หนทางนี้ เป็นที่ไปอันเอก คือ สติปัฏฐาน ๔

 
สารธรรม
วันที่  16 ก.ย. 2565
หมายเลข  43935
อ่าน  223

ที่ว่า สำหรับหนทางนี้ เป็นที่ไปอันเอก คงจะไม่มีความสงสัย และที่ว่า สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ

ไม่ได้ระลึกได้บ่อยเลย ทั้งๆ ที่กายไม่เคยห่าง ไม่ว่าจะไปที่ไหน นั่งที่ไหน นอนที่ไหน ยืนที่ไหน เดินที่ไหน ก็มีกายอยู่ตลอดเวลา แต่แม้กระนั้นก็ยังไม่ระลึก เพราะฉะนั้น การที่จะระลึกรู้ลักษณะของกาย จึงต้องอาศัยความเพียร ความเพียรที่นี่ไม่ใช่ความเพียรที่ไปทำให้ผิดปกติ ไม่ใช่ความเพียรจดจ้อง เพื่อจะให้รู้การเกิดดับตามความต้องการ แต่เพียรระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏที่กาย ถ้าเป็นในหมวดของกาย ก็ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏที่กายบ่อยๆ เนืองๆ เพิ่มขึ้นมากขึ้นตลอดชีวิตจนกว่าปัญญาจะรู้ชัด

ที่ว่าเป็นสัมมาวายามะ เป็นความเพียรชอบ เป็นความเพียรอย่างยิ่งนั้น คือเพียรทุกขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดอารมณ์

สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา กำลังเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏทางหู กำลังได้ยิน สิ่งที่กำลังปรากฏทางจมูก กำลังได้กลิ่น มีความเพียรอย่างนี้ชื่อว่า เป็นความเพียรอย่างยิ่ง

และกว่าจะรู้ได้ จะนานไหมที่จะประจักษ์การเห็นที่กำลังเห็นนี้ว่า เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เสียงที่ปรากฏเกิดแล้วก็ดับ ได้ยินลักษณะอีกชนิดหนึ่งเกิดแล้วก็ดับ การรู้เรื่องของความหมายนั้นเป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับ ความชอบความไม่ชอบเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็ดับไป

ต้องเป็นความเพียรอย่างยิ่งจริงๆ จึงจะสามารถรู้ชัดในสิ่งที่ปรากฏทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้

ไม่ว่าจะเป็นในบรรพใด ในอนุปัสสนาหมวดใด มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเพียรที่จะระลึกพิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ กี่ภพกี่ชาติก็ไม่ประจักษ์ในสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นกาย เวทนา จิต ธรรม ก็จะต้องมีความเพียรอย่างนี้แหละ คือ เพียรรู้

กำลังเฉยๆ ความรู้สึกเฉยๆ เป็นของจริง เคยระลึกได้บ้างไหมว่า เป็นแต่เพียงความรู้สึกลักษณะหนึ่งเท่านั้น หรือเวลาที่เป็นสุข เคยระลึกได้บ้างไหมว่า ก็เป็นเพียงสภาพความรู้สึกชนิดหนึ่งเท่านั้น เวลาที่ความทุกข์เกิดขึ้นเคยระลึกได้บ้างไหมว่า เป็นสภาพความรู้สึกชนิดหนึ่งเท่านั้น

เพียรระลึกรู้ความรู้สึกที่เกิดปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเฉยๆ ความรู้สึกดีใจ ความรู้สึกเสียใจว่า สภาพความรู้สึก ลักษณะในขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เพื่อจะได้รู้ชัดในความเกิดขึ้นและดับไปของความรู้สึกต่างๆ

เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่การเจริญสมาธิ หลายท่านที่ได้ฟังการเจริญสติปัฏฐานแล้วก็เสียดายเวลาของท่านที่ไปนั่งหลับตา และกล่าวว่า แทนที่จะไปนั่งหลับตาจดจ้องอยู่ที่อารมณ์เดียวแล้วไม่รู้อะไร ทำไมไม่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะถ้าจดจ้องอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดอารมณ์เดียวแล้วก็ไม่รู้อารมณ์อื่น

เป็นของที่แน่นอนว่า การที่จะมีปัญญารู้ชัด สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏมากจึงจะเป็นมหาสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น การเจริญสมาธิรู้ที่ลมหายใจเท่านั้น เป็นอานาปานสติสมาธิ ไม่รู้อย่างอื่นเลย แต่เวลาที่อานาปานสติสมาธิเจริญอย่างไรจึงมีอานิสงส์มาก อานาปานสติสมาธินั้นจะต้องมีสติ เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมจึงจะเป็นการเจริญอานาปานสติสมาธิที่มีผลมากมีอานิสงส์มาก มิฉะนั้นก็จะเป็นการเจริญเพียงอานาปานสติสมาธิที่บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 83


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ