ผลที่ต้องการนั้นคืออะไร ปฏิบัติ ๗ ปี ได้ผลน้อยเหลือเกิน

 
สารธรรม
วันที่  25 ก.ย. 2565
หมายเลข  44213
อ่าน  180

ถ. ที่อาจารย์บรรยายเป็นทางสายกลาง เป็นสติปัฏฐาน เป็นวิปัสสนา รู้สึกว่าผู้ที่สอนได้เก่งมากทีเดียว ผมเองเป็นคนที่เรียกว่าถึงจะศึกษามาเท่าไรๆ ก็คล้ายดอกบัวใต้น้ำ คือ ปฏิบัติไม่ได้สักที อาจจะเข้าใจบ้างนิดหน่อยแต่ปฏิบัติไม่สำเร็จ หรือได้น้อยเหลือเกิน ในระยะเวลา ๗ ปีนี้ได้ผลน้อยเหลือเกิน

สุ. ผลที่ต้องการนั้นคืออะไร

ถ. ที่ต้องการนั้นคือ ให้ทุกข์ลด เพราะอยู่ในโลกนี้ไปนานๆ ทุกข์ยิ่งมาก ไม่ค่อยได้สมใจ ทุกข์มากก็หาหนทางที่จะทำให้ทุกข์ลด

สุ. การละคลายทุกข์ ต้องทราบว่าเป็นขั้นๆ อย่างไร ขั้นแรกที่สุด ละ สักกายทิฏฐิ การยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเป็นตัวตน ขณะนี้มีเห็น ถ้าไม่เจริญสติก็เข้าใจผิดคิดว่าเราเห็น หรือเป็นตัวตนที่เห็น ความทุกข์เกิดจากความไม่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้ารู้สภาพธรรมที่ปรากฏมากขึ้น ความไม่รู้ซึ่งเป็นมูลเหตุของทุกข์ก็จะลดคลายลง

ถ. ตามที่ฟังๆ มาว่า คนปัญญาดีที่สุดเป็นดอกบัวพ้นน้ำที่จะรอรับแสงอรุณนี้ไม่เกิน ๗ วัน ถ้าคนชั้นกลางก็ ๗ เดือน คนโง่ เวไนยสัตว์ก็ ๗ ปี ผมก็เลย ๗ ปีแล้ว วิตกอยู่

สุ. ในครั้งพุทธกาล การเจริญสติปัฏฐานไม่ได้มีกำหนดเวลา การที่ผลจะเกิดขึ้นต้องแล้วแต่เหตุ บางท่านถึง ๑๖ ปี บางท่านถึง ๒๕ ปี บางท่านตลอดชีวิตยังไม่บรรลุ แต่ท่านก็เจริญสติปัฏฐานโดยที่ท่านรู้ว่าเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผล เมื่อผลยังไม่เกิด แต่เหตุมีสมบูรณ์แล้วเมื่อไร ผลก็ต้องเกิดเมื่อนั้น แต่ไม่ใช่ไปเร่งรัดว่าจะต้องเกิด

ถ. ถ้าอย่างนั้นรู้สึกว่าเนิ่นช้ามาก ชีวิตของเราอาจจะตายลงไปเมื่อไรก็ไม่รู้ เพื่อความไม่ประมาท ผมว่าเร่งๆ ไว้ก็ดี ผมโทษบุคคล ๒ จำพวก ผมไม่สำเร็จภายใน ๗ ปีนี้ ผมโทษครู และโทษตัวผม แต่ถึงแม้จะเลยไปก็ไม่เป็นไร ขอให้เข้าใจถูกทาง คือ ถ้าเข้าไม่ถูกทางแล้วจะมีแต่ห่างออกไป พระอาจารย์ให้ผิดพลาดไปนี่ไม่มีหวัง ยิ่งเดินไปก็ยิ่งห่างเกินไป เพราะฉะนั้น ถ้าได้อาจารย์ถูกแล้วเราเข้าใจ มนสิการได้ดีแล้ว ถึงแม้จะไม่สำเร็จในชาตินี้ ก็ยังเป็นปัจจัยในชาติหน้า แต่ถ้าได้อาจารย์ผิด เวลานี้ผมว่าที่ผิดๆ มาก แล้วที่ว่าทำได้ทุกหนทุกแห่งนี้ ก็สงสัยอยู่ เพราะอาจารย์ก็ว่า กรรมเป็นปลิโพธ อาจารย์ต่างๆ ว่า ปลิโพธ ๑๐ ก็มีกรรมอยู่ด้วย แต่อาจารย์ว่า กรรมไม่เป็นปลิโพธ นี่ก็สงสัย

สุ. มีกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรค ในปลิโพธ ๑๐ ประการ ที่เป็นเครื่องกั้นการ เจริญสติปัฏฐานมีประการเดียว ซึ่งเป็นประการสุดท้าย คือ อิทธิปลิโพธ

ถ. อย่างไรก็ตาม ผมต้องเอาเหตุผลเข้าจับด้วย ทั้งหลักฐานและเหตุผล ที่กรรมไม่เป็นปลิโพธนี้ ก็ลองทำแล้วทำไม่ได้ คือ ถ้ากรรมไม่เป็นปลิโพธก็ทำได้ทุกหนทุกแห่ง เมื่อทำได้ทุกหนทุกแห่งนี้ คือ ปัญญาอย่างเรามนสิการไม่ทัน ไปทางสมมติกับไปทางปรมัตถ์นี้ไม่ทัน อย่างผมขับรถยนต์ ผมขับมา ๓๐ - ๔๐ ปี ผมก็ทำไม่ทัน ผมมีความชำนาญอยู่มากก็ทำไม่ทัน เกือบจะชนเขาทุกที นอกจากนั้นยังมีในกรณีอื่นอีกมาก ซึ่งถ้าอ่านในมหาสติปัฏฐานแล้ว ไม่มีในมหาสติปัฏฐาน ท่านไม่ได้บอกว่า กิริยาอาการอย่างนั้นทำได้ ท่านไม่ได้บอกไว้

สุ. มีอะไรในมหาสติปัฏฐานที่กล่าวว่า กิริยาอาการอย่างนั้นเจริญสติไม่ได้

ถ. ใน ๑๔ บรรพของกายานุปัสสนาไม่มีครับ ท่านไม่มีกล่าวถึงการขับรถ ขับเกวียน สมัยนั้นขับรถ หรืออะไร ท่านก็ไม่ได้กล่าวไว้

สุ. ในมหาสติปัฏฐาน ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขณะนี้กำลังยืนอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นสติปัฏฐานได้ไหม

ถ. ขณะที่ผมยืนอยู่เวลานี้ ไม่เป็นสติปัฏฐาน เป็นสติธรรมดา สติมีหลายขั้น สติของคนธรรมดา สติของคนถือศีล สติของคนที่มีสมาธิ สติของคนที่จะไปนิพพานนี้ต้องสติปัฏฐาน เวลานี้ผมยังไม่ได้ไป ยังไม่ได้เดินทางสายกลาง

สุ. สติเป็นโสภณเจตสิก ทรงแสดงธรรมวินัยโดยละเอียดทั้ง ๓ ปิฎกเพื่อเกื้อกูลอุปการะแก่เนยยบุคคล ไม่ใช่อุคฆฏิตัญญู ไม่ใช่วิปจิตัญญู แต่เป็นผู้ที่ศึกษาสอบทานเทียบเคียงเพื่อปฏิบัติถูกต้อง เพราะฉะนั้น ที่ท่านกล่าวว่า ขณะที่กำลังยืนอยู่อย่างนี้เป็นสติ แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ก็จะต้องเป็นสติที่เป็นไปในทาน หรือว่าเป็นไปในศีล หรือว่าเป็นไปในสมาธิ เพราะเหตุว่าสติเป็นโสภณเจตสิก ในขณะนี้ที่กำลังยืนอยู่นี้ เป็นสติที่เป็นไปในอะไร

ถ. ตอบท่านยาก แต่ไม่ใช่ทางสายกลางแน่ ก็เวลานี้ผมกำลังปุจฉาวิสัชนากับอาจารย์ แล้วผมจะไปเดินทางสายกลางได้อย่างไร ยังไปตามสมมติอยู่เวลานี้ คล้ายๆ กำลังศึกษาอยู่ ผมก็ว่าผมใช้สติอย่างนักเรียน อย่างครู ไม่ใช่สติปัฏฐานแน่

สุ. ใน มหาสติปัฏฐานสูตร ขอกล่าวถึง สัมปชัญญะบรรพ ซึ่งมีข้อความว่า

ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ความรู้ตัวในการก้าวไปข้างหน้า และถอยกลับมาข้างหลัง ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะในการแลไปข้างหน้า และเหลียวไปข้างซ้าย ข้างขวา

ขณะนี้แลไปข้างหน้าหรือไม่

ถ. ไม่ได้หรอกครับ ไม่มีทาง เวลานี้ผมไม่ได้ไปสายกลาง

สุ. ไม่ควรเป็นผู้หลงลืมสติ ไม่ควรเป็นผู้ประมาท ในขณะนี้มีการแลไปข้างหน้า เจริญสติปัฏฐานได้ไหม


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 118


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ