ใน ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ แสดงอาการ ๓๒

 
chatchai.k
วันที่  17 ก.ย. 2565
หมายเลข  44005
อ่าน  173

ในพระไตรปิฎกมีข้อสังเกตว่า ถ้าเป็นเรื่องส่วนต่างๆ ของร่างกายแล้ว ใช้คำว่า อาการ ๓๒ แต่ถ้านับดูจะมีอาการ ๓๑ เท่านั้น ส่วนอาการ ๓๒ นี้มีกล่าวไว้ใน ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ซึ่งมีข้อความที่แสดงอาการ ๓๒ ถ้าใช้ภาษาบาลีก็จะทำให้ทราบว่า คำไหนหมายความถึงอะไร

ในกายนี้มี เกสา ผม โลมา ขน นะขา เล็บ ทันตา ฟัน ตะโจ หนัง นั่นก็เป็นหมวด ๕

มังสัง เนื้อ นะหารู เอ็น อัฏฐิ กระดูก อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก วักกัง ไต

หมวดต่อไป หะทะยัง หัวใจ ยะกะนัง ตับ กิโลมะกัง พังผืด ปิหะกัง ม้าม ปัปผาสัง ปอด

หมวดต่อไปมี ๔ อันตัง ไส้ใหญ่ อันตะคุณัง ไส้น้อย อุทะริยัง อาหารใหม่ กรีสัง อาหารเก่า

นี่ก็เป็นอาการของธาตุดิน ๑๙

หมวดต่อไปเป็นอาการของธาตุน้ำ คือ

ปิตตัง ดี เสมหัง เสลด ปุพโพ หนอง โลหิตัง เลือด เสโท เหงื่อ เมโท มันข้น

หมวดต่อไปเป็น

อัสสุ น้ำตา วะสา มันเหลว เขโฬ น้ำลาย สิงฆาณิกา น้ำมูก ละสิกา ไขข้อ มูตตัง น้ำมูตร

และประการสุดท้าย คือ

มัตถะเก มัตถะลุงคัง มันสมอง หรือเยื่อในสมอง

จบ ปฎิกูลมนสิการบรรพ

แต่ในพระไตรปิฎกนั้นใช้พยัญชนะ ๒ อย่าง มันสมอง ๑ กับเยื่อในสมอง ๑ ความจริงก็มีความหมายเหมือนกัน คือ จะใช้คำว่ามันสมอง หรือเยื่อในสมองก็เหมือนกัน

สำหรับมันสมอง หรือเยื่อในสมองนั้นก็รวมอยู่ในเยื่อในกระดูก แต่ถ้าท่านผู้ฟังจะนับดูในพระไตรปิฎก จะพบว่าส่วนมากในพระสูตรเป็น ๓๑

อีกประการหนึ่ง พยัญชนะเดิมที่แปลว่าม้าม ความจริงแปลว่าไต คือ วกฺกโบราณแปลว่าม้าม แต่โดยความหมายแล้ว วกฺกไม่ใช่ม้าม แต่เป็นไต

เพราะฉะนั้น ข้อความที่อ่านตามพระไตรปิฎกที่ว่า เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ มีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม นั่นแปลตามโบราณ แต่ที่ถูกควรจะเป็นไต และส่วนที่เป็นไตก็ควรจะเป็นม้าม

เป็นข้อสังเกตที่ว่า ควรที่จะได้ทราบตามพยัญชนะบาลีด้วย คงไม่มีข้อสงสัย ว่าทำไมจึงได้แสดงส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยปฏิกูลมนสิการบรรพในมหาสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าตามธรรมดาผู้ที่ไม่ได้เจริญสติจนกระทั่งชินจนกระทั่งเป็นปกติ ย่อมหลงลืมสติเป็นธรรมดา วันหนึ่งๆ มีสิ่งที่จะให้ระลึกรู้ตลอดเวลาทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้งสี ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น ทั้งรส ทั้งโผฏฐัพพารมณ์ก็ปรากฏ และสติบางครั้งก็ระลึกได้ บางครั้งก็ระลึกไม่ได้

เพราะฉะนั้น เวลาที่ไม่สามารถที่จะระลึกเป็นไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยนามรูป บางครั้งเวลาที่เห็นส่วนต่างๆ ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย ก็อาจจะทำให้เกิดสติระลึกได้โดยความเป็นของปฏิกูล และก็รู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏนั้น ด้วยเหตุนี้จึงรวมอยู่ในมหาสติปัฏฐานด้วย

ที่เราหลงยึดถือร่างกายว่าเป็นตัวเรา ขอให้คิดดูว่า มองดูแล้วก็เหมือนกับรูปต่างๆ ชิ้น ที่เอามาต่อติดกันไว้นั่นเอง ขาตัดออกได้ไหม ได้ ผม หัวใจก็ตัดออกได้ แต่ที่เอามาต่อ เอามาติด เอามารวมกันไว้ ทำให้ยึดถือว่าเป็นรูป เป็นร่างกาย แต่ความจริงแล้ว แยกออกได้เป็นแต่ละอาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิกูล

บางท่านคงจะสงสัยว่า ในส่วนต่างๆ ของร่างกายนี้ก็เป็นกัมมัฏฐานของสมถภาวนาด้วย แต่การเจริญสมถภาวนากับการเจริญสติปัฏฐานนั้นต่างกันที่ว่า เวลาที่ระลึกเป็นไปในส่วนต่างๆ ของกายเพื่อให้จิตสงบโดยนัยของสมถกัมมัฎฐานนั้น มีความจงใจ มีความต้องการที่จะให้จิตสงบ

เพราะฉะนั้น จึงต้องมีวิธีที่ทำอย่างไรจิตจึงจะสงบได้ โดยผู้ที่ใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นเครื่องระลึกให้จิตสงบนั้นจะต้องรู้ว่ามีส่วนใดบ้าง แบ่งออกเป็นกี่ตอนหรือว่ากี่หมวด แล้วก็ท่องๆ จนคล่องทีเดียว โดยนัยของอนุโลมตามลำดับ คือ จากข้อต้นไปหาข้อท้าย และโดยนัยของปฏิโลม คือ จากท้ายมาหาต้น จนกระทั่งคล่องแคล่ว แต่จะต้องท่องด้วยปากเสียก่อน เมื่อท่องด้วยปากจนกระทั่งคล่องแคล่ว แล้วก็ท่องด้วยใจ

การท่องด้วยใจทำให้แม่นยำ และเป็นปัจจัยที่จะให้ระลึกถึงลักษณะของส่วนต่างๆ ที่เป็นปฏิกูลเพื่อที่จะให้จิตสงบด้วย นั่นเป็นสมถภาวนา ซึ่งก็จะต้องมีวิธีศึกษา แล้วก็เจริญจนกระทั่งจิตสงบถึงขั้นที่เป็นฌานจิต

แต่สำหรับนัยของการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่อย่างนั้น เป็นนัยที่เมื่อระลึกลักษณะส่วนหนึ่งส่วนใดของกาย สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะนั้น แล้วปัญญาก็รู้ชัดในลักษณะนั้นโดยความเป็นธาตุ


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 92


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ