ความสงบที่ประเสริฐ ความสงบที่แท้จริง คือ สงบจากกิเลสทั้งปวง

 
สารธรรม
วันที่  17 ก.ย. 2565
หมายเลข  44030
อ่าน  271

(ธาตุวิภังคสูตร)

ข้อความต่อไป เรื่องความสงบอย่างยิ่ง มีว่า

อนึ่งบุคคลนั้นแลยังไม่ทราบในกาลก่อน จึงมีอภิชฌา ฉันทะ ราคะกล้า อาฆาต พยาบาท ความคิดประทุษร้าย อวิชชา ความหลงพร้อม และความหลงงมงาย อกุศลธรรมนั้นๆ เป็นอันเขาละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ถึงความเป็นอีกไม่ได้ มีความไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยความสงบอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปสมะ อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่ง ประการนี้ ก็อุปสมะนี้ คือ ความเข้าไปสงบราคะ โทสะ โมหะ เป็นอุปสมะอันประเสริฐอย่างยิ่ง

ข้อที่เรากล่าวถึงดังนี้ว่า ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติเท่านั้น นั่นเราอาศัยเนื้อความนี้กล่าวแล้ว

คำว่า สงบ บางท่านเวลาที่อ่านพระสูตรอาจคิดว่า หมายความถึงสมาธิ แต่ความจริงไม่ใช่ ความสงบที่ประเสริฐ ความสงบที่แท้จริง คือ สงบจากกิเลสทั้งปวง ขออ่านตอนสุดท้ายให้จบ เพื่อจะได้ทราบว่า ในระหว่างที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมนั้น เมื่อทรงแสดงธรรมจบ ผลของพระธรรมเทศนาจะเป็นอย่างไรบ้าง ข้อความตอนสุดท้ายมีว่า

ลำดับนั้นแล ท่านปุกกุสาติทราบแน่นอนว่า พระศาสดาพระสุคตพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาถึงแล้วโดยลำดับ จึงลุกจากอาสนะ ทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ซบเศียรลงแทบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษล่วงเกินได้ต้องข้าพระองค์แล้ว ผู้มีอาการโง่เขลา ไม่ฉลาด ซึ่งข้าพระองค์ได้สำคัญถ้อยคำที่เรียกพระผู้มีพระภาคด้วยวาทะว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุ ขอพระผู้มีพระภาคจงรับอดโทษล่วงเกินแก่ข้าพระองค์ เพื่อจะสำรวมต่อไปเถิด

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุ เอาเถอะ โทษล่วงเกินได้ต้องเธอผู้มีอาการโง่เขลา ไม่ฉลาด ซึ่งเธอได้สำคัญถ้อยคำที่เรียกเราด้วยวาทะว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุ แต่เพราะเธอเห็นโทษล่วงเกินโดยความเป็นโทษ แล้วกระทำคืนตามธรรม เราขอรับอดโทษนั้นแก่เธอ

ดูกร ภิกษุ ก็ข้อที่บุคคลเห็นโทษล่วงเกิน โดยความเป็นโทษแล้ว กระทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไปได้ นั่นเป็นความเจริญในอริยวินัย

ไม่ว่าใครทำผิด ถ้าสำนึกแล้วก็แก้ตัว หรือว่ากระทำคืน คือ จะไม่ทำอย่างนั้นอีกต่อไป นั่นเป็นความเจริญในอริยวินัย ไม่ใช่ผิดก็ปล่อยให้ผิดต่อไป อย่างนั้นจะถึงความเจริญในอริยวินัยไม่ได้ ไม่ว่าจะผิดพลาดพลั้งไปในเรื่องใดๆ ก็ตาม แล้วรู้ว่าได้กระทำผิด ก็ไม่กระทำต่อไป แล้วกระทำสิ่งที่ถูก เริ่มสิ่งที่ถูกต่อไป นั่นย่อมถึงความเจริญในอริยวินัยได้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 96


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ