หนามในวินัยแห่งพระอริยเจ้า
ในคราวก่อนได้กล่าวถึง สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ทุกขธรรมสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่กล่าวถึงธรรมที่เป็นทุกข์ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุรุษพึงเข้าไปสู่ป่าที่มีหนามมาก ข้างหน้าบุรุษนั้นก็มีหนาม ช้างซ้ายก็มีหนาม ข้างขวาก็มีหนาม ข้างล่างก็มีหนาม ข้างบนก็มีหนาม บุรุษนั้นมีสติ ก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับข้างหลัง ด้วยคิดว่า หนามอย่าเบียดเบียนเรา แม้ฉันใด
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม คือ สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ๔ ประการ นี้เรากล่าวว่า เป็นหนามในวินัยแห่งพระอริยเจ้า ฉันนั้น เหมือนกัน
ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีหนามอยู่รอบ ทางเดียวก็คือ เป็นผู้มีสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งข้อความในทุกขธรรมสูตรนี้ได้กล่าวถึงเรื่องของการสังวรทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สังวรด้วยสติ ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง และในท้ายของสูตรนี้ก็ได้ทรงแสดงว่า
ภิกษุผู้ประพฤติเช่นนี้ ถึงแม้ว่าพระราชา ญาติ หรือว่ามิตรสหายจะเชื้อเชิญให้ลาสิกขาบท ก็ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
อุปมาเหมือนกับการทดแม่น้ำคงคา ซึ่งผู้ที่เจริญสติในเพศใด รู้แจ้งอริยสัจธรรมในเพศใดแล้ว ย่อมไม่หวนกลับ เพราะฉะนั้น การเจริญข้อประพฤติปฏิบัติ เจริญได้ทั้งฆราวาสและบรรพชิต ซึ่งการเจริญสติปัฏฐานเป็นการละกิเลสถึงอนุสัยกิเลส
เวลานี้ทุกท่านที่กำลังเป็นกุศลจิต ยังไม่หมดอนุสัยกิเลส ยังมีทิฏฐิ สักกายทิฏฐิ การเห็นผิด การยึดถือนามรูปที่กำลังปรากฏในขณะที่หลงลืมสติว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ที่กล่าวว่า ยังมีอนุสัยกิเลส ยังมีสักกายทิฏฐิ ยังยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน เพราะเหตุว่ายังไม่ใช่เป็นพระอริยบุคคล ต้องมีอนุสัยกิเลส แม้ในขณะที่กำลังเป็นกุศลจิต อนุสัยกิเลสก็ยังมีเชื้อที่ว่า เมื่อกุศลจิตนั้นดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้อกุศลจิตเกิดได้ แต่การเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นการละถึงอนุสัยกิเลส เป็นเรื่องที่สติจะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปตามปกติ ระลึกเนืองๆ บ่อยๆ ทีละอย่าง ทีละลักษณะแล้วแต่ว่าสติจะระลึกรู้นามใดรูปใด มากน้อยต่างกัน ก็เป็นสติที่ผู้เจริญสติจะรู้ขึ้นว่า การรู้ลักษณะของนามของรูปเพิ่มขึ้นบ้างแล้วหรือยัง ละเอียดขึ้นแล้วหรือยัง ซึ่งเป็นการละอนุสัย ไม่ใช่เป็นการไม่รู้
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติเป็นผู้ที่รู้สภาพธรรม ละความสงสัย ละความเห็นผิด ละการที่เคยยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์บุคคล ไม่ใช่ไม่รู้อะไร แม้แต่ว่ากำลังเห็น เจริญสติกับไม่เจริญสติต่างกันอย่างไรก็ไม่รู้ ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้นแล้วก็ไม่ใช่มรรคแน่
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...