพราะฉะนั้น ผู้เจริญสติปัฏฐานต้องพิจารณาสังขารธรรมทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็น ณ สถานที่ใด ขณะไหน สภาพของจิตเป็นสภาพที่สงบ หรือสภาพที่ไม่สงบ อย่างไรก็ตามสติจะต้องตามพิจารณาลักษณะของสังขารธรรมทั้งปวงจึงจะรู้ชัดว่า สังขารธรรมทั้งปวงนั้นไม่ใช่ตัวตน

ข้อความใน สัลเลขสูตร บางตอน มีต่อไปว่า

จักไม่มีความโกรธ

ต้องการบรรลุอริยสัจจธรรมใช่ไหม ต้องการหมดกิเลสด้วยหรือไม่ วันหนึ่งๆ มีชีวิตเป็นปกติธรรมดา ถ้าเกิดโกรธขึ้นแล้วสติเกิดขึ้นรู้ว่า ลักษณะของจิตในขณะนั้นเป็นสภาพที่หยาบกระด้าง ท่านที่จะขัดเกลาด้วยคิดว่าเราจะไม่โกรธ ก็ทำให้ท่านเป็นผู้ที่แสวงหาหนทางที่จะดับความโกรธ ข้อความใน สัลเลขสูตร แสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องของสติจริงๆ

เวลาโกรธ บางคนก็หมดไปโดยง่าย แต่บางคนก็ยังผูกโกรธ คือ ความโกรธนั้นรัดรึงใจไว้บ่อยๆ เมื่อนึกถึงก็โกรธอีก ทำไมเรื่องนั้นนิดเดียว แต่โกรธต่อไปอีกได้นาน นั่นเป็นความผูกโกรธ แต่ผู้มีสติระลึกได้อีก เพราะฉะนั้น สติมีอุปการคุณมาก ไม่เป็นโทษเป็นภัยอะไรเลย


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 72


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ