สิ่งที่กระทำได้ยากของผู้ที่บวช คือ ความยินดียิ่งในการบรรพชา

 
สารธรรม
วันที่  16 ก.ย. 2565
หมายเลข  43916
อ่าน  280

. พระที่บวชตั้งแต่เป็นเณร แล้วบวชเรื่อยไปจนกระทั่งสิ้นอายุ แต่ไม่ได้ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ อย่างนี้จะเรียกว่า บรรพชาที่ถูกต้องหรือไม่

สุ. น่าสงสัยใช่ไหม เพราะฉะนั้น ปริพาชกสามัณฑกะ ก็ได้กล่าวถามท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุ ก็สิ่งอะไรอันบุคคลผู้บวชแล้วกระทำได้โดยยาก

มีความยากเป็นขั้นๆ ตามลำดับ จิตใจนั้นไม่อยู่ในบังคับบัญชา อำนาจของกิเลส อกุศลที่ได้สะสมมามากมาย หนาแน่น เหนียวแน่น แล้วมีอัธยาศัยที่ได้สะสมมาในเนกขัมมะ การสละละอาคารบ้านเรือน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดขึ้นประพฤติเป็นไปได้ แต่ว่ากิเลสนั้นยังมากเหลือเกิน เพราะยังเป็นปุถุชนที่ยังมีความเห็นผิด

เพราะฉะนั้น การละอาคารบ้านเรือนนั้นก็ยากระดับหนึ่ง เพราะเคยอยู่กับญาติมิตรสหายผู้เป็นที่รัก ที่พอใจ เคยได้รับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะซึ่งสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต แล้วจะต้องละอาคารบ้านเรือน สละญาติมิตร รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเพื่อขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นอัธยาศัยที่ได้สะสมมาทำให้สามารถละได้ แต่ครั้นละไปแล้ว กิเลสก็ยังมากเหมือนเดิม นี่เป็นความจริง ผู้ที่รู้ความจริงก็ต้องยอมรับความจริง แล้วมีหนทางที่จะให้ประจักษ์แจ้งความจริงนั้นด้วย ไม่ใช่ว่าไม่มีหนทาง

เมื่อปริพาชกสามัณฑกะ กล่าวถามท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุ ก็สิ่งอะไรอันบุคคลผู้บวชแล้วกระทำได้โดยยาก

ท่านพระสารีบุตร กล่าวตอบว่า

ความยินดียิ่ง ผู้มีอายุ

ไม่รู้สึกอึดอัด ไม่รู้สึกฝืนในการประพฤติปฏิบัติตามธรรมวินัยที่เห็นแล้วว่าเป็นการขัดเกลาอย่างยิ่งจึงได้สละอาคารบ้านเรือนเพื่อที่จะประพฤติปฏิบัติตาม แต่อำนาจของกิเลสที่มีอยู่ในใจมาก ทำให้ถึงแม้ว่าละไปแล้วแต่เพราะกิเลสมีมากทำให้บางท่านไม่ยินดียิ่งในการบรรพชา บางขณะเบื่อหน่ายด้วยอำนาจของกิเลส

เพราะฉะนั้น เมื่อบรรพชาแล้ว ละอาคารบ้านเรือนแล้ว สิ่งที่กระทำได้ยากของผู้ที่บวชแล้วนั้นก็คือความยินดียิ่งในการบรรพชา ปริพาชกสามัณฑกะก็ยังได้กล่าวถามต่อไปว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุ ก็สิ่งอะไรอันภิกษุผู้ยินดียิ่งแล้วกระทำได้โดยยาก

ทั้งๆ ที่มีความยินดียิ่งในบรรพชา แต่สิ่งนั้นก็ยังต้องแสนยากอยู่นั่นเอง ท่านพระสารีบุตรก็กล่าวตอบว่า

การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้มีอายุ

การเจริญมรรคมีองค์ ๘ เพื่อจะแทงตลอดว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เพราะเหตุว่านามรูปนั้นเกิดดับรวดเร็วเหลือเกิน และถ้าสติไม่เกิดขึ้นเนืองๆ บ่อยๆ ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริง ย่อมไม่ประจักษ์ลักษณะของนามและรูปได้

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้บวชแล้วซึ่งการบวชนั้นก็เป็นการกระทำได้ยากยิ่ง และก็เป็นผู้ยินดียิ่งแล้วในการบวช สิ่งที่กระทำได้ยากนั้นก็ยังมี คือ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ปริพาชกสามัณฑกะ ก็ได้กล่าวกับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า

ดูกร ผู้มีอายุ ก็ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว จะพึงเป็นอรหันต์ได้นานเพียงไร

ท่านพระสารีบุตรก็กล่าวตอบว่า ไม่นานนัก ผู้มีอายุ

นี่เป็นเรื่องของท่านที่มีความยินดียิ่ง และประพฤติปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ซึ่งไม่ใช่มีแต่ในพระสูตรนี้สูตรเดียว ในพระสูตรอื่นก็ได้กล่าวถึงข้อความโดยนัยเดียวกันแต่มีความหมายกว้างและละเอียดขึ้นอีก คือ ใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ชัมพุขาทกสังยุตต์ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ บ้านนาลคาม ในแคว้นมคธ

คนละที่คนละแห่ง ในสูตรก่อนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา ในแคว้นวัชชี แต่ในคราวนี้ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ บ้านนาลคาม ในแคว้นมคธ

ครั้งนั้น ปริพาชกชื่อว่าชัมพุขาทกะ เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ท่านผู้ฟังก็คงจะได้ผ่านพยัญชนะในพระสูตรบ่อยๆ ในเรื่องของนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง นั่งอย่างไรจึงจะชื่อว่านั่งในที่สมควร มีคำอธิบายว่า

นั่งเว้นจากโทษแห่งการนั่ง ๖ ประการ คืออย่างไร คือ

นั่งไกลเกินไป ๑

เพราะเหตุว่า เวลาพูดกันก็ต้องตะโกน หรือว่าต้องใช้เสียงดังถ้านั่งไกลกัน

นั่งใกล้เกินไป ๑

เวลานั่งใกล้ ชิด เบียด เสียดสี ก็ทำให้เกิดความรำคาญ นั่นก็เป็นโทษของการนั่งใกล้เกินไป

นั่งเหนือลม ๑

นี่เป็นเรื่องการลำบากด้วยกลิ่น

นั่งในที่สูง ๑

เป็นการแสดงความไม่เคารพ

นั่งตรงหน้าเกินไป ๑

คือ เวลาที่อยากจะดูหน้า ถ้านั่งเสียตรงหน้าทีเดียวท่านกล่าวว่า ก็จะต้องตาจรดตา หมายความว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย จะไปมองส่วนไหนก็ไม่ได้เพราะนั่งเสียตรงหน้า จะต้องตาจรดตาทีเดียว

โทษอีกประการ ๑ คือ นั่งข้างหลังเกินไป

เพราะเหตุว่า เวลาที่อยากจะดู ก็ต้องเอี้ยวไปดู

เพราะฉะนั้น ในพระสูตรก็จะมีเรื่องของการนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเสมอๆ คือ นั่งเว้นจากโทษ ๖ ประการ

เมื่อชัมพุขาทกะได้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วก็ได้กล่าวถามท่านพระสารีบุตรถึงความหมายของนิพพานว่าหมายความอย่างไร ซึ่งได้แก่ ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ และได้ถามถึงปฏิปทา คือ หนทางข้อปฏิบัติที่จะให้บรรลุนิพพาน ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ ซึ่งก็ได้แก่มรรคมีองค์ ๘

ชัมพุขาทกะก็ได้สรรเสริญว่า มรรคปฏิปทาข้อปฏิบัตินี้ดีนัก

ข้อความก็โดยนัยเดียวกันกับในพระสูตรก่อน แต่ชัมพุขาทกะก็ยังได้ถามต่อไป ถึงอรหัต และปฏิปทาให้บรรลุความเป็นอรหัต และได้ถามว่า

ใครหนอ เป็นธรรมวาทีในโลก

ใครหนอ เป็นผู้ปฏิบัติดีในโลก

ใครหนอ เป็นผู้ไปดีแล้วในโลก

ซึ่งท่านพระสารีบุตรก็ได้กล่าวตอบว่า

ผู้ใดแสดงธรรมเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ ท่านผู้นั้นเป็นธรรมวาทีในโลก

อนึ่งผู้ใดปฏิบัติเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ ท่านผู้นั้นเป็นผู้ปฏิบัติดีในโลก

ราคะ โทสะ โมหะ อันท่านผู้ใดละแล้ว ถอนรากเสียแล้ว กระทำให้ไม่มีแล้ว ไม่ให้เกิดต่อไป เป็นธรรมดา ท่านผู้นั้นเป็นผู้ไปดีแล้วในโลก

ที่ว่าราคะ โทสะ โมหะ อันท่านผู้ใดละแล้ว ถอนรากเสียแล้ว กระทำให้ไม่มีแล้ว ไม่ให้เกิดต่อไป เป็นธรรมดา ท่านผู้นั้นเป็นผู้ไปดีแล้วในโลก ใช้คำว่าเป็นธรรมดา ไม่ใช่เพียงชั่วคราว แล้วก็ได้กล่าวถึงมรรคปฏิปทาเพื่อที่จะให้ละราคะ โทสะ โมหะซึ่งก็ได้แก่มรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง ในพระสูตรนี้เป็นเรื่องของมรรคมีองค์ ๘ โดยนัยต่างๆ

ชัมพุขาทกปริพาชกได้ถามท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า

ดูกร ท่านสารีบุตร ท่านอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณะโคดมเพื่อประโยชน์อะไร

ซึ่งท่านพระสารีบุตรก็ได้กล่าวตอบว่า

ผู้มีอายุ เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อกำหนดรู้ทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

ซึ่งก็ได้แก่มรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง แล้วชัมพุขาทกปริพาชกได้ถามต่อไปถึงความโล่งใจ ความโล่งใจสำคัญไหม เวลานี้หนักใจมากไหม ถ้ายังมีโลภะต้องหนักใจแน่ ถ้ายังมีโทสะก็ต้องหนักใจไม่อยากจะมี โมหะก็เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ชัมพุขาทกปริพาชกจึงได้ถามถึงพยัญชนะ ความโล่งใจที่ว่า

ความโล่งใจดังนี้ด้วยเหตุเพียงเท่าไรจึงจะชื่อว่า ถึงความโล่งใจ

ท่านพระสารีบุตรกล่าวตอบว่า

เมื่อไรย่อมรู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่ง ผัสสายตนะ ๖ ตามความเป็นจริง จึงจะชื่อว่าถึงความโล่งใจ

และอุบายที่จะให้ถึงความดับคุณโทษการรู้ผัสสายตนะ ๖ นี้ ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง ถ้ายังไม่รู้ความเกิดความดับคุณโทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งผัสสาย-ตนะ ๖ ตามความเป็นจริงแล้ว ก็ไม่ถึงความโล่งใจ

เวลาเจริญสติปัฏฐานรู้ลักษณะของนามและรูปทีละเล็กทีละน้อยยังไม่ประจักษ์ความเกิดขึ้นและความดับไป ก็ยังไม่โล่งใจ แต่การโล่งใจจะมีจริงๆ เกิดได้จริงๆ เมื่อเวลาที่รู้ลักษณะของนามและรูปชัดเจน ไม่ห่วงใย ไม่กังวล เพราะเป็นแต่เพียงนาม เป็นแต่เพียงรูป ไม่ว่าจะเป็นโลภะ ไม่ว่าจะเป็นโทสะ ไม่ว่าจะเป็นสุข ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นการตรึก ความนึกคิดในสิ่งที่เห็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ประการใดๆ ก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งมีลักษณะที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้นเอง ถ้าผู้ใดประจักษ์ในความเกิดดับของธรรมที่เป็นนามและรูปตามความเป็นจริงอย่างนี้ ในขณะนั้นย่อมจะถึงความโล่งใจไม่ยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน ไม่พัวพัน ไม่ติดข้อง ไม่เดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นนามรูปชนิดใด

ท่านพระสารีบุตรกล่าวตอบว่า เมื่อไรย่อมรู้ความเกิดความดับคุณโทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ โลก ๖ โลกตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน เวลานี้มีตา จักขวายตนะมีรูปารมณ์ ผัสสะ การกระทบกันทำให้เกิดการเห็น เวลาที่เสียงปรากฏ ก็เป็นผัสสะทางหูซึ่งจะต้องรู้ชัดในลักษณะของนามของรูปที่มี ที่เกิดขึ้น ที่ปรากฏ ที่กระทบ ไม่ใช่ที่อื่น ขณะอื่น ลักษณะอื่นเลย โลก ๖ โลก ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามความเป็นจริงเป็นปกติในชีวิตประจำวัน และต้องละเอียดขึ้นด้วย

ผลย่อมเกิดขึ้นตามสมควรแก่เหตุ เมื่อปัญญาพิจารณานามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจมากขึ้น เพิ่มขึ้น มีกำลังขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ไม่ว่าจะเห็นอะไร ไม่ว่าจะคิดอะไร ไม่ว่าจะสุขแค่ไหน ไม่ว่าจะทุกข์แค่ไหนแล้วละคลายมากขึ้น เมื่อนั้นก็ย่อมประจักษ์การเกิดดับของนามและรูปได้ แต่ถ้าไม่เจริญอย่างนี้ก็ไม่ประจักษ์ เป็นหนทางเดียวจริงๆ

เมื่อชัมพุขาทกปริพาชกได้กล่าวถึงความโล่งใจ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรจึงจะชื่อว่า ถึงความโล่งใจ และเมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวตอบแล้ว ชัมพุขาทกปริพาชกกล่าวว่า

ที่ว่าถึงความโล่งใจอย่างยิ่งดังนี้ด้วยเหตุเพียงเท่าไร

ท่านพระสารีบุตรกล่าวตอบว่า

เมื่อรู้ความเกิด ความดับ คุณโทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ ตามความเป็นจริงแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น จึงจะชื่อว่า ถึงความโล่งใจอย่างยิ่ง

ความโล่งใจมีเป็นลำดับขั้น แล้วชัมพุขาทกปริพาชกถามท่านพระสารีบุตรละเอียดกว้างขวางทั่วๆ ไปให้เป็นประโยชน์มากขึ้นด้วย คือ ได้ถามถึงเวทนา ๓ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา

เป็นของมีจริงไหม เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริงและทุกคนมี ก็ควรถามถึงด้วยว่า สำหรับเวทนา ๓ มีข้อประพฤติปฏิบัติอย่างไรที่จะให้รู้ชัดในลักษณะของเวทนา ๓ ซึ่งท่านพระสารีบุตรก็ได้กล่าวตอบว่า

ข้อประพฤติปฏิบัติเพื่อที่จะให้รู้เวทนา ๓ นั้นก็มี คือ มรรคมีองค์ ๘

เพราะฉะนั้น เวทนา ความรู้สึกเป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี เฉยๆ ก็ดี ซึ่งมีเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั้น ก็ต้องเป็นสิ่งที่มรรคมีองค์ ๘ จะต้องเจริญ แล้วก็รู้ลักษณะนั้นด้วย

ชัมพุขาทกปริพาชกได้กล่าวถึงอาสวะ ๓ อวิชชา ๔ ตัณหา ๓ โอฆะ ๔อุปาทาน ๔ ภพ ๓ ทุกข์ ๓ สักกายะ ซึ่งได้แก่ขันธ์ ๕ ว่า มีหนทางข้อประพฤติปฏิบัติที่ทำให้รู้แจ้งได้ไหม

ซึ่งหนทางข้อประพฤติปฏิบัติก็มีอยู่หนทางเดียว คือ เจริญสติ จึงเป็นเหตุให้รู้เวทนาได้ เป็นเหตุให้รู้ภพได้ เป็นเหตุให้รู้ทุกข์ได้ เป็นเหตุให้รู้สักกายะได้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 78


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ