อย่างไรจึงจะเรียกว่าปีติ อย่างไรจึงจะเรียกว่าโสมนัส

 
สารธรรม
วันที่  25 ก.ย. 2565
หมายเลข  44176
อ่าน  204

ถ. มีนามธรรมอยู่อีกประเภทหนึ่ง ที่ท่านไม่ได้จัดไว้ในหมวดของเวทนา คือปีติเจตสิก ปีติเจตสิกกับโสมนัสนี้ รู้สึกว่าใกล้เคียงกันเหลือเกิน แยกกันอย่างไรไม่ค่อยจะถูกว่า อย่างไรจึงจะเรียกว่าปีติ อย่างไรจึงจะเรียกว่าโสมนัส

สุ. เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท ที่ทางธรรมใช้คำว่า ๕๒ ดวง เวทนาเจตสิก ๑ ดวงเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก ๑ ดวงเป็นสัญญาขันธ์ ปีติและเจตสิกอื่นเป็นสังขารขันธ์ สุขเป็นสภาพที่เสวยอารมณ์เป็นสุข แต่ปีตินั้นเป็นความปลาบปลื้ม ซึ่งกล่าวไว้ในหมวดของเวทนานุปัสสนา เพราะเวทนานั้นประกอบด้วยปีติ ลักษณะก็ปรากฏชัดสำหรับตติยฌาน เพราะในขณะนั้นเป็นสุขเวทนาที่ประกอบด้วยปีติ ยังไม่ได้ละปีติ พอถึงจุตตถฌานโดยปัญจกนัย ก็ละปีติ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเจริญสติต้องรู้ลักษณะความต่างกันของเวทนาที่ประกอบ ด้วยปีติและไม่ประกอบด้วยปีติ แล้วแต่การพิจารณาความละเอียดของผู้ปฏิบัติ

ในประการต้น เสวยสุขเวทนาก็รู้ เสวยทุกขเวทนาก็รู้ เสวยอทุกขมสุขเวทนาก็รู้ นี่ยังเป็นเรื่องทั่วๆ ไปตามกำลังของสติที่จะระลึกได้ ยังไม่รู้ละเอียด แต่ขณะใดที่เป็นสุขเวทนาก็ระลึกรู้ว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เวลาที่ทุกขเวทนาเกิดขึ้นปรากฏ สติก็ระลึกรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ส่วนที่จะรู้ละเอียดมากกว่านั้นก็เป็นความละเอียดของผู้ปฏิบัติที่ต้องสำเหนียกสังเกตมากขึ้น แล้วพิจารณารู้ทั่วขึ้น


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 113


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ