ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐาน เพราะสติตามระลึกรู้ลักษณะของธรรมทั้งปวงได้
ถ. ในเรื่องของอานาปานบรรพ ดูเหมือนจะพาดพิงไปทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ทั้งมหาสติปัฏฐานด้วย ทั้งสมาธิด้วย
สุ. สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น ผู้ที่ต้องการจะรู้ความจริง เจริญปัญญา จะต้องเจริญสติ ไม่ว่าจะเคยเจริญสมาธิ เคยน้อมใจไปในการที่จะให้จิตตั้งมั่นที่ลมหายใจ แม้ในขณะนั้นสติก็จะต้องตามระลึกรู้จึงจะเกิดปัญญา เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ
ในขณะที่บิณฑบาต ฉันภัตตาหาร นั่ง นอน ยืน เดิน เคลื่อนไหว พูด นิ่ง คิด ประกอบกิจการงาน หรือแม้ในขณะที่ไปสู่ป่า ก็ต้องมีสติด้วย เจริญสติด้วย เป็นปกติทีเดียว ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปเจริญสติปัฏฐานที่นั่น เป็นผู้ที่ปกติเจริญสติ มิฉะนั้นแล้วเวลาที่จิตสงบ สติระลึกรู้ไม่ได้
ผู้ใดจะกล่าวว่า ไปเจริญสมาธิเสียก่อนเป็นปฐมฌาน แล้วก็ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปได้ด้วยความต้องการ หรือด้วยอัตตา แต่ที่จะเป็นไปได้ เพราะเหตุว่าเคยเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจิตสงบก่อนจะถึงปฐมฌาน สติก็ระลึกได้ หรือแม้ว่าเวลาที่ปฐมฌานเกิดแล้ว สติก็ตามระลึกได้ เพราะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ
ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าสติสามารถที่จะแทรกตามระลึกรู้ลักษณะของธรรมทั้งปวงได้
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...