ผมไม่เคยเรียนวิปัสสนาเลย จะฝึกได้บ้างไหม ที่ไหนบ้าง

 
chatchai.k
วันที่  15 ก.ย. 2565
หมายเลข  43894
อ่าน  183

ท่านผู้ฟังท่านนี้มีคำถาม คือ

ข้อที่ ๑ ในฐานะที่ผมยังไม่เคยเรียนวิปัสสนาเลยนั้น ผมจะฝึกได้บ้างไหม

ข้อที่ ๒ มีอาจารย์ที่ไหนบ้างที่จะกรุณาแนะนำให้กระผมได้บ้างสำหรับในข้อที่ ๑ ที่ว่า ในฐานะที่ยังไม่เคยเรียนวิปัสสนาเลย จะฝึกได้หรือไม่

ตอบ สำหรับการเจริญสติปัฏฐานนั้นอย่าคิดว่าจะทำ เพราะถ้าคิดว่าจะทำแล้วไม่สามารถรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังมี กำลังปรากฏ การเจริญสติปัฏฐานเป็นการศึกษาให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา

การที่จะให้สติเกิดขึ้นได้เนืองๆ บ่อยๆ นั้น ต้องเริ่มฟังการเจริญสติปัฏฐาน และรู้ลักษณะของสติ ถ้าไม่เคยเจริญสติปัฏฐานเลย เมื่อฟังแล้วเข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้วสภาพของสติไม่เหมือนกับสภาพที่ทำให้สงบเป็นสมาธิ สภาพที่ระลึกได้นั้นเป็นสติ แล้วแต่ว่าจะเป็นสติขั้นพิจารณาธรรม หรือเป็นสติที่กำลังใส่ใจรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่เลือกเลย

สติจะใส่ใจระลึกในขณะที่กำลังเห็นว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตานั้นเป็นของจริงอย่างหนึ่งเท่านั้น เป็นสิ่งที่จะต้องรู้บ่อยๆ เนืองๆ เพื่อจะแยกสภาพรู้ทางตากับสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า ทั้งสองอย่างนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สภาพที่กำลังเห็นทางตาก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นสภาพรู้ ส่วนสิ่งที่ปรากฏ สติจะต้องระลึกรู้ด้วย เพื่อทราบชัดถึงความต่างกันของสภาพรู้กับสิ่งที่ปรากฏทางตา

อาจจะสงสัยว่า นามกับรูปที่ปรากฏทางตาต่างกันอย่างไร แต่ความจริงแล้ว ไม่ใช่สภาพธรรมเดียวกันเลย ถ้าระลึกว่าขณะที่กำลังเห็น ที่เห็นนี้เป็นสภาพรู้ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย นั่นเป็นนามธรรม แต่ถ้าท่านไม่ได้ระลึกว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ แต่สิ่งใดๆ ก็ตามที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเคยเรียกว่าสัตว์ เรียกว่าบุคคล เรียกว่าวัตถุสิ่งของต่างๆ ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นสีสันวรรณะต่างๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ชื่ออะไรเลย ท่านอาจจะรู้ว่าเป็นคน ความรู้ว่าเป็นคนไม่ผิด แต่นั่นเป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของสีสันวรรณะต่างๆ

ปัญญาจะต้องเกิดขึ้นรู้ชัดในแต่ละลักษณะ เห็นคน แล้วก็ได้ยินเสียงคนด้วย เริ่มแยกความเป็นสัตว์บุคคล หรือแม้แต่วัตถุสิ่งใดๆ ก็ตาม รูปทางตาก็อย่างหนึ่ง รูปทางหูก็อีกอย่างหนึ่ง รูปทางตาก็เป็นแต่เพียงสีของคนที่เราเคยรู้จัก เคยยึดถือว่าเป็นคนนั้นคนนี้ พอได้ยินเสียงของเขา เสียงก็เป็นแต่เพียงของจริงอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นปรากฏทางหู ไม่ปรากฏทางอื่นเลย จะว่าเป็นของใครก็ไม่ได้ เพราะอาศัยเหตุปัจจัยทำให้เสียงนั้นเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป ไม่สามารถจะยึดจะจับเสียงนั้นให้คงทนถาวรว่า เป็นเสียงของคนนั้นอยู่เรื่อยๆ เป็นแต่เพียงสิ่งที่เกิดปรากฏแล้วก็หมดไปเท่านั้นเอง

แต่เพราะปัญญายังไม่รู้ชัดที่จะแยกความต่างกันของนามและรูป ทางตาก็อย่างหนึ่ง ทางหูก็อย่างหนึ่ง ทางจมูกก็อย่างหนึ่ง ทางลิ้นก็อย่างหนึ่ง ทางกายก็อย่างหนึ่ง ทางใจก็อย่างหนึ่ง เมื่อไม่รู้ชัด เคยรวมกันอยู่อย่างไร ก็เป็นกลุ่มก้อนอยู่อย่างนั้น

เพราะฉะนั้น การเจริญสติไม่ใช่ทำให้จิตสงบ แล้วไม่รู้เห็นที่กำลังมี ได้ยินที่กำลังมี หรือสีสันวรรณะที่กำลังปรากฏ เสียงที่กำลังปรากฏ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่กำลังปรากฏ หรือรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็งที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ก็ไม่เป็นการเจริญปัญญา ไม่สามารถที่จะละคลายการยึดถือในสัตว์ ในบุคคล ในตัวตนได้

นี่เป็นเหตุผลที่ว่า เพราะเหตุใดจึงจะต้องรู้ชัดในลักษณะของนามและรูปแต่ละทาง ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติด้วย

สำหรับท่านที่ยังไม่เคยเจริญสติเลย อาจจะสงสัยว่าท่านจะเจริญสติปัฏฐานได้ไหม ถ้าท่านฟังธรรม พิจารณาธรรมจนเข้าใจถูกต้องแล้ว ความเข้าใจที่ถูกต้องนั้นจะอุปการะให้ระลึกได้ สติจะระลึกรู้ลักษณะของนาม หรือรูป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจก็ได้ ไม่มีตัวตนที่เลือก พอสติเริ่มเกิดใส่ใจที่ลักษณะของนาม หรือรูปทางหนึ่งทางใด ก็รู้ได้ว่า ในขณะนั้นเป็นลักษณะของสติ ไม่ใช่ลักษณะของการหลงลืมสติ

นี่เป็นสิ่งที่ปัญญาจะเริ่มเจริญขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ด้วยการที่รู้ว่าเริ่มมีสติแล้ว คือ เริ่มใส่ใจพิจารณารู้ลักษณะของนามหรือรูปทางหนึ่งทางใด ซึ่งเป็นนามรูปปกติธรรมดาทุกอย่าง เป็นชีวิตจริงๆ ไม่ใช่เป็นการหลบหลีกไปสร้างขึ้นโดยไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าอะไรจะเป็นของจริงกว่ากัน

ถ้าท่านหลบหลีกไป ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ อาหาร โภชนะต่างๆ ไม่เป็นปกติ แล้วเวลาที่มีชีวิตตามปกติจริงๆ จะละการยึดถือสภาพนามและรูปต่างๆ เหล่านั้นว่า เป็นตัวตนได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น คงจะไม่มีปัญหาที่ว่า ไม่เคยเรียนวิปัสสนาเลย จะฝึก หรือจะเจริญสติปัฏฐานได้ไหม ข้อสำคัญให้ทราบว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน กำลังเห็น กำลังได้ยิน สติเกิดได้ไหม กำลังเห็น กำลังได้ยินในขณะนี้เอง ยังไม่ถึงพรุ่งนี้ เพียงในขณะนี้มีนามมีรูปปรากฏแล้ว เพราะฉะนั้น ผู้เจริญสติไม่คอย ไม่หวังที่จะไปหาอารมณ์อื่นที่ยังไม่ปรากฏ

เพื่อประกอบความเข้าใจ ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย นิทานวรรค กฬารขัตติยวรรค ที่ ๔

ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมจงใจ ย่อมดำริ และครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอารัมมณปัจจัยเพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่อมีอารัมมณปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงมี เมื่อวิญญาณนั้นตั้งมั่นแล้ว เจริญขึ้นแล้ว ความบังเกิด คือ ภพใหม่ต่อไปจึงมี

เมื่อมีความบังเกิด คือ ภพใหม่ต่อไป ชาติ ชรา และมรณะ โศก ปริเทวะ ทุกข โทมนัส และอุปายาสจึงมีต่อไป ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

ฟังข้อความนี้ คงจะได้ความคิดที่ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมจงใจ ย่อมดำริ และครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอารัมมณปัจจัย เพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ

ทุกอย่างที่จะเกิดต้องมีปัจจัย แม้แต่จิต ถ้าไม่มีปัจจัยเกิดไม่ได้ เมื่อมีจิตเกิดขึ้น ต้องมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น และจิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ เพราะฉะนั้น อารมณ์ที่จิตรู้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จิตประเภทนั้นเกิดขึ้น การเป็นปัจจัยของอารมณ์นั้นชื่อว่า อารัมมณปัจจัย คือ เป็นปัจจัยโดยเป็นอารมณ์ของจิต ถ้าภิกษุยังจงใจ หรือดำริ และครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอารัมมณปัจจัย เพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่จงใจ ไม่ดำริ และไม่ครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมไม่เป็นอารัมมณปัจจัย เพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ เมื่อไม่มีอารัมมณปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงไม่มี เมื่อวิญญาณนั้นไม่ตั้งมั่นแล้ว ไม่เจริญขึ้นแล้ว ความบังเกิด คือ ภพใหม่ต่อไปจึงไม่มี เมื่อความบังเกิด คือ ภพใหม่ต่อไปไม่มี ชาติ ชรา มรณะ โศกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ และอุปายาสะต่อไปจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

ที่ว่าเมื่อความบังเกิด คือ ภพใหม่ต่อไปไม่มี ชาติ ชรา มรณะ โศกะ ปริเทวะทุกขะ โทมนัสสะ และอุปายาสะต่อไปจึงดับ เวลานี้ชาติมีแล้ว ชราก็ต้องมี มรณะก็ต้องมี และเมื่อมีชาติ มีการเกิดแล้ว จะพ้นจากโศกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ และอุปายาสะนั้นเป็นไปไม่ได้เลย

แต่เมื่อใดความบังเกิด คือ ภพใหม่ต่อไปไม่มี ชาติ ชรา มรณะ โศกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ และอุปายาสะจึงไม่มีต่อไป

ทรงแสดงเพื่อให้เห็นว่า ถ้ายังมีความหวัง มีความต้องการ มีความจงใจ ซึ่งเป็นลักษณะของอภิชฌา เป็นลักษณะของตัณหา ไม่ได้ทำลายความต้องการเลย แต่ว่าการเจริญสตินั้นไม่ใช่ให้จงใจ คอยอารมณ์ที่ยังไม่เกิด แต่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้นั่นเอง จึงจะดับภพชาติได้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 73


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ