สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ๔ ประการ

 
สารธรรม
วันที่  28 ก.ย. 2565
หมายเลข  44281
อ่าน  240

ขอกล่าวถึง อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต วิปัลลาสสูตร ซึ่งมีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ๑ ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ๑ ในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าเป็นตน ๑ ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ๑ สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ๔ ประการนี้แล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ๑ ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ๑ ในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าไม่ใช่ตน ๑ ในสิ่งที่ไม่งามว่าไม่งาม ๑ สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส ๔ ประการนี้แล

เหล่าสัตว์ผู้ถูกมิจฉาทิฏฐิกำจัด มีจิตฟุ้งซ่าน มีความสำคัญผิด มีความสำคัญในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง สำคัญในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข สำคัญในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าเป็นตน และสำคัญในสิ่งที่ไม่งามว่างาม

สัตว์ คือ ชนเหล่านั้น ชื่อว่าประกอบแล้วในเครื่องประกอบของมาร ไม่เป็นผู้เกษมจากโยคะ มีปกติไปสู่ชาติและมรณะ ย่อมไปสู่สังสาระ ก็ในกาลใดพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้กระทำแสงสว่างบังเกิดขึ้นในโลก พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ย่อมประกาศธรรมนี้เป็นเครื่องให้สัตว์ถึงความสงบทุกข์

ชนเหล่านั้นผู้มีปัญญา ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นแล้ว ได้จิตของตน ได้เห็นสิ่งไม่เที่ยงโดยความเป็นของไม่เที่ยง ได้เห็นทุกข์โดยความเป็นทุกข์ ได้เห็นในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าไม่ใช่ตน ได้เห็นสิ่งที่ไม่งามโดยความเป็นของไม่งาม สมาทานสัมมาทิฏฐิ จึงล่วงทุกข์ทั้งปวงได้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 124


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ