ความหมายของสติปัฏฐาน ๓

 
สารธรรม
วันที่  25 ก.ย. 2565
หมายเลข  44200
อ่าน  439

สัมโมหวิโนทนีย์ อรรถกถาวิภังคปกรณ์ สติปัฏฐานวิภังคนิทเทส มีข้อความเรื่องสติปัฏฐาน ๓ ซึ่งมีคำอธิบายว่า

ที่โคจรแห่งสติ ท่านเรียกว่า สติปัฏฐาน

ที่โคจรแห่งสติ หมายความว่า ที่สติระลึกรู้ ได้แก่ อารมณ์นั่นเอง เพราะเหตุว่า สติเป็นนามธรรม สติก็ต้องรู้อารมณ์ ขณะที่สติระลึกรู้อารมณ์ใด อารมณ์นั้นเป็นโคจร เป็นที่ตั้งที่ระลึกของสติ

ความหมายของสติปัฏฐาน ๓ คือ

ความหมายประการที่ ๑ คือ ที่โคจรแห่งสติ ท่านเรียกว่า สติปัฏฐาน

ในพระบาลีเป็นต้นว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความเกิดขึ้น และความดับไปแห่งสติปัฏฐานทั้ง ๔

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความเกิดขึ้น และความดับไปแห่งสติปัฏฐานทั้ง ๔ พวกเธอจงฟังข้อความนั้น จงใฝ่ใจด้วยดี

และข้อความต่อไปแสดงว่า สติปัฏฐาน ได้แก่ กาย เวทนา จิต ธรรม

ความหมายประการที่ ๒ คือ

ในคำนี้ว่า พระศาสดาผู้อริยะย่อมเสพซึ่งธรรมใด ธรรมนั้นคือสติปัฏฐาน พระศาสดาผู้อริยะเมื่อส้องเสพอยู่ซึ่งธรรมนั้น ย่อมควรเพื่อตามสอนหมู่คณะ

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐานเองจะไม่ทราบเลยว่า หนทางนี้เป็นหนทางที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงดำเนิน และพระอริยสาวกดำเนินหนทางเดียวกันนี้จึงสามารถที่จะประจักษ์สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลจะไม่สงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพราะท่านจะต้องละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ไม่มีความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ท่านรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ปัญญาของท่านสมบูรณ์ขึ้นเป็นขั้นๆ ด้วยการที่เจริญสติ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติธรรมดา ท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ไม่ใช่ทำให้ผิดปกติ สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดแล้วปรากฏ

ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานสติระลึกรู้ลักษณะของเห็น และสีที่กำลังปรากฏ รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน ทางหูสติระลึกรู้ลักษณะของเสียง ระลึกรู้ลักษณะของได้ยิน รู้สภาพธรรมที่รู้เรื่องรู้ความหมายของเสียง รู้สุข รู้ทุกข์ รู้อุเบกขาที่เกิดปรากฏตามปกติ แล้วก็รู้จนกระทั่งเป็นพระอริยบุคคล เพราะสติระลึกในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมที่กำลังปรากฏตามปกตินี้เอง ท่านเหล่านั้นดำเนินหนทางนี้ทั้งนั้น แต่ไม่มีในศาสนาอื่น ซึ่งถ้าไม่ใช่เป็นการรู้แจ้งแล้ว จะไม่มีการเจริญสติตามปกติที่กำลังเห็น กำลังได้ยินอย่างนี้

เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานเป็นทางดำเนินของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเข้าและพระอริยสาวก ไม่ใช่สติที่ในศาสนาอื่นก็มี คือ เป็นไปในทาน หรือเป็นไปในศีล หรือเป็นไปในสมาธิเท่านั้น แต่เป็นสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแล้วรู้ชัด และสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

ความหมายของสติปัฏฐานประการที่ ๓ คือ

สติซึ่งเป็นนามธรรม สติที่เป็นไปในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมนั่นเองเป็นสติปัฏฐาน

เพราะฉะนั้น ถ้าได้ยินคำว่า สติปัฏฐาน ๓ ให้ทราบความหมายคือ

๑. หมายถึงอารมณ์ของสติ ได้แก่ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นสติปัฏฐาน

๒. เป็นหนทางซึ่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวกดำเนิน และรู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วยหนทางนี้

๓. หมายถึงสติซึ่งเป็นสภาพที่ระลึกรู้กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่สติที่เพียงเป็นไปในทาน หรือศีล หรือสมาธิเท่านั้น

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ถ้าท่านไม่เจริญสติปัฏฐาน ปัญญาไม่เจริญ สติก็ไม่เจริญ เป็นการจำกัดสติเฉพาะบางสถานที่ เฉพาะบางอารมณ์ เป็นการจำกัดปัญญาเฉพาะสถานที่ เฉพาะบางอารมณ์ แต่ขอให้คิดถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงซึ่งเกิดดับเร็วมาก ถ้าไม่เจริญสติ ไม่ระลึกรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามของรูปแต่ละชนิดตามความเป็นจริง สามารถที่จะรู้ได้ไหมว่า นามนั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป รูปนั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป นามอีกชนิดหนึ่งเกิดต่อแล้วก็ดับไป รูปอีกชนิดหนึ่งเกิดต่อแล้วก็ดับไป เพราะสิ่งเหล่านี้มีเป็นปกติในชีวิตประจำวันซึ่งจะต้องรู้จึงจะละ ถ้าไม่รู้ก็ไม่ละ

อย่างกายก็ต้องรู้ เพราะมีปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของกายที่สติระลึกได้ ก็แสดงให้เห็นสภาพความจริงว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เพียงอ่อน เพียงแข็ง เพียงร้อน เพียงเย็น เพียงตึง เพียงไหว เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป บ่อยๆ เนืองๆ ยังไม่พอ เพราะการที่สติจะระลึกเป็นไปในวันหนึ่งๆ มีใครบังคับสติได้ว่า ให้อยู่เฉพาะที่กาย ด้วยเหตุนี้จึงมีสติปัฏฐาน ๔ ไม่ได้แสดงสติปัฏฐานเดียวเลย เป็นไปไม่ได้ที่สติของใครจะระลึกรู้แต่เฉพาะที่กายอย่างเดียว ซึ่งวิสัยของปุถุชนซึ่งหนาแน่นด้วยกิเลส ทำให้หลงลืมสติ แต่ผู้ที่เจริญสติก็ต้องเจริญสติต่อไป ไม่ใช่ไปหยุดอยู่ที่เฉพาะบางรูปหรือบางนามด้วยความจงใจ คิดว่าจะต้องรู้เฉพาะรูปนั้นหรือนามนั้น ซึ่งไม่เป็นการเจริญปัญญา แล้วก็เป็นการบังคับสติ ซึ่งถึงจะบังคับอย่างไรก็บังคับไม่ได้ ไม่มีใครบังคับให้สติรู้อยู่เฉพาะแต่ที่กายเท่านั้น


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 116


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ