ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน

 
สารธรรม
วันที่  21 ก.ย. 2565
หมายเลข  44139
อ่าน  265

อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต ปฏิปทาวรรคที่ ๒ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ

ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า ๑

ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว ๑

สุขาปฏิปทาทันธาภิญญา ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า ๑

สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล

ข้อความต่อไปอธิบายแต่ละข้อที่ว่า

ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญานั้น ได้แก่ บุคคลที่โดยปกติเป็นคนที่มีราคะกล้า ย่อมได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่ราคะเนืองๆ บ้าง โดยปกติเป็นคนมีโทสะกล้า ย่อมได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่โทสะเนืองๆ บ้าง โดยปกติเป็นคนมีโมหะกล้า ย่อมได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่โมหะเนืองๆ บ้าง อินทรีย์ ๕ อ่อน ย่อมบรรลุช้า นี้เรียกว่า ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา

เพราะฉะนั้น ที่ว่าปฏิบัติลำบาก รู้ได้ช้า ไม่ได้หมายความว่าให้ไปทรมานตัวให้ลำบาก ให้ไปนอนลำบาก นั่งลำบาก รับประทานอาหารลำบาก ทุกข์ๆ ยากๆ อดๆ อยากๆ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ผู้ที่ปฏิบัติลำบาก เพราะโดยปกติเป็นคนมีราคะกล้า โทสะกล้า โมหะกล้า ก็ยากที่จะรู้ชัดในลักษณะของอารมณ์ที่กำลังประสบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะถ้าประสบกับอารมณ์ที่ดี เป็นคนมีราคะกล้าก็เพลินไปแล้ว ไม่ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าเป็นผู้ที่มีโทสะกล้า เวลาที่กระทบอารมณ์ก็เป็นไปกับโทสะ ไม่ระลึกรู้ลักษณะของอารมณ์ตามความเป็นจริง ประกอบทั้งอินทรีย์ ๕ อ่อน ไม่ได้เจริญศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาพอที่ว่า เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด ก็สามารถที่จะแทงตลอด ละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตนได้ เป็นผู้ที่เรียกว่า ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา

สำหรับผู้ที่เป็นบุคคลประเภท ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญานั้น โดยปกติเป็นผู้มีราคะกล้า โทสะกล้า โมหะกล้า แต่ว่าเป็นผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้า ย่อมบรรลุได้เร็ว นี้เรียกว่า ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา

ไม่ต้องไปฝืนหรือไปทำอะไร หรือว่าไปทรมาน แต่ว่าเป็นผู้ที่รู้ตัวดีว่า ท่านเองเป็นผู้ที่มีราคะกล้าไหม มีโทสะกล้าไหม มีโมหะกล้าไหม แต่เป็นผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้า เมื่อระลึกรู้ลักษณะของนามรูป ปัญญา ศรัทธา วิริยะ สติ ก็สามารถประจักษ์ชัดรูปธรรม หรือนามธรรมที่สติกำลังระลึกรู้อยู่

สำหรับสุขาปฏิปทาทันธาภิญญานั้น โดยปกติไม่เป็นคนมีราคะกล้า ย่อมไม่ได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่ราคะเนืองๆ บ้าง โดยปกติไม่เป็นคนมีโทสะกล้า โมหะกล้า แต่อินทรีย์ ๕ อ่อน ก็บรรลุช้า

ส่วนสุขาปฏิปทาขิปปาภิญญานั้น โดยปกติไม่ได้เป็นคนมีราคะกล้า ไม่ได้เป็นคนมีโทสะกล้า ไม่ได้เป็นคนมีโมหะกล้า และอินทรีย์ ๕ ก็แก่กล้า จึงบรรลุได้เร็ว

ข้อความต่อไปยังมีอีกนัยหนึ่ง ที่ว่า

ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญานั้น ได้แก่ ผู้ที่พิจารณาเห็นกายว่าไม่งาม อาหารเป็นของปฏิกูล เห็นสังขารไม่เที่ยง อินทรีย์ ๕ อ่อน ก็บรรลุช้า

ส่วนพวกที่เป็นทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญานั้น พิจารณาเห็นกายว่าไม่งาม อาหารเป็นของปฏิกูล เห็นสังขารไม่เที่ยง แต่เป็นผู้มีอินทรีย์ ๕ แก่กล้า ก็บรรลุเร็ว

ส่วนผู้ที่เป็นสุขาปฏิปทาทันธาภิญญาอีกนัยหนึ่งนั้น ได้แก่ ผู้ที่บรรลุฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔ แต่อินทรีย์ ๕ อ่อน ถึงแม้เป็นผู้ที่ได้บรรลุฌานจนกระทั่งถึงจตุตถฌานก็ตาม แต่เพราะเป็นผู้ที่มีอินทรีย์ยังอ่อน ยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ก็เป็นผู้ที่อินทรีย์ ๕ อ่อน จึงบรรลุช้า

สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญานั้นอีกนัยหนึ่ง ได้แก่ ผู้ที่ได้บรรลุฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔ แต่เป็นผู้ที่มีอินทรีย์ ๕ แก่กล้า ก็สามารถที่จะบรรลุอริยสัจธรรมได้เร็ว

เป็นชีวิตปกติธรรมดาจริงๆ คือ รวมทั้งผู้ได้ฌานที่เคยสะสมมา และผู้ที่ไม่ได้ฌานด้วย โดยนัยต่างๆ


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 110


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ