พิจารณาลมที่ออกที่เข้าทั้งปวง ไม่เป็นผู้ที่ขาดสติ
ซึ่งในข้อนี้ก็อุปมาเรื่องเลื่อย ใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ข้อความที่ว่า
หายใจออก หายใจเข้า ยาว สั้น พึงทราบด้วยสามารถแห่งระยะเวลา
ทั้งๆ ที่เป็นลมที่ละเอียด แต่ค่อยๆ แผ่ไป เวลาที่ลมกระทบโพรงจมูกก็ดี หรือว่าริมฝีปากเบื้องบนก็ดี ลมหายใจเข้าหรือลมหายใจออกยาว การแผ่ไป หรือการกระทบส่วนนั้นก็มากหรือยาว เมื่อพิจารณาเห็นกาย คือ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้ายาวสั้นด้วยสตินั้น ด้วยญาณ จึงตรัสเรียกว่า การเจริญสติปัฏฐานประกอบด้วยการตามพิจารณาเห็นกายในกาย
ต้องพิจารณาด้วยสติ ต้องรู้ชัดด้วยญาณในลักษณะของลม จึงตรัสเรียกว่าการเจริญสติปัฏฐานประกอบด้วยการตามพิจารณาเห็นกายในกาย
ต่อไปข้อความที่ว่า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจเข้า
ความหมายคือ ย่อมศึกษา จักทำให้แจ่มแจ้งซึ่งกองลมหายใจออก หายใจเข้าทั้งสิ้น คือ ไม่ให้ขาดสติ ลมหายใจออกก็รู้ ลมหายใจเข้าก็รู้ แต่เดี๋ยวก็ไม่รู้ ขาดสติแล้ว หลงลืมสติแล้ว เพราะเหตุว่าลมหายใจละเอียดมาก บางคนลมอาจจะปรากฏตอนต้น แต่ท่ามกลางกับที่สุด คือ ตอนกลางกับตอนปลายไม่ปรากฏแล้ว ซึ่งก็เพราะความละเอียดของลมหายใจ
ให้รู้แจ้งกองลมทั้งปวง หายใจออก หายใจเข้า
หมายความว่าเป็นผู้ที่มีสติ ระลึกรู้ลักษณะของลมที่เข้า ลมที่ออกโดยไม่ขาดสติ แต่ไม่ใช่ให้ไปตามเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด โดยลักษณะของเบื้องต้นเป็นปลายจมูก ท่ามกลางเป็นหทัย แล้วก็ปลายของลมหายใจเป็นนาภี ไม่ใช่อย่างนั้น
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญอานาปานสติย่อมศึกษา ย่อมพิจารณา ย่อมเสพ ด้วยการที่จักรู้แจ้งกองลมหายใจทั้งปวง จักรู้แจ้งกองลมทั้งปวง หายใจออก จักรู้แจ้งกองลมทั้งปวง หายใจเข้า
ลมหายใจออกจะกระทบก็รู้ ยาวก็รู้ สั้นก็รู้ แต่ว่ารู้นิดหนึ่งก็หมดไป หลงลืมสติ ขาดสติอีกได้ แต่จะรู้แจ้งกองลมทั้งปวงไม่ว่าจะออกจะเข้าขณะใด ก็เป็นผู้ที่ศึกษา พิจารณาลมที่ออกที่เข้าทั้งปวง ไม่เป็นผู้ที่ขาดสติ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจออก ย่อมสำหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจเข้า
ข้อสำคัญจะต้องทราบว่า เป็นปกติธรรมดา มีท่านผู้ใดระลึกรู้ที่ลมหายใจบ้าง ถ้าไม่ระลึกรู้ที่ลมหายใจ ทราบไหมว่าเป็นเพราะเหตุอะไร ทุกอย่างต้องมีเหตุผลทั้งสิ้น กำลังเห็น มี ได้ยิน มี หรือรูปเย็น ร้อน อ่อน แข็งที่ปรากฏ ก็มี เป็นปกติธรรมดา ก็เป็นเพราะเหตุว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จิตมักคล้อยไป ไม่เหมือนกับลมหายใจซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกายจริงๆ
คนที่ยังมีชีวิต มีนาม มีรูป ต้องมีลมหายใจทุกคน แต่ว่าหยาบ ละเอียด ยาว สั้น ถ้าสติไม่ระลึกรู้ ขณะนั้นก็ไม่สามารถที่จะทราบได้ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่เจริญอานาปานสติสมาธิจึงได้ไปสู่ที่สงัด เช่น ไปสู่ป่า ไปสู่โคนไม้ ไปสู่เรือนว่าง
ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เคยอบรมมาในเรื่องของสมาธิ หรือไม่เคยอบรมมาก็ตาม จิตน้อมไปประการใด ตามอัธยาศัยของแต่ละท่าน ผู้นั้นก็เจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนาม และรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...