อะไรเล่าเป็นเครื่องฉาบทาโลก

 
สารธรรม
วันที่  28 ก.ย. 2565
หมายเลข  44298
อ่าน  356

เพื่อที่จะให้ผู้ที่ยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของโลภะหรือตัณหาได้ทราบว่า โลภะหรือตัณหานั้นมีเป็นประจำ ถ้าท่านระลึกเมื่อไรก็สามารถที่จะรู้ว่าขณะนั้น ลักษณะนั้น เป็นสภาพของตัณหา เป็นสภาพของโลภะ ซึ่งถ้าท่านรู้เพียงพยัญชนะเดียว ท่านก็อาจจะไม่ทราบว่า ในขณะอื่นนั้นก็เป็นลักษณะของโลภะด้วย

ขุททกนิกาย จุฬนิทเทส อชิตมาณวกปัญหานิทเทส พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านอชิตะซึ่งทูลถามว่า

อะไรเล่าเป็นเครื่องฉาบทาโลก

เครื่องฉาบทาโลกนี้ หมายความว่าทำให้ไม่เห็นโลก คือ นามรูปตามความเป็นจริง นามรูปก็เป็นแต่เพียงนาม เป็นแต่เพียงรูป มีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่เพราะว่ามีเครื่องฉาบทาไว้จึงทำให้ไม่ประจักษ์ลักษณะของโลก คือ นามรูปตามความเป็นจริง

ผู้ที่ต้องการจะประจักษ์ลักษณะของโลกตามความเป็นจริง คือ ท่านอชิตะก็ได้ไปกราบทูลถามว่า

อะไรเล่าเป็นเครื่องฉาบทาโลก

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

เรากล่าวว่า ตัณหาเป็นเครื่องฉาบทาโลก ความว่า ตัณหาเรียกว่า ชัปปา ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ความยินดี ความพลอยยินดี ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยความเพลิดเพลิน ความกำหนัดนักแห่งจิต ความปรารถนา ความหลง ความติดใจ ความอยาก ความพัวพัน ความข้อง ความจม คือ ไม่สามารถที่จะถอนขึ้นจากความพอใจนั้นได้เลย ความหวั่นไหว

เวลาที่หวั่นไหว มีความพอใจอย่างหนึ่งอย่างใด ก็อาจจะกลัวว่าจะไม่ได้สิ่งนั้น ก็ทำให้จิตใจหวั่นไหวไป

ความลวง ได้แก่ การหลอกทั้งตัวเองและคนอื่นด้วย

อย่างบางคนอยากจะได้ญาณเสียเหลือเกิน อะไรๆ ก็ได้เป็นญาณแล้ว หลอกตัวเอง และยังจะไปหลอกคนอื่นอีกว่า คนอื่นได้เหมือนกันแล้ว มีความรู้สึกอย่างเดียวกัน หรืออะไรๆ อย่างนั้น เป็นญาณนั้นญาณนี้

ความอยากต่างๆ ทำให้ถึงกับหลอกตัวเองได้ และยังหลอกคนอื่นก็ได้ นี่เพราะอะไร ถ้าไม่ใช่เพราะความอยาก แต่การเจริญสติปัฏฐานละความไม่จริง ละความคด ไม่ใช่ว่าท่านปรารถนาเสียจนกระทั่งว่าอะไรๆ ก็เป็นญาณทั้งนั้น

ลักษณะของตัณหาอีกหลายประการมีว่า

ธรรมชาติอันให้สัตว์เกิด ธรรมชาติอันให้สัตว์เกิดกับทุกข์

ถ้าบอกว่า ธรรมชาติอันให้สัตว์เกิด ก็ยังรู้สึกว่าไม่เป็นไร ยังชอบจะเกิด อยากจะเกิด พยัญชนะต่อไปก็ใช้คำที่ถ้าเป็นภาษาทางโลกก็อาจจะว่า ข่มขู่ไว้ทีเดียวว่า ธรรมชาติอันให้สัตว์เกิดกับทุกข์

ธรรมชาติอันเย็บไว้ ธรรมชาติเพียงดังข่าย ธรรมชาติอันไหลไป ธรรมชาติอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ความเป็นผู้หลับ

ถ้าขณะใดที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่มีโอกาสที่จะตื่นรู้จักโลก คือ นามรูปตามความเป็นจริง ก็จะต้องถูกตัณหาฉาบทาให้ซ่านไป ให้ไหลไปอยู่เรื่อยๆ

ความกว้างขวาง ธรรมชาติอันให้อายุเสื่อม

เกิดแล้วก็ต้องตาย เกิดแล้วก็ต้องตายไม่มีที่สิ้นสุด

ความเป็นเพื่อน

ลักษณะของตัณหา คือ ความเป็นเพื่อนให้ทนอยู่ได้ต่อไปในวัฏฏะ ถ้าไม่มีเพื่อนจะทนไหวไหม ถ้าไม่มีตัณหาจะอยู่ต่อไปในวัฏฏะไหวไหม มีแต่นามรูปที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลทั้งนั้น แต่เพราะเหตุว่าตัณหานี้เหมือนกับเพื่อนสนิท ทำให้พอใจในสิ่งนั้น ทำให้พอใจเพลิดเพลินไปอยู่ได้เรื่อยๆ ตัณหานี้ก็เป็นเพื่อน คือ ให้ทนอยู่ต่อไปได้ในวัฏฏะ

ความตั้งใจไว้

ถ้าขณะใดที่ท่านเกิดความตั้งใจที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด นั่นก็เป็นลักษณะของตัณหาอย่างหนึ่ง

เพราะฉะนั้น การที่จะระลึกรู้ลักษณะของโลภะ ของตัณหา ก็จะมีลักษณะเป็นปกติประจำวันที่สามารถจะระลึกได้ แม้แต่ในขณะใดที่มีความตั้งใจ สติก็สามารถที่จะระลึกรู้ในขณะนั้นได้ว่า เป็นสภาพลักษณะของโลภะหรือตัณหา

เป็นธรรมชาติอันนำไปสู่ภพ ธรรมชาติเพียงดังว่าป่า ธรรมชาติเพียงดังว่าหมู่ไม้ในป่า ความสนิทสนม ความมีเยื่อใย ความเพ่ง ความพัวพัน ความหวัง กิริยาที่หวัง ความเป็นผู้หวัง ความหวังในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ความหวังในลาภ ในทรัพย์ ในบุตร ในชีวิต


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 127


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ