ไม่ใช่การเลือกสติปัฏฐานหนึ่งสติปัฏฐานใดตามใจชอบ

 
สารธรรม
วันที่  16 ก.ย. 2565
หมายเลข  43927
อ่าน  187

. ที่ว่าเห็นสักแต่ว่าเห็นนั้น อาจารย์เคยกล่าวว่า ให้หยุดอยู่แค่เห็นนั้น เป็นไปไม่ได้ ต้องเลยไปถึงว่าเป็นคนเป็นสัตว์ แต่ให้มีสติตามรู้ว่า นั่นเป็นเพียงนามชนิดหนึ่ง แต่บางสำนักบอกว่าเป็นไปได้ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ที่เป็นไปได้นั้น ไม่ใช่ว่าคำนี้เป็นคำของปุถุชน แต่เป็นคำของพระอรหันต์

พระอรหันต์ท่านสักแต่ว่าเห็นได้ สักแต่ว่าได้ยินได้ มีคนแย้งไปว่า ถ้าอย่างนั้นพระอรหันต์เดินไปก็คงเหยียบงู เหยียบคูถ เพราะสักแต่ว่าเห็น ไม่รู้ว่าเป็นงู เป็นคูถ

เขาก็แก้ว่า พระอรหันต์มี ๒ เวลา มีเวลาปฏิบัติอยู่ ก็อาจจะไม่รู้ว่าเป็นงูจริงๆ เพราะเวลานั้นอยู่ในวิธีปฏิบัติของวิปัสสนา แต่ในขณะที่ออกมาแล้วพระอรหันต์ไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนา ก็หลบหลีกอันตรายได้เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา ข้อนี้ก็ดูเหมือนว่า ไม่ตรงกันกับคำของอาจารย์

สุ. ดูเหมือนว่า ปัญญาไม่คมกล้าเลยโดยลักษณะนั้น เพราะเหตุว่าโดยการตรัสรู้ ไม่มีสักขณะเดียวที่เป็นตัวตน เป็นนามเป็นรูปทั้งสิ้น การรู้ว่าเป็นคนเป็นสัตว์ สภาพรู้นั้นมีจริงๆ หรือไม่ เห็นพระพุทธรูปรู้ว่าเป็นพระพุทธรูป สภาพที่รู้ ความรู้ ที่รู้ว่าเป็นพระพุทธรูปนั้นเป็นความจริงไหม เป็นสิ่งที่มีจริงไหม

เมื่อมีจริง ไม่ใช่ตัวตน เป็นนาม หรือเป็นรูป เป็นนาม ปัญญารู้ หรือว่าอวิชชารู้ ที่รู้ว่าเป็นนาม เป็นปัญญา นามทางตานั้นมีอะไรบ้าง แม้ในพระไตรปิฎก ก็ได้ทรงแสดงไว้ว่ามีการเห็น มีความชอบไม่ชอบที่เนื่องจากการเห็นที่ปัญญาจะต้องรู้ชัด ไม่ใช่ไปกดไปบังคับไว้ไม่ให้ชอบหรือให้ชอบ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ปัญญาไม่มีโอกาสจะรู้เลยว่า ขณะใดที่ความชอบเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง แล้วก็ดับ ไม่ใช่ไม่ดับ

การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่การบังคับสติ แต่เป็นการตามรู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดกับตนเพราะเหตุปัจจัยที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติจะเริ่มพิจารณารู้ลักษณะของนามและรูปแต่ละทางมากขึ้น เป็นต้นว่า ทางหู ผู้ที่เจริญสติก็จะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของได้ยิน หรืออาจจะระลึกรู้ลักษณะของเสียงก่อนก็ได้เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่การเลือก จงใจยึดถือสติปัฏฐานหนึ่งสติปัฏฐานใดตามใจชอบ


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 82


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ