[คำที่ ๕๗๘] นิสฺสตฺต

 
Sudhipong.U
วันที่  22 ก.ย. 2565
หมายเลข  44143
อ่าน  599

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ : นิสฺสตฺต

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

นิสฺสตฺต อ่านตามภาษาบาลีว่า นิด - สัด - ตะ มาจากคำว่า นิ (ไม่มี, ไม่ใช่) [ซ้อน สฺ หลัง นิ] กับคำว่า สตฺต (สัตว์, สัตว์โลก) รวมกันเป็น นิสฺสตฺต เขียนเป็นไทยได้ว่า นิสสัตตะ แปลว่า ไม่มีสัตว์, ไม่ใช่สัตว์ เป็นคำที่มีความหมายที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะแสดงถึงความเป็นธรรม คือ สิ่งที่มีจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ เท่านั้น เกิดเพราะเหตุปัจจัยปรุงแต่งแล้วก็ดับไป เมื่อเป็นธรรมแต่ละหนึ่งๆ จึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนแต่อย่างใด มีแต่ธรรม เท่านั้น สัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่มี ที่มีการหมายรู้กันว่าเป็นคนนั้นคนนี้ หรือ เป็นสัตว์ต่างๆ ก็เพราะมีธรรมเกิดขึ้นเป็นไป นั่นเอง แต่เมื่อว่าโดยธรรมแล้ว ก็มีแต่ธรรมเท่านั้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ตามข้อความในสัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ ดังนี้

“ว่าโดยปรมัตถ์ (สภาพที่มีจริง มีลักษณะที่ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น) สัตว์ ย่อมไม่มีเลย”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษา เป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อปัญญาโดยตลอด เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ที่มีแล้วแต่ไม่รู้ ซึ่งไม่มีใครสามารถทำอะไรให้เกิดขึ้นได้เลย ทุกขณะเป็นสิ่งที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น เวลาที่กล่าวถึงธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงๆ แต่ละหนึ่งๆ ไม่ได้ปะปนกันเลย ธรรมมีจริงแต่หลากหลายต่างกัน เช่น ความโกรธ เป็นอย่างหนึ่ง ความติดข้องยินดีพอใจ เป็นอย่างหนึ่ง ศรัทธา สภาพที่ผ่องใส เป็นอย่างหนึ่ง ความละอาย ต่อบาป เป็นอย่างหนึ่ง ความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นอย่างหนึ่ง รูปแต่ละรูป เป็นแต่ละหนึ่งๆ

ตั้งแต่เกิดมา ก่อนฟังพระธรรม ไม่รู้ความจริงอะไรเลย หลงผิดว่าเป็นเรา หรือหลงผิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่เที่ยงยั่งยืน แต่แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่มีจริงนั้น มีลักษณะเฉพาะแต่ละหนึ่ง ซึ่งปะปนกันไม่ได้ เกิดแล้วก็ดับไป แม้แต่ที่กล่าวว่า ร่างกายของเรา มีความสำคัญในร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าว่าเป็นตาเรา หูเรา แขนเรา ขาเรา เป็นต้น ก็เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า ที่เป็นร่างกายนั้น จะมีลักษณะอย่างไรก็ไม่พ้นไปจากธรรมเลย เพราะฉะนั้นแต่ละลักษณะที่มีจริงสามารถเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงได้ว่า เมื่อสิ่งนั้นมีจริง มีลักษณะอย่างนั้น แล้วจะเป็นเราได้อย่างไร ซึ่งจะต้องเป็นผู้ตรงตั้งแต่ต้นว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นจริง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ยกตัวอย่างแข็งที่ร่างกาย ก็เป็นแข็ง เป็นธรรมอย่างหนึ่ง แล้วจะบอกว่าเป็นเราได้อย่างไร ในเมื่อแข็งเป็นแข็ง แข็งจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย ตัวอย่างต่อไป เช่น ได้ยิน ก็มีจริงๆ เป็น

ธรรมอย่างหนึ่ง ได้ยิน เป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากได้ยิน เป็นเห็นไม่ได้ เป็นความรู้สึกไม่ได้ ต้องเป็นเฉพาะได้ยินเท่านั้น เมื่อได้ยินเกิดขึ้นก็ต้องรู้เสียงเท่านั้น รู้อย่างอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเป็นผู้ตรงในทุกคำที่ได้ยินได้ฟัง แข็งไม่ใช่เรา ได้ยินไม่ใช่เรา กุศลไม่ใช่เรา อกุศลไม่ใช่เรา รูปไม่ใช่เรา ทั้งหมดนั้นล้วนแสดงให้เห็นถึงความจริงของสิ่งที่มีจริงว่า เป็นธรรมแต่ละชนิด ซึ่งมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น นี้คือการเริ่มฟังความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ให้เข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริง เพื่อที่จะได้รู้ว่ามีจริงๆ เพียงชั่วคราว และสิ่งที่มีจริงนั้นก็เป็นแต่เพียงธรรมแต่ละอย่างๆ เท่านั้น เมื่อมีความเข้าใจในความเป็นธรรมอย่างถูกต้องแล้ว ย่อมประโยชน์เกื้อกูลในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น เมื่อเข้าใจว่าเป็นธรรมแล้ว จะโกรธคนอื่นไหม ในเมื่อไม่มีคนแล้วจะโกรธใคร มีแต่ธรรมเท่านั้น แทนที่จะโกรธก็ไม่โกรธ แต่เกิดกุศล ด้วยความเข้าใจในความเป็นธรรม นั่นเอง

คำว่า “นิสสัตตะ คือ ไม่มีสัตว์หรือไม่ใช่สัตว์” นั้น แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมว่า เมื่อเป็นธรรมแล้ว จะเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนได้อย่างไร ก็เป็นแต่เพียงธรรมแต่ละหนึ่งๆ เท่านั้น ถ้ามีความเข้าใจธรรม แต่ละหนึ่งว่า แท้ที่จริงก็เป็นสิ่งที่มีจริงซึ่งมีลักษณะปรากฏเพียงชั่วคราวและเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็สามารถจะรู้ความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงให้ผู้อื่นได้เข้าใจถูกเห็นถูกว่า ขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมดเลย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย ไม่มีเราสักขณะเดียว ถ้ายิ่งฟัง ยิ่งจะเข้าใจถึงความเป็นธาตุที่มีจริงตามความเป็นจริงจนกว่าจะละคลายการยึดถือว่าเป็นเรา เพราะว่าได้มีความเข้าใจในความเป็นธรรม และที่จะมีความเข้าใจถูกเห็นถูกอย่างนี้ได้นั้น ต้องรู้ว่าพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทรงแสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ โดยไม่มีใครสามารถทำให้เกิดขึ้นได้เลย ทุกขณะตั้งแต่เกิดจนตาย ก็เป็นแต่เพียงธรรมแต่ละหนึ่งๆ เป็นธรรมที่เป็นสภาพรู้ คือนามธรรม กับธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ คือรูปธรรม เท่านั้นจริงๆ ซึ่งจะต้องมีความอดทน มีความเพียร มีความจริงใจ มีความตั้งใจมั่นที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจยิ่งขึ้นต่อไป


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ก.ย. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เข้าใจ
วันที่ 23 ก.ย. 2565

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 24 ก.ย. 2565

กราบยินดีในความดีด้วยค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ