ความหมายของ ทุกข์ ท่านเข้าใจพยัญชนะนี้ถูกต้องหรือไม่
การรู้แจ้งอริยสัจธรรม อริยสัจที่ ๑ คือ ทุกขอริยสัจ และการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ก็จะต้องรู้ทุกข์ด้วย แต่ขอให้พิจารณาความหมายของทุกข์ว่า ท่านเข้าใจพยัญชนะนี้ถูกต้องหรือไม่
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ทุกขธัมมสูตร ท่านที่สนใจในทุกข์ก็คงจะได้ทราบความชัดเจนว่าทุกข์คืออะไร หรือว่าธรรมที่เป็นทุกข์นั้นคืออะไร ซึ่งมีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดภิกษุย่อมรู้ทั่วถึงเหตุเกิด และความดับสูญแห่งทุกขธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริง ก็ในกาลนั้นแลภิกษุนั้นเป็นผู้เห็นกาม เมื่อเธอเห็นกามแล้ว ความพอใจ ความเสน่หา ความหมกมุ่น ความเร่าร้อนเพราะกามในกามทั้งหลายไม่นอนเนื่องอยู่ด้วยอาการใด ก็ธรรมเป็นเครื่องประพฤติ และธรรมเป็นเครื่องอยู่ เป็นอันติดตามเธออยู่ด้วยอาการนั้น
ข้อความที่ว่า ในกาลใดภิกษุย่อมรู้ทั่วถึงเหตุเกิด และความดับสูญแห่งทุกขธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริง แสดงให้เห็นว่า ในพระไตรปิฎกไม่ได้ให้เว้น ไม่ได้ให้เลือกเจาะจงบรรพนั้นบรรพนี้เลย แต่ต้องเป็นผู้ที่รู้ทั่วถึง
ข้อความต่อไปมีว่า
อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌา และโทมนัส ไม่ครอบงำภิกษุผู้ประพฤติอยู่ด้วยอาการใด ธรรมเป็นเครื่องประพฤติ และธรรมเป็นเครื่องอยู่ เป็นอันติดตามเธออยู่ด้วยอาการนั้น
ต้องมีธรรมที่เป็นเครื่องประพฤติ และมีธรรมที่เป็นเครื่องอยู่เป็นปกติ อกุศลธรรมที่มีปัจจัยให้เกิดก็เกิด ไม่สามารถจะครอบงำได้ ถ้ามีธรรมที่เป็นเครื่องประพฤติ และมีธรรมที่เป็นเครื่องอยู่
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมรู้ทั่วถึงเหตุเกิดขึ้น และความดับสูญแห่งทุกขธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริงอย่างไร ภิกษุย่อมรู้ทั่วถึงเหตุเกิดขึ้น และความดับสูญ แห่งทุกขธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูปดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปดังนี้ ความดับสูญแห่งรูปดังนี้ เวทนาดังนี้ สัญญาดังนี้ สังขารทั้งหลายดังนี้ วิญญาณดังนี้
ข้อความต่อไปโดยนัยเดียวกัน
ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณดังนี้ ความดับสูญแห่งวิญญาณดังนี้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมรู้ทั่วถึงเหตุเกิดขึ้น และความดับสูญแห่งทุกข-ธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริงอย่างนี้แล
สภาพธรรมใดที่เป็นทุกขธรรม หมายความถึงสภาพที่เกิดและดับไป แต่ต้องมีธรรมเครื่องประพฤติ ต้องมีธรรมเครื่องอยู่ เพื่อให้มีการรู้ทั่วสภาพของทุกขธรรมทั้งปวงด้วย
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นเครื่องประพฤติ และธรรมเป็นเครื่องอยู่ เป็นอันติดตามภิกษุอย่างไรเล่า
อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌา และโทมนัส ย่อมไม่ครอบงำภิกษุผู้ประพฤติอยู่ด้วยอาการใด ธรรมเป็นเครื่องประพฤติ และธรรมเป็นเครื่องอยู่ เป็นอันติดตามภิกษุด้วยอาการนั้น
หมายความว่าไม่ใช่ให้เว้น เป็นปกติ เป็นธรรมเครื่องประพฤติ เป็นธรรมเครื่องอยู่ ย่อมติดตามภิกษุผู้ที่อกุศลธรรมไม่ครอบงำ
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุรุษพึงเข้าไปสู่ป่าที่มีหนามมาก ข้างหน้าบุรุษนั้นก็มีหนาม ข้างซ้ายก็มีหนาม ข้างขวาก็มีหนาม ข้างล่างก็มีหนาม ข้างบนก็มีหนาม บุรุษนั้นมีสติ ก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับข้างหลัง ด้วยคิดว่า หนามอย่าเบียดเบียนเรา แม้ฉันใด
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม คือ ปิยรูป และสาตรูปในโลกนี้เรากล่าวว่า เป็นหนามในวินัยแห่งพระอริยเจ้าฉันนั้น เหมือนกันแล
ตลอดหมด ข้างบน ข้างล่าง ข้างซ้าย ข้างขวา ข้างหน้า ข้างหลัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน มีปิยรูปสาตรูปที่จะเกิดขึ้นครอบงำได้ ถ้าไม่มีธรรมเครื่องประพฤติ ไม่มีธรรมเครื่องอยู่ ไม่ได้เว้นเลย
สำหรับปิยรูปสาตรูป หมายความถึงสภาพธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นที่ยินดี เป็นที่รักที่พอใจ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ผัสสะ เจตนา เวทนา สัญญา ตัณหา วิตก วิจาร คือ สภาพธรรมทั้งหลายเป็นที่รักเป็นที่พอใจทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อุปมาเหมือนกับหนามในวินัยของพระอริยเจ้า ซึ่งมีทั้งข้างบน ข้างล่าง ข้างซ้าย ข้างขวา ข้างหน้า ข้างหลัง ตลอดไปหมดทีเดียว
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่อยากให้หนามเบียดเบียน ไม่อยากให้อวิชชาครอบงำ ไม่อยากให้โทมนัส หรืออภิชฌาก็ตามเกิดขึ้นครอบงำ ผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่มีสติก้าวไป มีสติถอยกลับ คือ ไม่ว่าจะอยู่ในที่ใดก็ตามต้องมีธรรมเครื่องประพฤติ มีธรรมเครื่องอยู่ คือ การเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง
ข้อความต่อไปแสดงว่า ธรรมเครื่องอยู่ หรือว่าธรรมเครื่องประพฤตินั้น ได้แก่การสังวรทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั่นเอง อภิชฌาและโทมนัสจึงจะไม่ครอบงำ และสามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นทุกขธรรม คือ สภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับ
ทุกขธรรมนี้ไม่ใช่ให้ไปทรมาน หรือให้ไปทุกข์ แต่ทุกขธรรมมีปรากฏตลอดเวลา ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นทุกข์ทั้งสิ้น
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...