ภิกษุผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ จักลาสิกขาออกมานั้นมิใช่ฐานะที่จะมีได้

 
chatchai.k
วันที่  16 ก.ย. 2565
หมายเลข  43920
อ่าน  198

ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สลฬาคารสูตร ข้อ ๑๒๗๙

สมัยหนึ่ง ท่านพระอนุรุทธะอยู่ ณ สลฬาคาร ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้น ท่านพระอนุรุทธะ เรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้ว ได้กล่าวว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคาไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน เมื่อเป็นเช่นนั้น หมู่มหาชนถือเอาจอบและตะกร้ามาด้วย ประสงค์ว่า จักทดแม่น้ำคงคาให้ไหลกลับ หลั่งกลับ บ่ากลับ ดังนี้ ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน หมู่มหาชนนั้นจักพึงทดน้ำคงคาให้ไหลกลับ หลั่งกลับ บ่ากลับ ได้บ้างหรือ

ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า

ไม่ได้ขอรับ

ท่านพระอนุรุทธะก็กล่าวถามต่อไปว่า

เพราะเหตุไร

ภิกษุเหล่านั้นก็กล่าวตอบว่า

เพราะการที่จะทดแม่น้ำคงคาอันไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน ให้ไหลกลับ หลั่งกลับ บ่ากลับ มิใช่กระทำได้ง่าย หมู่มหาชนนั้นจะพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเหน็ดเหนื่อย ลำบากเปล่า แน่นอน

ท่านพระอนุรุทธะ ก็ได้กล่าวตอบภิกษุเหล่านั้นว่า

ฉันนั้น เหมือนกัน ผู้มีอายุทั้งหลาย พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา มิตร อำมาตย์ ญาติ หรือสาโลหิต จะพึงเชื้อเชิญภิกษุผู้เจริญ กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ ให้ยินดีด้วยโภคะว่า

ดูกร บุรุษผู้เจริญ จงมาเถิด ท่านจะครองผ้ากาสาวะเหล่านี้อยู่ทำไม ท่านจะเป็นผู้มีศีรษะโล้น มือถือกระเบื้องเที่ยวบิณฑบาตอยู่ทำไม นิมนต์ท่านสึกมาบริโภคสมบัติ และบำเพ็ญบุญเถิด

ข้อที่ภิกษุผู้เจริญ ผู้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ จักลาสิกขาออกมานั้นมิใช่ฐานะที่จะมีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะจิตที่น้อมไปในวิเวก โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวกตลอดกาลนาน จักหวนสึก มิใช่ฐานะที่จะมีได้

ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมเจริญ กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัส ในโลกเสียได้

ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเจริญ กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ อย่างนี้แล

ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน ยากมากทีเดียวที่จะประพฤติพรหมจรรย์ได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอดชีวิต แต่ถ้าพระภิกษุรูปใดเจริญสติปัฏฐานเนืองๆ บ่อยๆ แม้คนอื่นจะเป็นพระราชา หรือว่าอำมาตย์ของพระราชา ไปเชื้อเชิญให้สึกออกมาบริโภคสมบัติ ก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะจิตของท่านนั้นน้อมไปในวิเวก โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวก และวิเวกนี้เป็นพยัญชนะหนึ่งที่หมายถึง พระนิพพาน

นิพพาน ชื่อว่า วิเวก เพราะว่างจากสิ่งที่ถูกตกแต่งทั้งปวง

ใน ปปัญจสูทนี ซึ่งเป็น อรรถกถามัชฌิมนิกาย มีคำอธิบายเรื่องชื่อของนิพพาน ที่ใช้คำว่า วิเวกว่า

นิพพาน ชื่อว่า วิเวก เพราะว่างจากสิ่งที่ถูกตกแต่งทั้งปวง

นิพพาน ชื่อว่า วิราคะ เพราะคลายสิ่งทั้งปวง

นิพพาน ชื่อว่า นิโรธะ เพราะดับสิ่งทั้งปวง

เพราะฉะนั้น คำว่า วิเวกในที่นี้ ถ้าจิตของท่านน้อมไปในวิเวก โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวก ก็คือน้อมไปในนิพพาน โน้มไปในนิพพาน โอนไปในนิพพานนั่นเอง เพราะฉะนั้น ที่จะหวนสึก มิใช่ฐานะที่จะมีได้

ถ้าเป็นบรรพชิต แล้วเจริญสติปัฏฐานในเพศของบรรพชิต ก็ย่อมจะไม่หวนกลับมาเป็นฆราวาส เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานจึงเป็นสิ่งที่แต่ละบุคคลต้องเจริญเป็นปกติ ตามเพศของตน


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 80


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ