ผู้ที่มีสติแล้วจะต้องรู้อย่างอื่นด้วย ไม่ใช่รู้แต่เฉพาะลมหายใจเท่านั้น

 
สารธรรม
วันที่  17 ก.ย. 2565
หมายเลข  43966
อ่าน  191

อานาปานสังยุตต์ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เอกธรรมสูตร ข้อ ๑๓๐๕ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า

เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า ยาว หายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า สั้น

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุข หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุข หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจเข้า

ผู้ที่มีสติแล้วจะต้องรู้อย่างอื่นด้วย ไม่ใช่รู้แต่เฉพาะลมหายใจเท่านั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่ให้มีอย่างอื่นเกิดขึ้นปรากฏ จะให้มีแต่ลมหายใจปรากฏอย่างเดียวนั้นไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นโดยนัยของการเจริญสมาธิ หรือการเจริญสติปัฏฐานก็ตาม

แต่ถ้าอานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุข หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุข หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจเข้า

เวลาที่จิตเริ่มสงบ เพราะสติระลึกที่ลมหายใจ ยับยั้งปีติได้ไหม พอจิตสงบปีติก็เกิด เพราะฉะนั้น สติตามระลึกด้วย สำหรับผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าลักษณะของนามใดรูปใดเกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัย สติจะต้องระลึกรู้เพื่อละการยึดถือว่าเป็นตัวตน เราไม่ได้ยึดถือแต่ลมว่าเป็นตัวตน เวทนา ความรู้สึกใดๆ เกิดขึ้นขณะใดก็ยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตนในขณะนั้น

ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ถึงแม้ว่าเป็นอานาปานสติ ก็จะต้องรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏด้วย เพราะเหตุว่ามีอวิชชาท่วมท้นทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทุกขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ

เพราะฉะนั้น การที่จะละการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตนได้นั้น ต้องเจริญสติให้ปัญญารู้ชัด รู้รูป รู้นาม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเพิ่มขึ้น มากขึ้น ทั่วขึ้น ชัดขึ้น จึงจะละการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ แม้ในขณะที่หายใจเข้า ในขณะที่หายใจออก ก็ไม่ใช่จะมีแต่ลักษณะของลมที่ปรากฏ ความรู้สึกปีติ ความรู้สึกเป็นสุข สติก็จะต้องระลึกรู้ในลักษณะนั้น จึงจะละการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้ หรือถ้าไม่ใช่ลมหายใจ ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เฉยๆ ก็เป็นความรู้สึกชนิดหนึ่ง ต้องระลึกด้วย สติก็จะต้องเจริญขึ้น ปัญญาก็จะต้องรู้ชัดขึ้นเรื่อยๆ จึงจะละการไม่รู้ได้

มหาสติปัฏฐาน พยัญชนะก็ชี้ไว้แล้วว่ามาก ทุกอย่าง ทั้งปวง เป็นเครื่องให้สติระลึกได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นกาย ไม่ว่าจะเป็นเวทนา ไม่ว่าจะเป็นจิต ไม่ว่าจะเป็นธรรมใดๆ อย่าเป็นห่วง กลัวว่าจะไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าเป็นผู้มีปกติหลงลืมสติมานานแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อมีสิ่งใดที่สติจะระลึกได้ ก็ให้ระลึก ไม่ต้องกลัว


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 88


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ