สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่ายินดี ไม่น่าเพลิดเพลิน

 
สารธรรม
วันที่  17 ก.ย. 2565
หมายเลข  43979
อ่าน  209

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา ก็ย่อมจะรู้ชัดว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่ายินดี ไม่น่าเพลิดเพลิน

ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ก็ย่อมจะรู้ชัดว่า ทุกขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่ายินดี ไม่น่าเพลิดเพลิน

ถ้าเธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็ย่อมจะรู้ชัดว่า อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่ายินดี ไม่น่าเพลิดเพลิน

ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา เธอก็ไม่พัวพันเสวยสุขเวทนานั้น

ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา เธอก็ไม่พัวพันเสวยทุกขเวทนานั้น

ถ้าเธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา เธอก็ไม่พัวพันเสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น

เมื่อเธอเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด

เมื่อเธอเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด

ย่อมรู้ชัดว่า เวทนาทั้งหมดในโลกนี้แหละ อันไม่น่าเพลิดเพลิน จักเป็นของเย็น เพราะสิ้นชีวิต เบื้องหน้าแต่กายแตก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน จะพึงลุกโพลงได้ ก็เพราะอาศัยน้ำมันและไส้ เพราะหมดน้ำมันและไส้ ประทีปน้ำมันไม่มีเชื้อ พึงดับไปฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน

ในพระสูตรทั้งหมด แม้ว่าจะเป็นการเจริญสมาธิ แต่จะไม่สิ้นสุดลงด้วยพยัญชนะที่เป็นเรื่องของสมาธิเท่านั้น แต่จะต้องการรู้ความจริงเป็นอริยสัจจธรรม เช่นข้อความที่ว่า

เมื่ออานาปานสติสมาธิอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล

ถ้าเสวยสุขเวทนา ก็ย่อมรู้ชัดว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าเพลิดเพลิน ไม่น่ายินดี

ซึ่งเป็นเครื่องเตือนให้ระลึกว่า ความรู้สึกมีทุกขณะจิต ไม่เคยขาดเลย บางครั้งเป็นอุเบกขา หรือใช้พยัญชนะว่า อทุกขมสุขเวทนา บางครั้งก็เป็นสุขเวทนา บางครั้งก็เป็นทุกขเวทนา แต่เป็นเครื่องระลึกว่า แม้เวทนานั้นก็ไม่เที่ยง ซึ่งสติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึกในขณะนั้นตามความเป็นจริงจึงจะละการยึดถือเวทนาต่างๆ นั้นได้

แม้เป็นผู้เคยเจริญอานาปานสติ และบรรลุฌานขั้นต่างๆ ก็ตาม ก็ยังจะต้องระลึกรู้ลักษณะของเวทนาที่เกิดในขณะนั้นว่า เป็นแต่เพียงสภาพความรู้สึกแต่ละชนิดที่ไม่เที่ยง และไม่พัวพัน ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน

การเจริญสมาธิต้องเป็นผู้ที่สะสมมาในการเจริญสมาธิด้วย สังเกตดูจากชีวิตในขณะนี้ก็ได้ ทุกคนมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และในวันหนึ่งๆ ก็มีการเห็น มีการได้ยิน มีการคิดนึก มีสักกี่ท่านที่เจริญสมาธิ

เมื่อการเจริญสมาธิมีน้อย และสมาธินั้นก็มีทั้งอารมณ์ที่หยาบ หรืออารมณ์ที่ประณีต โดยเฉพาะเรื่องของลมหายใจ ถึงแม้ว่าเป็นสิ่งที่มี แต่ก็เป็นสิ่งที่ประณีต

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสมาธิ มีสักกี่ท่านที่เจริญอานาปานสติจริงๆ โดยการระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจที่กระทบที่ปรากฏทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด จนกระทั่งจิตสงบขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ยาก อย่างอสุภกัมมัฏฐานยังหยาบกว่า มีท่านผู้ฟังหลายท่านที่สงสัยว่า ควรที่จะรู้ลักษณะของลมหายใจเพื่อจะได้หายสงสัย และเพื่อที่จะได้ช่วยผู้อื่นด้วย


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 90


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ