เวทนามีอามิส และไม่มีอามิส

 
สารธรรม
วันที่  25 ก.ย. 2565
หมายเลข  44199
อ่าน  932

ในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คงจะได้ผ่านพยัญชนะที่ว่า สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา

สุขเวทนามีอามิส ทุกขเวทนามีอามิส อทุกขมสุขเวทนามีอามิส และสุขเวทนาไม่มีอามิส ทุกขเวทนาไม่มีอามิส อทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส

ซึ่งข้อความในเรื่องมีอามิส ไม่มีอามิส นัยของ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค นิรามิสสูตร ได้แสดงเรื่องของมีอามิสว่า หมายถึงเวทนาเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ส่วนไม่มีอามิสนั้นหมายถึง เวทนาเกิดขึ้นเพราะอาศัยสมาธิ หรือเกิดขึ้นเป็นไปกับฌานจิต

สฬายตนวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ที่ในอรรถกถา แสดงว่า เคหสิต หมายถึงเวทนาอาศัยกามคุณ เนกขัมมานิสิตานิ หมายความถึงเวทนาอาศัยวิปัสสนา

อรรถกถาสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค นิรามิสสูตร มีข้อความว่า คำว่า มีอามิสนั้น คือ มีกิเลส เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะกล่าวว่าเป็นเนกขัมมะซึ่งเกิดจากการเจริญสมาธิเป็นฌานจิต แต่ในอรรถกถาได้กล่าวไว้ตรงกับใน สฬายตนวิภังคสูตร ว่า คำว่า มีอามิสนั้น คือ มีกิเลส

เป็นเรื่องความละเอียดของพยัญชนะ แต่ถ้าเป็นเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแล้วก็คือว่า ถ้าท่านผู้ใดที่ยังไม่ได้เริ่มพิจารณาเวทนา ความรู้สึก พิจารณาแต่เพียงบางนามบางรูป ให้ทราบว่ายังรู้ไม่ทั่ว ยังต้องเจริญปัญญาอีกมากนัก อย่าเพิ่งคิดว่าจะรู้แจ้งการเกิดขึ้นและดับไป เพราะปัญญายังรู้สภาพธรรมที่มี ที่เกิดขึ้นปรากฏ แล้วก็ยึดถือว่าเป็นตัวตนนั้นไม่ทั่ว เป็นต้นว่า ถ้าท่านยังไม่เคยระลึกรู้สภาพของความรู้สึก สติจะต้องระลึกรู้เพื่อละการยึดถือความรู้สึกนั้นว่าเป็นตัวตน เพราะการรู้แจ้งอริยสัจ-ธรรมได้นั้นต้องเป็นปัญญาที่รู้แจ้ง ซึ่งต้องอาศัยการเจริญอบรมความรู้ในลักษณะของนามและรูปให้เพิ่มขึ้น มากขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะรู้แจ้งได้ แล้วต้องมีความอดทนมากที่จะระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ว่าหนทางนี้ก็เป็นหนทางที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกได้ดำเนินมาแล้ว

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นสาวกต้องการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ไม่มีหนทางอื่น ต้องเป็นหนทางนี้เองที่จะต้องเพียรอดทนระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 116


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ