เมื่อเป็นผู้มีสติ สติระลึกเป็นไปในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

 
สารธรรม
วันที่  25 ก.ย. 2565
หมายเลข  44202
อ่าน  298

ถ. เรื่องนี้ความจริงเป็นเรื่องเก่า และผมเข้าใจดีแล้วเกี่ยวกับอิริยาบถ ๔ คือ ขณะที่มีอิริยาบถ ๔ จะเป็นยืนก็ดี เดินก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี ย่อมรู้โลกทั้ง ๖ โลก ตามที่ท่านอาจารย์กล่าว ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อเกิดขึ้น ก็มีสติรู้ตลอด แต่ติดอยู่ที่พยัญชนะที่ว่า เมื่อเดินก็รู้ชัดว่าเดิน เมื่อนั่งก็รู้ชัดว่านั่ง คำว่าเดิน ว่านั่ง ว่ายืน ว่านอน ให้รู้ชัดอยู่อย่างนี้ เป็นการรู้ชัดเดินนี้ หรือรู้ชัดนอนนี้ รู้ชัดกิริยาที่นั่งอยู่นี้ นี่ก็ประการหนึ่ง

อีกอย่างหนึ่งที่ว่า หรือว่ากายของภิกษุนั้นตั้งอยู่ด้วยประการใดๆ ภิกษุนั้นก็รู้จักกายนั้นด้วยประการนั้นๆ ดังนี้ เป็นคำกล่าวรวมหมดทุกอย่าง มีคำอธิบายว่า กายของภิกษุนั้นตั้งอยู่ด้วยอาการใดๆ ภิกษุนั้นก็รู้จักกายนั้นด้วยอาการนั้น คือ รู้จักกายนั้นว่าตั้งอยู่ด้วยอาการนั้นๆ กายนั้นตั้งอยู่ด้วยอาการยืน นั่ง นอน ก็รู้ได้ว่า ยืน นั่ง นอน คำว่า หรือในภายในอย่างนี้ คือ เล็งเห็นกายในจำพวกกายด้วยการกำหนดอิริยาบถ ๔ ของตนอย่างนี้

นี่เป็นเรื่องของพยัญชนะ แต่ถ้าพูดตามคำที่อาจารย์บรรยายไว้ ผมเข้าใจชัดว่าขณะที่นั่งอยู่นี้ หรือยืนอยู่นี้ หรือเดินอยู่นี้ หรือนอนอยู่นี้ ย่อมมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้สัมผัสทางกาย สารพัดที่จะรู้ได้ถ้ามีสติพอ แต่ที่มาจำกัดอิริยาบถให้รู้ชัดว่านั่งอยู่ นอนอยู่ หรือเดินอยู่ ก็เป็นพยัญชนะที่ไม่ค่อยชัด

สุ. ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามัคค ข้อ ๗๒๗ มีข้อความว่า

พิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไร ย่อมพิจารณาเห็นกองธาตุดินโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ย่อมพิจารณาเห็นกองธาตุน้ำ ไฟ ลม กองผม ขน ผิว หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

กายปรากฏไม่ใช่สติ สติปรากฏด้วย เป็นตัวสติด้วย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนั้นด้วยสติและญาณนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงเรียกการพิจารณาเห็นกายในกายว่า สติปัฏฐานภาวนา

ข้อ ๗๒๘ ภิกษุมีปกติพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่อย่างไร ย่อมพิจารณาเห็นสุขเวทนาโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ย่อมพิจารณาเห็นทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนาโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ข้อ ๗๒๙ มีข้อความว่า ภิกษุมีปกติพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่อย่างไร

ข้อ ๗๓๐ ภิกษุมีปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่อย่างไร

เพราะต้องมีลักษณะของสิ่งที่จะพิสูจน์ให้รู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ต้องเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นผู้มีสติเดิน เป็นผู้มีสตินั่ง เป็นผู้มีสตินอน เป็นผู้มีสติยืน ไม่ได้จำกัดเลยว่ารู้อะไร แต่เป็นเพราะเมื่อเป็นผู้มีสติ สติระลึกเป็นไปในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

อย่างเวทนา จะพิจารณาระลึกรู้ลักษณะของเวทนา ก็ต้องมีนั่ง นอน ยืน เดิน มีรูปที่ประชุมรวมกัน ตั้งอยู่ ทรงอยู่ในอิริยาบถหนึ่งอิริยาบถใด แต่ก็มีเวทนาปรากฏที่สติจะต้องระลึกรู้ ถ้าไม่ระลึกที่กาย ก็ระลึกที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม แต่ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถยืนอย่างไร ยืนงอเท้า นั่งยกแขน ก็จะต้องมีส่วนของรูปที่ปรากฏ กายมีปรากฏ สติระลึกรู้กายที่ปรากฏ ต้องมีลักษณะของรูปแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

จะนั่งอย่างไร นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ นั่งห้อยเท้า นั่งกอดอก เวลาที่มีรูปปรากฏในส่วนใด ที่ทรงอยู่ในอาการอย่างไร ก็พิจารณาเห็นกายในกาย ต้องมีลักษณะของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมปรากฏให้รู้ได้ แม้แต่ลมหายใจ เวลากระทบโผฏฐัพ-พารมณ์ ก็ต้องปรากฏเป็นสภาพที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ที่กายนี้มีกายปสาทซึมซาบอยู่ทั่วไป เมื่อระลึกที่กาย กระทบที่กาย ก็ปรากฏเป็นสภาพที่อ่อน แข็ง เย็น ร้อน ตึง ไหวนั่นเอง

กำลังนั่ง ก็มีเวทนา มีจิต มีธรรม ไม่ได้จำกัดเจาะจงว่าให้รู้อะไร เพราะ แล้วแต่ว่าส่วนใดสิ่งใดปรากฏ สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด ก็มีลักษณะของสภาพธรรมนั้นปรากฏให้รู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 116


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ