ลมหายใจนั้นเป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน

 
สารธรรม
วันที่  17 ก.ย. 2565
หมายเลข  43959
อ่าน  232

ต่อไปข้อความที่ว่า

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับการสังขาร หายใจเข้า

กายสังขาร เครื่องปรุงแต่งกายให้ดำเนินไป ได้แก่ ลมหายใจนั่นเอง เพราะฉะนั้น เวลาที่ยังไม่พิจารณาลมหายใจ แล้วเริ่มพิจารณา ที่จะมีลมหายใจปรากฏได้ในขณะที่พิจารณานั้น ลมนั้นต้องหยาบในขณะที่เริ่มพิจารณา แต่เมื่อมีสติระลึกที่ลมหายใจมากเข้า ลมก็ยิ่งละเอียดขึ้นทุกที เพราะลมหายใจนั้นเป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ถ้าจิตหยาบลมหายใจก็หยาบ ถ้าจิตละเอียดขึ้นสงบขึ้น ลมหายใจก็ละเอียดขึ้นประณีตขึ้นด้วย

ผู้ที่เจริญอานาปานสติต้องรู้ชัดว่า จะต้องมีสติรู้ลมหายใจที่หยาบ แล้วก็ละเอียดขึ้นๆ และถ้าเป็นอานาปานสติสมาธิ ในขณะที่เป็นอุปจารสมาธิ ลมหายใจก็หยาบกว่าขณะที่เป็นอัปปนาสมาธิขั้นปฐมฌาน และจะละเอียดขึ้นตามลำดับ

สำหรับการเจริญวิปัสสนานั้น ก่อนพิจารณาลมหายใจ ลมหายใจก็หยาบ แต่ในขณะที่พิจารณารู้ลักษณะของลม คือ รู้ลักษณะของมหาภูตรูป ในขณะนั้นก็ละเอียดขึ้น หรือว่าในขณะที่ปัญญารู้ลักษณะของนามรูป รู้ปัจจัยของนามรูป ก็จัดว่าหยาบกว่าในขณะที่รู้สภาพความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตน คือ ไตรลักษณะของนามรูป

ท่านได้อธิบายความหมายของพยัญชนะ ระงับ หรือ ดับสงบกายสังขาร อีกความหมายหนึ่งว่า

ย่อมระงับความน้อมไปข้างหน้า ความน้อมไปข้างๆ ความน้อมไปทุกส่วน ความน้อมไปข้างหลัง ความหวั่น ความไหว ความโยก ความโคลงแห่งกาย ด้วยกายสังขารปานใด จักระงับ

ที่เป็นอย่างนี้ เพราะเหตุว่าเวลาที่พิจารณาลมหายใจแล้วขาดสติ สภาพของการขาดสติไม่ใช่การที่สติตั้งมั่นนั้น ก็เป็นลักษณะของโมหะ ความไม่รู้ตัว เมื่อมีความไม่รู้ตัวเกิดขึ้น ก็ย่อมจะมีความน้อมไปข้างหน้าบ้าง ความน้อมไปข้างๆ บ้าง ความน้อมไปทุกส่วน หรือว่าความน้อมไปข้างหลัง ความหวั่น ความไหว ความโยกความโคลงแห่งกายเกิดขึ้นได้

ขณะนี้ไม่เห็นมีใครโคลง โยก หรือตัวน้อมไปข้างหน้า ตัวน้อมไปข้างหลัง ไปข้างๆ ก็เป็นผู้ที่เป็นปกติ แต่ถ้าเจริญอานาปานสติสมาธิแล้วขาดสติ จะมีอาการที่น้อมไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง หรือว่า เอียงไปข้างๆ บ้าง

การเจริญสติปัฏฐานเป็นการเจริญปัญญา กำลังเห็น สติระลึกรู้ว่า ที่กำลังเห็นก็เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง เป็นนามธรรม หรือระลึกว่าสิ่งที่กำลังปรากฏนี้ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง ในขณะที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ความจริงอย่างนี้ จะมีความโยก ความน้อมไปข้างหน้าข้างหลังไหม

เป็นปกติธรรมดา นั่งอย่างนี้ก็ระลึกได้ พิจารณารู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นปกติ หรือว่าเสียงที่กำลังปรากฏทางหู สติก็ระลึกรู้ว่าลักษณะนี้เป็นของจริง ปรากฏทางหูนิดเดียวเท่านั้นแล้วก็หมดไป ในขณะที่รู้ของจริงๆ อย่างนี้เป็นปกติ ไม่มีความโยก ความโคลง ความน้อมเอียงไปของกาย

เพราะฉะนั้น ในอานาปานสติสมาธิ ท่านจึงได้ทรงแสดงไว้ที่ว่า

ย่อมสำเหนียกว่า เราจะระงับกายสังขาร หายใจเข้า

เมื่อลมที่หยาบละเอียดขึ้นๆ สติก็ระลึกรู้ หรือขณะใดที่หลงลืมสติ จิตประเภทโมหะเกิดขึ้น ทำให้กายโน้มไป เอียงไป โยกไป โคลงไปเกิดขึ้น ผู้ที่มีสติระลึกได้ก็จะระงับกายสังขาร คือ ลมหายใจอันเป็นเหตุทำให้กายนั้นโยกไป เอียงไป ซึ่งเกิดขึ้นเพราะขาดสติทำให้เป็นไป

กายสังขาร สังขารที่ปรุงแต่งกายให้ดำรงอยู่ ได้แก่ ลมหายใจ ที่ร่างกายจะดำรงอยู่ไม่เสื่อมไป เน่าไป แตกทำลายไป ก็เพราะมีลมหายใจเป็นส่วนประกอบปรุงแต่งให้ดำรงสภาพนั้นอยู่ เพราะฉะนั้น เวลาที่เจริญอานาปานสติสมาธิ ลมหายใจจะละเอียดขึ้น ถ้าขาดสติ ไม่รู้สึกตัว ก็จะมีการโยก การโคลงของกาย เมื่อระลึกได้ ก็ศึกษา หรือสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขาร หายใจออก ไม่ปล่อยให้เอนไป โยกไป โคลงไป มีสติระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจ

การผิดปกติ คือ การโยกไป การโคลงไป การน้อมไปข้างหน้า การน้อมไปข้างหลัง การน้อมไปข้างๆ จะหมดสิ้นไปได้ ก็เพราะมีสติระลึกแล้วก็รู้ว่า จะระงับกายสังขารที่โยกไป โคลงไปนั้น เป็นผู้มีปกติ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า ระงับกายสังขาร หายใจออก หายใจเข้า


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 87


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ