จิตวิเวก เป็นไฉน

 
สารธรรม
วันที่  28 ก.ย. 2565
หมายเลข  44264
อ่าน  177

ข้อความต่อไปมีว่า

จิตวิเวก เป็นไฉน

ที่ออกไป ต้องการพ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย ผู้ที่มีกายวิเวกออกไปแล้วก็ไม่ใช่เพียงแต่ออกไปเฉยๆ แต่ก็ยังมีความต้องการที่จะสงบจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะด้วย ข้อความมีว่า

จิตวิเวก เป็นไฉน

ภิกษุบรรลุปฐมฌานมีจิตสงัดจากนิวรณ์ บรรลุทุติยฌานมีจิตสงัดจากวิตก วิจาร บรรลุตติยฌานมีจิตสงัดจากปีติ บรรลุจตุตถฌานมีจิตสงัดจากสุขและทุกข์ บรรลุอากาสานัญจายตนฌานมีจิตสงัดจากรูปสัญญา ปฏิฆะสัญญา และนานัตต-สัญญา บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานมีจิตสงัดจากอากาสานัญจายตนสัญญา บรรลุอากิญจัญญายตนฌานมีจิตสงัดจากวิญญาณัญจายตนสัญญา บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานมีจิตสงัดจากอากิญจัญญายตนสัญญา

สงัดขึ้นเรื่อยๆ สงบขึ้นเรื่อยๆ สำหรับจิตวิเวก แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์อันสูงสุดในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เพียงแค่นั้น เพราะถึงแม้ว่าไม่ใช่พระพุทธศาสนา กายวิเวกก็มี จิตวิเวกก็มี แต่สำหรับในพระพุทธศาสนานั้น เป็นการเจริญปัญญารู้สภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงเพื่อละคลายกิเลส ไม่ใช่เพียงชั่วคราว แต่สามารถที่จะดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทด้วยการเจริญสติปัฏฐาน มีการเจริญปัญญาระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปจนกว่าจะละคลายกิเลสจนกระทั่งดับหมดสิ้นเป็นพระอริยบุคคลเป็นลำดับขั้นด้วย

ข้อความมีต่อไปว่า

เมื่อพระภิกษุนั้นเป็นพระโสดาบัน มีจิตสงัดจากสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับ สักกายทิฏฐิเป็นต้นนั้น

สำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคล จะต้องสงัดจากสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส และสงัดจากทิฏฐานุสัย ความเห็นผิดที่ยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน อย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดาน ไม่มีอีกต่อไปเลย

การที่จะหมดความสงสัยในลักษณะของนามของรูปได้ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปตามความเป็นจริง จะหมดความสงสัยได้ไหม ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานที่ท่านเป็นผู้ตรงต่อธรรม เป็นผู้ตรงต่อตนเอง ท่านทราบได้ทีเดียวว่า ท่านหมดความสงสัย หมดวิจิกิจฉานุสัยแล้วหรือยัง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ว่าท่านจะอยู่ในสถานที่ใด จิตไม่มีเชื้อของวิจิกิจฉานุสัย ไม่มีเชื้อของทิฏฐิ ความเห็นผิดที่เคยยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน ไม่มีการลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด

ถ้าท่านสามารถระลึกรู้ลักษณะของนามรูปตามความเป็นจริงได้ หมดความสงสัยในลักษณะของนามรูป หมดความเห็นผิดที่เคยยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน ไม่ว่าท่านจะอยู่ในสถานที่ใดก็ตาม ท่านจะเป็นผู้เจริญสติอย่างไหนถึงจะหมดความสงสัยได้ ก็ต้องไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน ท่านก็ต้องเจริญสติ ไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดนามและรูปด้วย

ข้อความต่อไปมีว่า

เป็นพระสกทาคามี มีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัยอย่างหยาบๆ และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับกามราคสังโยชน์เป็นต้นนั้น

เป็นพระอนาคามี มีจิตสงัดจากกามราคะสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัยอย่างละเอียดๆ และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับกามราคสังโยชน์เป็นต้นนั้น

เป็นพระอรหันต์ มีจิตสงัดจากรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย กิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับรูปราคะเป็นต้นนั้น และจากสังขารนิมิตทั้งปวงในภายนอก

นี้ชื่อว่า จิตวิเวก


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 122


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ