การเจริญอานาปานสติเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก

 
chatchai.k
วันที่  17 ก.ย. 2565
หมายเลข  43954
อ่าน  218

การเจริญอานาปานสติเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะเหตุว่าอารมณ์ละเอียดมาก ถ้าไม่เข้าใจเรื่องของการเจริญอานาปานสติจริงๆ ย่อมไม่บรรลุผลสมความมุ่งหมายได้ เพราะฉะนั้น ควรที่จะเข้าใจว่า ผู้ที่จะเจริญอานาปานสติให้จิตสงบตั้งมั่นอยู่ที่ลมหายใจได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ และต้องเริ่มเป็นขั้นๆ ด้วย

สมันตปาสาทิกา มีข้อความว่า

อาการ ๔ อย่าง คือ ลมหายใจออกยาวและสั้น และแม้ลมหายใจเข้าเช่นนั้น ย่อมเป็นไปที่ปลายจมูกของภิกษุ ฉะนี้แล

ที่จะรู้ว่าเป็นลมหายใจไม่ใช่ลมที่อื่นนั้นจะรู้ได้อย่างไร จะรู้ได้ที่ไหน ถ้าลมกำลังกระทบที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายส่วนอื่น ใช่ลมหายใจไหม ลมกำลังกระทบที่แขน ใช่ลมหายใจไหม ก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ที่จะเป็นลมหายใจที่สติจะตั้งมั่น จิตสงบได้นั้น จะต้องรู้ด้วยว่า ส่วนใด ลักษณะใดเป็นลมหายใจ

เพราะฉะนั้น ที่เป็นลมหายใจนั้นก็คือ ลักษณะของลมที่ปรากฏที่ปลายจมูก ไม่ว่าจะเป็นลมเข้า หรือลมออก ยาวหรือสั้นก็ตาม

ข้อความต่อไปมีว่า

จริงอยู่ ลมหายใจออกและลมหายใจเข้าเหล่านี้ สำหรับคนที่มีนาสิก (จมูก) ยาว ย่อมกระทบโพรงจมูกเป็นไป สำหรับคนที่มีนาสิกสั้น ย่อมกระทบริมฝีปากเบื้องบนเป็นไป

ผู้ที่กำลังมีสติระลึกรู้ส่วนของลมหายใจที่กำลังกระทบจะรู้ว่า กระทบที่ส่วนไหน ในโพรงจมูก หรือที่ริมฝีปากเบื้องบน

นอกจากนั้นการเจริญอานาปานสติยังมีความละเอียดที่ว่า ถ้าไม่มีสติที่มั่นคง ไม่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะจริงๆ ไม่สามารถจะเจริญอานาปานสติได้ เพราะมีอุปกิเลสที่จะทำให้จิตไม่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เป็นต้นว่า เวลามีสติที่ลมกำลังกระทบโพรงจมูกก็ดี หรือริมฝีปากเบื้องบนก็ดี ลักษณะของลมนั้นละเอียดมาก ซึ่งก่อนการพิจารณาลมย่อมหยาบ เมื่อพิจารณาแล้ว ลมจะละเอียดขึ้นๆ เพราะจิตสงบขึ้นๆ

และในการพิจารณานั้นก็แยกเป็น ๒ ทาง ถ้าเป็นสมถภาวนา เวลาที่จิตสงบเป็นขั้นอุปจารสมาธิ ก็ยังจัดว่าเป็นลมหยาบ ทั้งๆ ที่เป็นอุปจารสมาธิแล้ว ต่อเมื่อใดเป็นอัปปนาสมาธิ จึงจัดว่าเป็นลมละเอียด

สำหรับการเจริญวิปัสสนานั้น ในขณะที่เริ่มพิจารณาก็เป็นลมหยาบ เพราะ ปรากฏให้รู้ลักษณะนั้นได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่มีสติ มีสัมปชัญญะ และเป็นผู้ที่รู้จักวิธีที่จะไม่ให้ขาดสติจริงๆ ทั้งโดยนัยของการเจริญสมถภาวนา และโดยนัยของการเจริญสติปัฏฐาน

สำหรับข้อความที่ว่า ให้มีสติระลึกที่ลมกระทบ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่ละเอียดมาก ถ้าไม่ระลึกที่นั่นก็จะขาดสติ หรือสติจะไม่มั่นคง สมาธิจะไม่มั่นคง ถ้าโดยนัยของการเจริญสมถภาวนา ถ้าคิดที่จะจดจ้องติดตามลมหายใจ คือ คิดถึงลมหายใจเข้า ลมหายใจออกด้วยความต้องการ ขณะนั้นจิตก็จะกวัดแกว่งไม่สงบ หรือแม้แต่ความคิดปรารถนานิมิตที่จะให้เกิดขึ้นกับลมหายใจ ในขณะที่ปรารถนาจะให้เกิดนิมิตนั้น จิตก็หวั่นไหว ดิ้นรน

แม้การเจริญสมถภาวนาก็ต้องเป็นผู้ที่รู้ว่า กำหนดพิจารณาอย่างไร ถ้าไม่พิจารณาที่ลมกระทบ มีความต้องการที่จะติดตามลมนั้นไป ความต้องการนั้นก็จะทำให้จิตไม่สงบ กวัดแกว่ง หรือแม้แต่ต้องการให้นิมิตเกิดขึ้น ในขณะนั้นก็เป็นอุปกิเลส ซึ่งไม่ใช่เป็นการระงับความต้องการ ไม่ใช่การระงับกามฉันทนิวรณ์

ถ้าเป็นนัยของการเจริญวิปัสสนา ต้องรู้เท่าทันจิต แม้ขณะที่สติระลึกรู้ลมที่ละเอียดที่กำลังปรากฏ ถ้ายังมีความผูกพันต้องการ จดจ้อง ลักษณะนั้นก็เป็นลักษณะของอัตตา

เพราะฉะนั้น จึงต้องมีสติที่ระลึกแล้วก็รู้ชัด แล้วก็ละ แล้วก็คลาย นั่นเป็นเรื่องของการเจริญปัญญา


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 86


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ