ผู้ที่เจริญสติเป็นผู้รู้ลักษณะของสติ จึงเจริญสติปัฏฐานได้
ถ. ถูกที่อาจารย์บอกว่า เห็นเป็นนามธรรม เป็นรูปเป็นนาม อาจารย์บอกทำเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้จดได้หรือ พูดได้หรือ ต้องนึกไปข้างหน้า ข้างหลัง ผมต้องนึก พูดไม่ได้ ตอบไม่ได้ เห็นเป็นรูปเป็นนาม แล้วจะตอบได้อย่างไร ต้องเห็นเป็นเนื้อความเป็นใจความ ทั้งข้างหน้าทั้งข้างหลัง กิเลสเข้าแล้ว ในขณะที่จดที่เขียนอะไรนี่ไม่ได้เห็นเป็นรูปเป็นนามแล้ว ไม่รู้ว่าเป็นใคร ผมถามว่า เวลานี้เราสำรวมได้หรือไม่ได้ อาจารย์ว่าเห็นเป็นรูปเป็นนาม สำรวมได้หรือไม่ได้
สุ. สำหรับผู้ที่ไม่เคยเจริญสติเลย ก็ไม่ได้ แต่สำหรับผู้ที่ฟังธรรม เข้าใจ ลักษณะของสติ ระลึกรู้ว่าขณะใดเป็นขณะที่กำลังมีสติ ไม่ใช่หลงลืมสติ และขณะใดที่หลงลืมสติ ผู้ที่เจริญสติเป็นผู้ทราบ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติเป็นผู้รู้ลักษณะของสติจึงเจริญสติปัฏฐานได้ แต่ถ้าไม่รู้ลักษณะของสติแล้ว เจริญสติปัฏฐานไม่ได้
ถ. นี่แหละครับ ผู้ที่สำรวมเห็นเป็นรูปเป็นนาม เมื่อเห็นเป็นรูปเป็นนามแล้วไม่รู้เรื่อง เดินไปไหนก็ลำบากถ้าไม่ชำนาญ ผมถามท่านนี่เบื้องต้น ท่านมาอยู่นี่ ท่านเห็นเป็นรูปเป็นนามหรือไม่ที่นั่งอยู่นี่ ก็ไม่ใช่ เปอร์เซ็นต์น้อยนัก สัก ๕ เปอร์เซ็นจะเห็นเป็นรูปเป็นนาม ทางสมมติมีมากมาย ท่านต้องเข้าใจว่า สำรวม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างไร สำรวม ๕ เปอร์เซ็นต์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างไร นี่ท่านต้องเข้าใจ ไม่อย่างนั้นท่านจะทำพร่ำเพรื่อ ท่านจะนึกว่าท่านสำรวมมากแล้ว แต่เปล่า ไม่ได้สำรวมหรอก จะเข้าไปโรงหนัง หรือไนท์คลับจะสำรวมอย่างไหน สำรวมได้น้อยเหลือเกิน ท่านต้องจัดสิ่งแวดล้อม ท่านต้องจัดตัวของท่านทุกอย่าง ทั้งกาย ทั้งใจ กายวิเวก จิตวิเวก ท่านต้องจัด เปอร์เซ็นต์จึงจะเพิ่มขึ้น ถ้าท่านไม่สมบรูณ์แล้ว ไม่มีหวัง มีหวังน้อยที่สุดเลย ผลได้น้อยที่สุดอย่างนี้
สุ. ไม่มีในพระไตรปิฎกที่ว่า ผู้สังวรตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแล้วไม่รู้เรื่อง ไม่มีกล่าวไว้เลยในพระไตรปิฎก เพราะการเจริญสติปัฏฐานเป็นการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ ตามปกติ ถ้าขณะปกติเห็นมีจริง รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร มีจริง มีสติระลึกรู้ว่า ทั้งเห็นก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ทั้งสภาพที่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนสำหรับผู้ที่รู้แจ้งธรรม สำหรับผู้ที่เจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่หลงเข้าใจผิด
เพราะฉะนั้น ไม่มีเลยในพระไตรปิฎกที่จะกล่าวว่า เมื่อผู้ใดเจริญสติปัฏฐาน สังวรตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วเกิดโทษเกิดภัย หรือไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร แม้แต่การบิณฑบาตก็มีการสังวรตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะเหตุว่าสังขารธรรมทุกประเภทเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ที่จะให้ไปยับยั้งให้มีอยู่แต่ทางตา ไม่ให้ผ่านไปถึงทางใจ ผู้ที่ศึกษาปรมัตถธรรมแล้วก็ทราบได้ว่า ถ้าเป็นการเจริญสติปัฏฐานตามปกติแล้ว จะไม่เป็นอย่างนั้นเลย
วิถีจิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏไม่ชัด ชวนจิตก็ไม่เกิด แต่ไม่ใช่หมายความว่ามีตัวตนไปจดจ้อง ไปบังคับ ไปยับยั้งไว้ไม่ให้ชวนะเกิด ไม่ให้โลภะเกิด ไม่ให้โทสะเกิด ไม่ให้โมหะเกิด ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เป็นการรู้จักสภาพชีวิตของท่านตามความเป็นจริง เพราะว่าชีวิตของแต่ละคนนั้นมีการสะสมมาที่จะให้นามรูปเกิดขึ้นปรากฏต่างๆ กันตามเหตุปัจจัย
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติ เป็นผู้ระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดกับตนตามความเป็น จริงว่า สภาพธรรมแต่ละชนิดในวันหนึ่งๆ มีลักษณะเป็นนามธรรมบ้าง มีลักษณะเป็นรูปธรรมบ้าง ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ตัวตน แต่ผู้ใดที่เจริญสติปัฏฐานแล้วไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ลักษณะความหมายของสิ่งที่ปรากฏ นั่นไม่มีในพระไตรปิฎก
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...